พุ่ม สาคร

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นายพุ่ม สาคร)


พุ่ม สาคร
เกิดพ.ศ. 2426
ตลาดพลู เมืองธนบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 (64 ปี)
เมืองบอดมินห์ ประเทศอังกฤษ
อาชีพทหารบก
มีชื่อเสียงจากการปฏิวัติรัสเซีย

พันเอก พุ่ม สาคร หรือชื่อต่อมาว่า นิโคลัย พุ่มสกี้ (พ.ศ. 2426 – 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490) เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงคนแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเลือกให้เป็นผู้ตามเสด็จสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ไปศึกษาต่อวิชาการทหารโรงเรียนเสนาธิการที่จักรวรรดิรัสเซียในปี พ.ศ. 2441 ภายหลังได้รับสัญญาบัตรแล้วเข้าเป็นนายทหารม้าฮุสซาร์ของจักรพรรดิซาร์นิโคลาสที่ 2 จากนั้นได้ศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการ 2 ปี หลังจบการศึกษาแล้ว นายพุ่มตัดสินใจไม่กลับประเทศ โดยได้โอนสัญชาติเป็นรัสเซียและเข้ารีตศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ โดยมีศาสนนามว่า นิโคลัย (คือ นักบุญนิโคลัส) พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นนิโคลัย พุ่มสกี้ (Nikolai Pumsky) และเข้ารับราชการในกองทัพบกรัสเซียจนมียศเป็นพันเอก [1]

เมื่อรัสเซียมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2460 ได้เข้าร่วมกับนายทหารรัสเซียที่นิยมการปฏิวัติอยู่พักหนึ่ง แต่ได้หลบหนีออกจากประเทศรัสเซียไปประเทศฝรั่งเศส ทำงานเป็นเสมียนธนาคาร จนกระทั่งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ทรงชวนมาเป็นเลขานุการประจำตัวหม่อมคัทริน ถึงแก่กรรมที่บ้านเทรเดซี ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490[2]

ประวัติ

วัยเด็ก

พุ่มเกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2426 เป็นบุตรของนายซุ้ยกับนางชื่น (นางชื่นเป็นน้องสาวของจางวางสอน ภมรสมิต) ตาชื่อหลวงจำนงทวยหาญ (แย้ม) มีลูกพี่ลูกน้องชื่อ พระวารินพจนสาส์น (วาศ ภมรสมิต) และ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าพระราชทานนามสกุลว่า สาคร พุ่มเกิดและโตแถวคลองบางหลวง ตลาดพลู เป็นครอบครัวที่มีฐานะดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือ นางโต๊ะ (เป็นภรรยาพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) มีบุตรีชื่อ คุณอัญชันย์ บุนนาค) นางถนอม (เป็นภรรยาพระยาสุริยวงศ์) และนายพุ่มเป็นบุตรคนที่ 3 และนางผัน (เป็นภรรยานายกฤษณ์)[3]

บิดาได้ส่งพุ่มไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบสายอังกฤษ (ซึ่งยังไม่ได้ใช้ชื่อว่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (2454) และได้ใช้ตึกแม้นนฤมิตรของโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นสถานที่ศึกษา ซึ่งต่อมาเรียกว่า "โรงเรียนสวนกุหลาบตึกแม้นนฤมิตร" และต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น "โรงเรียนเทพศิรินทร์ตึกแม้นนฤมิตร" จนเป็นโรงเรียนเทพศิรินทร์) ระหว่างเรียนนายพุ่มได้เคยบวชเป็นสามเณรที่วัดประยูรวงศาวาส นายพุ่มเป็นคนที่เรียนเก่ง และก็คงจะเป็นผู้มีบุคลิกดี ตลอดจนมีกิริยามารยาท การพูดจาปราศรัยดี กล้าหาญ จึงได้รับเลือกจากกรรมการคัดเลือก บุตรข้าราชการนักเรียนดีเด่นในสมัยนั้น

ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อปี 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริว่าจะนำนักเรียนไทยไปศึกษาในประเทศต่าง ๆ โดยคัดนักเรียนไทยตามเสด็จ 19 คน เป็นพระราชวงศ์ 5 พระองค์ อีก 13 คนเป็นลูกหลานขุนนาง โดยมี 1 คนที่คัดจากผู้เรียนดีเด่นที่คัดจาก 10 คน โดยมีพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซ็นต์เยมส์แห่งอังกฤษ เป็นผู้คัดเลือก ขั้นตอนคัดเลือก ท่านทูตใช้วิธีเรียกตัวมาพิจารณาคนละ 4 วัน โดยท่านทูตพิจารณาเอง 2 วัน แล้วส่งไปให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงพิจารณาอีก 2 วัน โดยมีพันโท ซี.วี.ฮยูม และ ดร. เอ็ม.เอฟ.ยาร์ พระอภิบาลและแพทย์ประจำพระองค์ของเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธถวายคำปรึกษาแก่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ด้วย หลังการพิจารณา ท่านทูตได้มีจดหมายกราบบังคมทูลไปยังพระเจ้าอยู่หัว ความว่า

“นายพุ่ม เป็นคนไม่ใช่บุตรผู้มีตระกูล แต่เกิดมาเป็นช้างเผือก กิริยาวาจาเป็นที่ชอบของคนทั้งหลาย ฉลาดในการเล่าเรียน อายุ 15 ปี ทูลกระหม่อมเล็กเลือกเป็นที่หนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าก็ชอบ และได้กราบทูลไว้แล้วครั้งหนึ่งที่เนเปิลว่าหลักแหลมมาก”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบท่านทูตว่า

“...นายพุ่มเป็นคนไม่มีตระกูลแต่เป็นคนฉลาดเฉียบแหลมอยู่ ก็คงจะได้ราชการดีในภายหน้า และบางทีจะได้ติดตัวลูกทำการร่วมหน้าที่กันต่อไป ข้อสำคัญก็เพียงแต่ให้เป็นที่พึงพอใจกันกับลูกชายเล็กได้จริง ๆ...”[4]

ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง ศึกษาต่อที่รัสเซีย

สมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงษภูวนารถและนายพุ่ม เมื่อเข้าประจำโรงเรียนเสนาธิการ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ จักรวรรดิรัสเซีย ตามคำกราบบังคมทูลของ จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย แห่งรัสเซีย ซึ่งในขณะนั้นยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ของ ประเทศรัสเซีย พระองค์ ได้เสด็จมาเยี่ยมประเทศไทย ขอให้ส่ง พระราชโอรสไปทรงศึกษา เล่าเรียน ที่ประเทศรัสเซียบ้าง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไปตามนั้น และ ยังได้ทรงขอร้องต่อพระเจ้าซาร์นิโคลาส ขอให้ได้ให้เกียรติ นายพุ่ม สาคร ให้ได้รับความเป็นอยู่ ศึกษา เล่าเรียนทุกอย่างให้เหมือนกับ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ เพื่อให้ นายพุ่ม สาคร เป็นเพื่อนเรียน และ มิตรแท้ ของ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ในต่างแดนและเพื่อให้เจ้าฟ้าพระองค์นี้ ทรงมีขัตติยมานะเพียรในการเรียนมากยิ่งขึ้น

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ไปส่ง สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ และนายพุ่ม สาคร โดยเรือพระที่นั่งจักรี (ลำเก่า) ถึงที่ประเทศสิงคโปร์ นายพุ่ม สาคร ได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2439 ไปถึงประเทศรัสเซีย ในปี พ.ศ. 2441 ซึ่งทางจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ได้จัดขบวนนายทหารและคณะมารับที่ชายแดนโดยหัวหน้าเป็นนายพลนายทหารองครักษ์ของพระเจ้าซาร์เลยทีเดียว จากนั้น ได้นำเสด็จไปประทับยังวังฤดูหนาวของพระเจ้าซาร์นิโคลาส ในสมัยนั้นจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 มีกองทัพทหารที่เกรียงไกรมาก อยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ตั้งแต่นั้น นายพุ่ม สาคร จึงเป็นเสมือนมิตรแท้ และเพื่อนตายของ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ

สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และ นายพุ่ม สาคร ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก ซึ่งเป็นสำนักศึกษาที่ใกล้ชิดกับ พระเจ้าซาร์นิโคลาสมากที่สุด ในการเรียนนี้จะต้องมีความมานะพยายามในการเล่าเรียน และ ฝึกอย่างหนัก เพราะจะต้องแข่งกับคนรัสเซียที่เป็นนักเรียนด้วยกันซึ่งเราเสียเปรียบด้านภาษาและความเคยชิน แต่เมื่อผลการเรียนออกมา ผลการสอบไล่ปี พ.ศ. 2443 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงสอบได้เป็นอันดับ 2 และนายพุ่ม สาคร ได้เป็นอันดับที่ 4 ทั้งๆ ที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯและนายพุ่ม มักจะต้องไปร่วมงานต่างๆ ของราชสำนักพระเจ้าซาร์นิโคลาส อยู่เสมอ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และ นายพุ่ม จะต้องไปถวายปฏิบัติ กับพระราชมารดาของ จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 และจักรพรรดินีอะเลคซันดรา ฟอโดรอฟนา แห่งรัสเซียด้วย ผลการสอบครั้งสุดท้ายก่อนจะจบจากโรงเรียน สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ สอบได้เป็นที่1 และ นายพุ่ม สาคร สอบได้เป็นที่ 2 และ ได้รับการบรรจุเข้าเป็น นายร้อยตรีแห่งกรมทหารม้าฮุสซาร์

นายร้อยตรีพุ่ม สาคร ได้ตามเสด็จ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กลับมาที่เมืองไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2446 และได้เข้าประจำการกรมทหารม้ารักษาพระองค์กรุงเทพฯ ได้รับยศ ร้อยตรีทหารม้า

จากนั้น ร.ต.พุ่ม สาคร ได้ตามเสด็จ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กลับไปศึกษาที่จักรวรรดิรัสเซียอีกครั้งเพื่อเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการชั้นสูง และ สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2448 ร.ต.พุ่ม สาคร ได้เข้าประจำการใน กรมทหารม้าฮุสซาร์ อีกครั้งหนึ่ง และ ได้รับยศ พันเอก เป็น พันเอก พุ่ม สาคร แห่งกรมทหารม้าฮุสซาร์ ที่เป็นที่หนึ่ง และ โด่งดังในด้านการรบ

ในครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 พันเอกพุ่ม สาคร ในฐานะนายทหารรัสเซีย ได้ออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารสัมพันธมิตร ในสงคราม โลกครั้งที่1 ร่วมกับกองทัพเยอรมันจนได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนั้น

พันเอกพุ่ม สาคร ได้เริ่มเหินห่างจากสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ทรงเข้าพิธีสมรสกับ หม่อมคัทริน เคสนิคสกี้ และแยกทางกับ พ.อ.พุ่ม สาคร เพื่อเสด็จกลับประเทศไทย ซึ่งพ.อ.พุ่ม สาคร จะขออยู่ต่อเพื่อศึกษาภาษาฝรั่งเศส ในการนี้ทางกระทรวงกลาโหมของไทยไม่ยอม จึงเกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรงจนทางกระทรวงกลาโหมได้สั่งให้ขังบริเวณ พ.อ.พุ่ม สาคร ในสถานทูตไทย กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งการที่พ.อ.พุ่ม สาคร โดนขังในครั้งนี้ ได้ก่อความเคียดแค้นให้แก่ นายทหารฮุสซาร์เป็นอย่างมาก เพราะถือว่า เป็นการทำให้กรมทหารม้า นี้เสียเกียรติ จึงได้ลักพาตัว พ.อ.พุ่ม สาคร ออกจากสถานทูต จึงทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น ถึงกับ พ.อ.พุ่ม สาคร ได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นรัสเซีย ซึ่งเป็นเหตุทำให้ พ.อ.พุ่ม สาคร ไม่กลับประเทศไทยได้อีก

ปฏิวัติในรัสเซีย

ประเทศรัสเซียได้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2460 ซึ่งนำทางไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์ นายทหารรัสเซียถูกปลดออกจากประจำการจำนวนมาก และได้ยอมให้ทหารชั้นผู้น้อยเลือกผู้บังคับบัญชาเอง พันเอกพุ่มสกี้ (ได้โอนสัญชาติรัสเซียแล้ว) ได้รับ การคัดเลือกจากนายทหารชั้นผู้น้อย ให้เป็นผู้บังคับบัญชาต่อไป แต่เนื่องจากความซื่อสัตย์และจงรักภักดีของ พ.อ.พุ่มสกี้ ที่มีต่อพระเจ้าซาร์นิโคลาสเป็นอันมากจึงไม่ยอมรับตำแหน่งหน้าที่นี้ และถือโอกาสหนีออกจากประเทศรัสเซียไปที่ประเทศฝรั่งเศส มาเป็น นายพุ่ม สกี้ มาทำงานเป็นเสมียน และ ต่อมาได้พำนักกับ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ และได้รับมอบหมายให้เป็นเลขานุการของหม่อมคัทริน เคสนิคสกี้

บั้นปลายชีวิต

นายพุ่ม สาคร กลับประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากไปถึง 33 ปี

นายพุ่มสกี้ ได้กลับเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ทรงเสนอเรื่องขอเปลี่ยนสัญชาติให้ นายพุ่มสกี้ กลับมาเป็นคนไทยอีกครั้งหนึ่งเป็น นายพุ่ม สาคร การจากเมืองไทยไปถึง 33 ปี ทำให้นายพุ่ม สาคร ตื่นตาตื่นใจเป็นอันมากที่ ได้กลับมาเห็น บ้านเกิดเมืองนอนของตนอีก การกลับมาในครั้งนั้น ก็เป็นที่กล่าวขวัญของคนไทยมาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เชิญ และ ขอร้องนายพุ่ม สาคร ให้เป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ให้ยศพันโททหารประจำกองทัพไทย แต่ว่านายพุ่ม สาคร ตอบปฏิเสธ ต่อมาจึงได้เดินทางกลับประเทศอังกฤษ พร้อมกับการเสด็จกลับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ไปพำนักอยู่ที่บ้านพักเทรเดซี่ของ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองบอดมินห์ ประเทศอังกฤษ

นายพุ่มถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เมื่ออายุ 70 ปี ด้วยอาการหัวใจวาย ขณะที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เสด็จไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ศพของนายพุ่ม สาคร ยังคงฝังอยู่ ณ สุสานใกล้บ้าน ของ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

อ้างอิง

  1. สยามสโกเย ปาโซลสตวา ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เก็บถาวร 2007-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย วัฒนะ คุ้นวงศ์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก
  2. เกิดวังปารุสก์ ประพันธ์โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ สำนักพิมพ์ River Books ,ISBN 974-8225-22-4
  3. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 272
  4. ""นายพุ่ม บุตรนายซุ้ย" ชาวตลาดพลู ไปเป็น ผบ.ทหารม้าฮุสซาร์ที่โด่งดังของโลก!!!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-06. สืบค้นเมื่อ 2016-10-14.

บรรณานุกรม

  • หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์และไอลีน ฮันเตอร์, แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, 2551