ข้ามไปเนื้อหา

พระคริสตราชาแห่งดิลี

พิกัด: 8°31′14″S 125°36′30″E / 8.520527°S 125.608322°E / -8.520527; 125.608322
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระคริสตราชาแห่งดิลี
พระคริสตราชา มองจากแหลมฟาตูกามา
แผนที่
พิกัด8°31′14″S 125°36′30″E / 8.520527°S 125.608322°E / -8.520527; 125.608322
ที่ตั้งแหลมฟาตูกามา ดิลี ประเทศติมอร์-เลสเต
ผู้ออกแบบโมคามัด ไชลิลละฮ์
ประเภทรูปปั้น
วัสดุทองแดง
ความสูง27 เมตร (89 ฟุต)
วันที่อุทิศ15 ตุลาคม 1996
อุทิศแด่พระคริสตราชา

พระคริสตราชาแห่งดิลี (โปรตุเกส: Cristo Rei de Díli; เตตุน: Cristo Rei Dili) เป็นรูปปั้นมหึมา ความสูง 27.0 เมตร (88.6 ฟุต) รูปพระเยซูในฐานะพระคริสตราชาประทับบนลูกโลก ตั้งอยู่ที่แหลมฟาตูกามา ดิลี ประเทศติมอร์-เลสเต ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ

รูปปั้นเป็นผลงานออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยโมคามัด ไชลิลละฮ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "โบลิล" ซูฮาร์โต ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เดินทางมาประกอบพิธีเปิดรูปปั้นในปี 1996 รูปปั้นนี้เป็นของขวัญที่รัฐบาลอินโดนีเซียมอบให้แก่ติมอร์ตะวันออกซึ่งในเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย

ที่ตั้ง

[แก้]

รูปปั้นตั้งอยู่บนยอดเขาบนปลายของแหลมฟาตูกามา[1][2][3] รูปปั้นเข้าถึงได้ทางรถผ่านทางที่จอดรถจากหาดพระคริสตราชา ทางใต้ของแหลม ภายในอ่าวดิลี ผ่านทางบันไดคอนกรีต 570 ขั้นที่มีร่มเงาต้นไม้ตลอดทาง[4][5][6][7]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

การก่อสร้าง

[แก้]

ฌูแซ อาบีลียู อูซอรียู ซูวารึช ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้ว่าการจังหวัดติมอร์ตะวันออก ได้เสนอแนวคิดการก่อสร้างรูปปั้นพระคริสตราชาต่อประธานาธิบดีซูฮาร์โต โดยตั้งใจจะให้เป็นของขวัญจากรัฐบาลอินโดนีเซียแก่ติมอร์ตะวันออกเนื่องในวาระครบรอบ 20 ปีของการผนวกติมอร์ตะวันออกเข้ากับอินโดนีเซียซึ่งจะตรงกับวันที่ 17 กรกฎาคม 1996[8]

ซูฮาร์โตได้มอบหมายให้การูดาอินโดนีเซีย สายการบินประจำชาติ เป็นผู้นำในการดูแลโครงการนี้ และมีภาระรับผิดชอบในการจัดสรรเงินทุนสำหรับโครงการ การูดาอินโดนีเซียสามารถระดมทุนได้ถึง 1.1 พันล้านรูปียะฮ์ (US$123,000) แต่ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างรูปปั้น จึงมีการระดมทุนจากข้าราชการและนักธุรกิจชาวติมอร์ตะวันออกจนเพียงพอต่อโครงการซึ่งท้ายที่สุดใช้งบประมาณไปมากกว่า 5 พันล้านรูปียะฮ์ (US$559,000)[8]

สำหรับงานออกแบบสร้าง การูดาอินโดนีเซียได้ติดต่อให้โมคามัด ไชลิลละฮ์ (หรือที่รู้จักในชื่อ "โบลิล") จากบันดุง เป็นผู้ออกแบบสร้าง เขาเดินทางไปยังติมอร์ตะวันออกและสำรวจพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้าง ที่ซึ่งเขาเห็นควรว่ามีภูมิประเทศเหมาะสมแก่การสร้างรูปปั้นขนาดสูงใหญ่ได้[8] หลังพิจารณาลมท้องถิ่นซึ่งพัดแรงกับภูมิประเทศแล้ว เขาได้เริ่มออกแบบและจัดทำต้นแบบของรูปปั้น แสดงพระเยซูคริสต์ทรงผ้าคลุม ในขณะที่ส่วนพระพักตร์ของพระเยซูนั้นออกแบบได้อย่างยากลำบาก เขาได้ปรึกษากับคณะกรรมการคริสตจักรในอินโดนีเซียสำนักงานใหญ่ที่จาการ์ตา จนท้ายที่สุดได้ตัดสินใจสร้างพระพักตร์อย่างกรีกและโรมัน และเน้นความเรียบง่าย[8]

การก่อสร้างส่วนลำตัวของรูปปั้นดำเนินไปในระยะเวลาเกือบปีเต็ม ด้วยคนงานกว่า 30 ชีวิตในซูการาจา บันดุง ท้ายที่สุด รูปปั้นแล้วเสร็จโดยประกอบด้วยชิ้นส่วนทองแดงรวม 27 ชิ้นที่แยกกัน ก่อนจะขนส่งไปยังดิลีผ่านทางเรือ แล้วประกอบขึ้นที่ดิลีโดยทีมงานจากบันดุง รูปปั้นตลอดจนลูกโลกด้านล่างและกางเขนความสูง 10 เมตร (33 ฟุต) ประกอบขึ้นแล้วเสร็จในระยะเวลาสามเดือน[8]

การเปิดตัว

[แก้]

ก่อนพิธีเปิดรูปปั้น ชานานา กุฌเมา ผู้นำกองกำลังติมอร์ตะวันออกที่ต่อต้านอินโดนีเซียซึ่งในเวลานั้นถูกคุมขังในเรือนจำที่จาการ์ตา ได้วิจารณ์รูปปั้นนี้อย่างหนักว่า:

"นี่เป็นโฆษณาชวนเชื่อที่จาการ์ตาใช้หลอกคนของตัวเองและประชาคมนานาชาติ ซูฮาร์โตไม่ว่าจะอยู่ในทำเนียบหรืออยู่ที่ไหนก็ยังเป็นผู้นำการเมืองอยู่ดี สิ่งที่บิชอป [โรมันคาทอลิก] [การ์ลุช ฟีลีปึ ชีเมนึช] แบลู ไม่เห็นด้วยเป็นการแทรกแซงทางการเมืองต่อคริสตจักร ผมไม่รู้หรอกว่าท่านบิชอปจะไปร่วมพิธีเปิดด้วยหรือไม่ หวังว่าจะไม่ เพราะ [หากบิชอปไปร่วมพิธีเปิด] อาจหมายความว่าศาสนจักรดิลีขึ้นกับจาการ์ตา ทั้ง ๆ ที่ [ควรจะ] ขึ้นกับวาติกันโดยตรง"[8]

พิธีเปิดรูปปั้นจัดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 1996 บิชอปแบลูและประธานาธิบดีซูฮาร์โตนั่งเฮลิคอปเตอร์ชมพิธีเปิดทางอากาศ[8] ไม่กี่วันก่อนหน้า คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ได้ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียอับอายด้วยการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1996 แก่บิชอปแบลูและฌูแซ รามุช-ออร์ตา "เพื่อเชิดชูคุณูปการอันเป็นการเสียสละอย่างต่อเนื่องแก่คนที่ถูกกดขี่แม้จะมีจำนวนน้อย"[9]: 159  บิชอปแบลูได้ให้ความเห็นสาธารณะเกี่ยวกับรูปปั้นไว้ว่า:

"จะก่อสร้างรูปปั้นพระเยซูเจ้าไปเพื่ออะไร หากผู้คนยังไม่ได้รับการดูแลดังที่พระองค์ทรงสอนเรา? มันน่าจะดีกว่าถ้าเราจะทำสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น แทนที่จะสร้างรูปปั้นต่าง ๆ"[9]: 159 [10][11]: 82 

ก่อนที่ติมอร์-เลสเตจะประกาศอิสรภาพเป็นรัฐเอกราชจากอินโดนีเซีย รูปปั้นนี้ได้รับรางวัลรูปปั้นที่สูงที่สุดในประเทศจากพิพิธภัณฑ์สถิติโลกอินโดนีเซีย[1][8] หลังจากที่ติมอร์-เลสเตได้รับเอกราชในปี 2002 รูปปั้นนี้ไม่ได้ถูกรื้อถอนลง แต่ได้รับการเก็บรักษาและเปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแทน[11]: 83, 84 

สัญลักษณ์

[แก้]

รูปปั้นรวมถึงลูกโลกและฐานมีความสูง 27 เมตร (89 ฟุต) สะท้อนถึงการผนวกติมอร์ตะวันออกเป็นจังหวัดที่ 27 ของอินโดนีเซีย[1][12][11]: 82  รูปปั้นและลูกโลกมีความสูง 34 เมตร (112 ฟุต) ซึ่งเป็นสองเท่าของจำนวน 17 สื่อถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 1976 ซึ่งเป็นวันที่อินโดนีเซียผนวกติมอร์ตะวันออก และวันที่ 17 สิงหาคม 1945 ซึ่งเป็นวันที่อินโดนีเซียประกาศเอกราชจากเนเธอร์แลนด์[9]: 159, 160 [11]: 82 

รูปปั้นยังเป็นสัญลักษณ์ของพระเยซูคริสต์ การทนทุกข์ทรมาน และความศรัทธาคาทอลิกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นติมอร์-เลสเต[11]: 85  แขนที่เปิดรับของรูปปั้นหันหน้าไปทางตะวันตก บ้างว่าน่าจะเป็นการสื่อถึงทิศของจาการ์ตา[2][11]: 83  ในขณะที่ศิลปินผู้สร้างระบุว่าเป็นการหันหน้าไปทิศของดิลีตามคำขอของผู้ว่าการจังหวัดติมอร์ตะวันออกในเวลานั้น[8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Patung Kristus Raja, Wisata Rohani Timor Leste" [Statue of Christ the King, Spiritual Tourism of East Timor] (ภาษาอินโดนีเซีย). Liputan6. 31 March 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 February 2012. สืบค้นเมื่อ 16 November 2017.{{cite web}}: CS1 maint: unfit URL (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 Cox, Christopher R. (5 May 2009). "Tourism in Timor?". Travel + Leisure. New York: Travel + Leisure Co. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 April 2020. สืบค้นเมื่อ 22 April 2022.
  3. "Cristo Rei". Tourism Timor-Leste (ภาษาอังกฤษ). 9 February 2020. สืบค้นเมื่อ 22 April 2022.
  4. "Lakad Pilipinas: EAST TIMOR | Climbing the Cristo Rei of Dili". Lakad Pilipinas. สืบค้นเมื่อ 30 March 2022.
  5. "Lakad Pilipinas: EAST TIMOR | The Beaches of Dili". Lakad Pilipinas. สืบค้นเมื่อ 18 March 2022.
  6. Gregory, David. "Hike to Cristo Rei of Dili". www.theoutbound.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 18 March 2022.
  7. Tan, Luna (27 July 2013). "Weekend with Jesus at the Beach, Cristo Rei, Dili, East Timor". Life to Reset (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 21 April 2022.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 8.8 Yunus, Ahmad (24 March 2008). "Di Balik Cristo Rei Timor Leste" [Behind Cristo Rei Timor Leste]. Aceh Feature (ภาษาอินโดนีเซีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 December 2010. สืบค้นเมื่อ 8 March 2022.
  9. 9.0 9.1 9.2 Henick, Jonathan (August 2014). Nation Building in Timor-Leste: National Identity Contests and Crises (PDF) (PhD thesis). Honolulu: University of Hawaiʻi at Mānoa. OCLC 930543867.
  10. Gunn, Geoffrey C. (2000). "10. From Salazar to Suharto: Toponymy, Public Architecture, and Memory in the Making of Timor Identity". New World Hegemony in the Malay World. Lawrenceville, NJ, USA: Red Sea Press. p. 227–251, at 233. ISBN 1569021341.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 Arthur, Catherine E. (2019). Political Symbols and National Identity in Timor-Leste. Rethinking Peace and Conflict Studies series. Cham, Switzerland: Palgrave Macmillan. pp. 81–89. ISBN 9783319987811.
  12. East Timor. Lonely Planet. 2011. ISBN 1-74059-644-7.