ผู้ใช้:Energy1991

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการจัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2534 ด้วยนโยบายของมหาวิทยาลัยที่เน้นความสำคัญของงานวิจัยเทียบเท่าการเรียนการสอน ประกอบกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาพลังงาน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤติพลังงานโลก เมื่อปี พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2522 โดยเห็นว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและวางแผน ทางด้านพลังงานสำหรับประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการภารกิจด้านการวิจัยพลังงานเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการวิจัยและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยด้านพลังงานขึ้น ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งเป็น “ศูนย์วิจัยและอบรมพลังงาน” ขึ้นในปีพ.ศ. 2525 และได้ยกฐานะขึ้นเป็น “สถาบันวิจัยพลังงาน” ในปี พ.ศ. 2534[1]

กิจกรรมหลักที่สถาบันวิจัยพลังงานดำเนินการ ได้แก่ งานวิจัยเชิงนโยบายด้านพลังงานทั้งเทคโนโลยี พลังงานเชิงพาณิชย์และพลังงานทดแทนที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ รวมถึงงานบริการวิชาการด้านประสิทธิภาพพลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน โดยกิจกรรมส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานนานาชาติ รวมถึงพันธมิตรมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ[2]

ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยกับการเรียนการสอน สถาบันวิจัยพลังงานจึงมีส่วน ร่วมในการเรียนการสอนหลักสูตรสหสาขา 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรเทคโนโลยีและการจัดการพลังงาน (Energy Technology and Management, ETM)[3] และหลักสูตรสิ่งแวดล้อม การพัฒนา และความยั่งยืน (Environment, Development and Sustainability, EDS)[4] โดยสนับสนุนให้นักวิจัยนำผลงานวิจัยไปถ่ายทอดให้นิสิตในหลักสูตร ทั้งโดยการบรรยายและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์

นอกจากนี้สถาบันฯ ยังดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาและวิจัยเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด และการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับประเทศ สถาบันฯ ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก ERIN (Energy Research Institute Network)[5] ซึ่งเป็นเครือข่ายวิชาการภายใต้ East Asia Summit กิจกรรมและความ ร่วมมือดังกล่าว ส่งผลให้สถาบันวิจัยพลังงาน มีเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง ทั้งกับหน่วยงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ

วิสัยทัศน์และพันธกิจ[แก้]

วิสัยทัศน์[แก้]

สถาบันวิจัยพลังงานเป็นเสาหลักของแผ่นดินทางด้านพลังงาน เป็นแหล่งอ้างอิงทางด้านพลังงานในระดับภูมิภาค เพื่อเป็นกำลังหลักสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พันธกิจ[แก้]

สถาบันวิจัยพลังงานได้กำหนดพันธกิจการสนับสนุนการวิจัย การเรียนการสอน การบริการวิชาการ และ การพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศดังต่อไปนี้

  1. มุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาและรักษาความเป็นเลิศทางด้านนโยบายพลังงาน พลังงานทดแทน และ การอนุรักษ์พลังงาน
  2. พัฒนาศักยภาพเป็นแหล่งอ้างอิงทางด้านพลังงานในระดับภูมิภาค และนำองค์ความรู้ทางด้านพลังงานที่สั่งสมไว้ออกเผยแพร่สู่สังคมอย่างสม่ำเสมอ
  3. เป็นเสาหลักร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ข้อมูลที่ถูกต้องทันทีที่สังคมมีปัญหาทางด้านพลังงาน

ทำเนียบผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[แก้]

สำดับที่ รายชื่อผู้อำนวยการ วาระ วิสัยทัศน์ อ้างอิง
1 ศาสตราจารย์ ดร.จรวย  บุญยุบล (พ.ศ. 2534 – 2536) มุ่งเน้นการอบรมด้านพลังงาน ERI 1.0 [1]
2 รองศาสตราจารย์ ดร.กุลธร  ศิลปบรรเลง (พ.ศ. 2536 – 2543) มุ่งเน้นการตรวจวัดและอนุรักษ์พลังงาน ERI 2.0 [1]
3 รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา  ยงเจริญ (พ.ศ. 2543 – 2550) มุ่งเน้นการตรวจวัดและอนุรักษ์พลังงาน ERI 2.0 [1]
4 ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต  เอื้ออาภรณ์ (พ.ศ. 2550 – 2556) มุ่งเน้นการวิจัยด้านนโยบายพลังงาน ERI 3.0 [1]
5 ศาสตราจารย์ ดร.ธราพงษ์  วิทิตศานต์ (พ.ศ. 2556 – 2557) มุ่งเน้นการวิจัยด้านนโยบายพลังงาน ERI 3.0 [1]
6 รองศาสตราจารย์ ดร.ดาวัลย์ วิวรรธนะเดช (พ.ศ. 2558 – 2559) มุ่งเน้นการวิจัยด้านนโยบายพลังงาน ERI 3.0 [1]
7 รองศาสตราจารย์ ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี (พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน) มุ่งเน้นการเป็นแหล่งอ้างอิงของประเทศ ERI 4.0 [1]

งานวิจัยเด่นที่ผ่านมา[แก้]

ภาพอนาคตและแผนพัฒนาพลังงาน[แก้]

สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบทบาทหน้าที่ติดตามสถานการณ์พลังงาน และ ศึกษาวิจัยเพื่อฉายภาพอนาคตระยะยาวเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจ และพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละ ช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ความผันผวนของเศรษฐกิจ โลกและราคาพลังงาน ประเด็นด้านการเมือง รวมทั้งปัญหาโลกร้อนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การจำลองภาพอนาคตพลังงานเป็นหนึ่งในศาสตร์ ที่หลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน นักวิชาการทั้งหลายเล็งเห็นถึงความสำคัญ แม้ว่าการคาดการณ์อนาคตจะไม่มีใครสามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน หากแต่ถ้าสามารถวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยที่อาจส่งผลต่อเหตุการณ์อนาคต ความเชื่อมโยงของปัจจัยต่างๆ รวมถึง ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น ก็จะสามารถทำให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น เครื่องมือที่ใช้สำหรับการจัดทำภาพอนาคตพลังงานไทยคือแบบจำลองสมดุลพลังงาน (Energy accounting model) ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้รายสาขาและการจัดหาพลังงานทั้งระบบตลอดห่วงโซ่อุปทานของเชื้อเพลิงแต่ละประเภท ได้แก่ ปิโตรเลียม ไฟฟ้า ถ่านหิน และพลังงานทดแทน

พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกอื่นๆ[แก้]

สืบเนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทั้งภาคผลิตไฟฟ้าและขนส่ง และมีแนวโน้มต้องนำเข้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยขาดความมั่นคงด้านพลังงาน จึงจำเป็นต้อง มีการวิจัยพัฒนาพลังงานทดแทนที่สอดคล้องกับศักยภาพของไทย ซึ่งได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ โดยเฉพาะก๊าซชีวภาพและพลังงานจากขยะ ตลอดจนเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เชื้อเพลิงจากแหล่ง Unconventional Sources เช่น Oil Shale, Tar Sand, Shale Gas เป็นต้น งานวิจัยด้านพลังงานทดแทนของสถาบันวิจัยพลังงาน มุ่งเน้น การศึกษาวิเคราะห์ มาตรการ กลไก และ ระบบจัดการที่ทำให้เกิดการนำพลังงานทดแทนมาใช้มากขึ้น สถาบันวิจัยพลังงานได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ ทั้งให้คำปรึกษาและความเห็นเกี่ยวกับมาตรการการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น การกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ feed-in tariff และการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าเองใช้เองโดย ผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม

ประสิทธิภาพพลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน[แก้]

สถาบันวิจัยพลังงานได้สร้างกลุ่มบุคคลากรที่มีทักษะในการตรวจวัด และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าในอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับผลงานของสถาบันฯ ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและการอนุรักษ์พลังงานระดับประเทศ เริ่มต้นจากกิจกรรมฝึกอบรมองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การตรวจวัดการใช้พลังงาน การบริหารจัดการพลังงานเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและการนำไปใช้จริงในสถานประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการริเริ่มนำวิศวกรรมคุณค่า (Value Engineering) และการจัดการเชิงคุณค่า (Value Management) มาประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แทนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ซึ่งต้องลงทุนสูง การกระตุ้นบุคลากรในองค์กรให้เกิดสำนึกสาธารณะและเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมอนุรักษ์พลังงาน แทนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ อันส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจและนำไปสู่การอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืนไม่เพียงเฉพาะที่ทำงานแต่ยังสามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้กับครอบครัวและคนรอบข้างได้อีกด้วย

ทิศทางและงานวิจัยในปัจจุบัน[แก้]

เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าประสงค์การดำเนินงาน ตลอดจนสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ณ ปัจจุบัน สถาบันวิจัยพลังงานได้กำหนดให้มีหน่วยวิจัยหลัก 4 ด้าน ดังนี้

  1. หน่วยวิจัยแบบจำลองพลังงานและภาพอนาคต (Energy Modelling and Outlook) ทำการวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์สัดส่วนการใช้พลังงานของประเทศไทยและการใช้พลังงานของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนในระยะยาว และจัดทำภาพอนาคตการใช้พลังงานของประเทศภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสภาวะเศรษฐกิจของโลก
  2. หน่วยวิจัยนโยบายและเศรษฐศาสตร์พลังงาน (Energy Policy and Economics) ทำการวิจัยเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศทั้งนโยบายการผลิตไฟฟ้า นโยบายการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และวิเคราะห์กระทบทางเศรษฐศาสตร์ของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ
  3. หน่วยวิจัยพลังงานชีวภาพ (Bio-Energy) ทำการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทั้งในรูปแบบของแข็ง ของเหลว ก๊าซ และผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียมจากวัตถุดิบชีวภาพ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้มาใช้ในการกำหนดนโยบายการส่งเสริมพลังงานชีวภาพของประเทศไทย
  4. หน่วยวิจัยประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) ทำการวิจัยและให้บริการทางวิชาการเกี่ยวกับการตรวจวัดการใช้พลังงานในโรงงานและอาคารควบคุม เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้บริการตรวจวัดประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานปฐมภูมิ (Primary Energy Saving) ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Cogeneration)

ยุทธศาสตร์วิจัย ทิศทางวิจัยในอนาคต[แก้]

สถาบันวิจัยพลังงาน มีพันธกิจหลักในการวิจัย นำเสนอทิศทางและแนวทางในการแก้ปัญหาพลังงานของประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งความรู้และอ้างอิงด้านพลังงานของแผ่นดิน โดยมีเป้าประสงค์การดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังตารางต่อไปนี้

เป้าประสงค์ กลยุทธ์การดำเนินงาน
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้
  • เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านนโยบายพลังงาน พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงานชั้นนำของประเทศ
  • มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายทางด้านพลังงานของประเทศผ่านทาง กระทรวงพลังงาน คณะกรรมกำกับกิจการ พลังงาน และหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมที่ เกี่ยวข้อง
  • สร้างทีมงานนักวิจัยหลักของสถาบันที่เข้มแข็งและมีความเชี่ยวชาญทางด้านนโยบายพลังงาน พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน
  • ร่วมมือกับหน่วยงานในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับ ด้านพลังงาน เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์คณะ วิทยาศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น
  • กระตุ้นให้นักวิจัยตีพิมพ์บทความวิจัยอย่างน้อย 1 ฉบับ/คน/ปี
  • สร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : เป็นแหล่งอ้างอิงของสังคม
  • เป็นหน่วยงานเผยแพร่และนำเสนอความรู้ และข้อมูลทางด้านพลังงานสู่สังคมอย่างสม่ำ่เสมอ
  • เป็นแหล่งอ้างอิงฐานข้อมูลทางด้านพลังงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค
  • เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ข้อมูลที่ถูกต้องทันทีที่สังคมมีปัญหาพลังงาน
  • นำเสนอข้อมูล/ข่าวสารทางด้านพลังงานที่น่าสนใจผ่าน ทางเครือข่ายสังคมเป็นประจำ
  • นำเสนอผลการวิเคราะห์/ผลการศึกษาทางด้านพลังงานของสถาบันวิจัยพลังงาน ในรูปแบบบทความวิชาการ และเผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆเป็นประจำทุกไตรมาส
  • สร้างความร่วมมือทางด้านงานวิจัยและการจัดการ ฐานข้อมูลพลังงานกับเครือข่ายวิจัยทางด้านพลังงาน (Energy Research Institute Network) ในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
  • ทำงานร่วมกับหน่วยงานของมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างบุคลากรด้านพลังงาน
  • มีส่วนร่วมสร้างบุคลากรทางด้านพลังงานที่มีคุณภาพของประเทศ
  • ร่วมปรับปรุงหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางด้านเทคโนโลยีการจัดการพลังงาน (ETM) ให้มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ
  • สนับสนุนให้นักวิจัยของสถาบันวิจัยพลังงานเป็นผู้สอนในหลักสูตรบัณฑิตศึกษาที่เกี่ยวข้องกับทางด้านพลังงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สรุปทิศทางวิจัยที่สอดคล้องกับ Sustainable Development Goals (SDGs)[แก้]

ทิศทางวิจัยของสถาบันวิจัยพลังงานสอดคล้องกับ SDG7: Ensure access to affordable, reliable, and sustainable energy for all[6] โดยงานวิจัยระดับมหภาคด้านภาพอนาคตและแผนพัฒนาพลังงานนั้น สามารถพัฒนาภาพจำลองภาพอนาคตแบบต่างๆ ที่จะทำให้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมในกรณีที่มีการใช้พลังงาน ในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น กรณีที่มีการใช้พลังงานทดแทนมาแทนพลังงานฟอสซิลในสัดส่วนที่สูง เป็นต้น สำหรับงานวิจัยระดับจุลภาค ที่มีการวิเคราะห์มาตรการ กลไก และระบบจัดการสำหรับการส่งเสริมพลังงานทดแทนนั้น ก็ช่วยขับเคลื่อนสังคมให้สามารถใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นจนปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน ในภูมิภาคอาเซียน นอกจาก SDG7 แล้ว การส่งเสริมงานวิจัยด้านพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของ สถาบันวิจัยพลังงานก็มีความเกี่ยวข้องกับ SDG3 (Ensure healthy lives)[7], SDG8 (inclusive and sustainable economic growth)[8] และ SDG13 (Combat climate change)[9] เนื่องจากพลังงานทดแทนนั้น ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการจ้างงานอีกด้วย

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 "ERI". www.eri.chula.ac.th.
  2. "สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย". จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  3. www.etm.grad.chula.ac.th/
  4. "Environment, Development and Sustainability (EDS)". จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  5. "ERIA Energy Research Institutes Network - About Us : ERIA". www.eria.org.
  6. "Goal 7 | Department of Economic and Social Affairs". sdgs.un.org.
  7. "Goal 3 | Department of Economic and Social Affairs". sdgs.un.org.
  8. "Goal 8 | Department of Economic and Social Affairs". sdgs.un.org.
  9. "Goal 13 | Department of Economic and Social Affairs". sdgs.un.org.