ปลาไทเมน
ปลาไทเมน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Salmoniformes |
วงศ์: | Salmonidae |
สกุล: | Hucho |
สปีชีส์: | H. taimen |
ชื่อทวินาม | |
Hucho taimen (Pallas, 1773) | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
ปลาไทเมน หรือ ปลาไซบีเรียนไทเมน หรือ ปลาไซบีเรียนแซลมอน (อังกฤษ: Taimen, Siberian taimen, Siberian salmon; ชื่อวิทยาศาสตร์: Hucho taimen) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาแซลมอน (Salmonidae) พบในแม่น้ำวอลกาและแม่น้ำแปโชราในรัสเซีย นอกจากนี้แล้วยังพบในลุ่มแม่น้ำอามูร์, ระหว่างทะเลสาบแคสเปียนกับมหาสมุทรอาร์กติกในอนุทวีปยูเรเชีย และบางส่วนของมองโกเลีย
มีสีลำตัวแตกต่างหลากหลายออกไปตามแต่ละภูมิประเทศ แต่โดยทั่วไปลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลอมเขียวมะกอก หัวมีสีคล้ำกว่า ครีบและหางสีแดงเข้ม ส่วนท้องสีขาว ตามลำตัวมีรอยจุดสีคล้ำสำหรับพรางตัวซุ่มซ่อนตามธรรมชาติ ปากกว้าง ภายในปากมีฟันที่แหลมคมเหมือนเข็มที่งองุ้มเข้ามาด้านใน และแม้แต่ลิ้นก็มีส่วนประกอบที่แหลมคมคล้ายฟัน [2] ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวได้ถึง 210 เซนติเมตร และมีน้ำหนักถึง 105 กิโลกรัม เป็นสถิติที่พบในรัสเซีย เมื่อปี ค.ศ. 1988 ซึ่งจัดได้ว่าปลาไทเมนเป็นปลาแซลมอนชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ปลาไทเมนไม่ใช่ปลาสองน้ำเหมือนกับปลาแซลมอนชนิดอื่น ๆ เพราะวางไข่และเติบโตหากินอยู่เฉพาะในแหล่งน้ำจืดอย่างเดียวเท่านั้น
ปลาไทเมนจัดเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมของนักตกปลาอีกด้วย ด้วยความที่เป็นปลาขนาดใหญ่และอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเชี่ยวและเย็น จึงนิยมตกกันแบบฟลายฟิชชิ่ง ซึ่งต้องตกกันก่อนถึงฤดูหนาวที่น้ำจะกลายเป็นน้ำแข็ง ปลาไทเมนเป็นปลาที่ดุร้ายก้าวร้าว เคยกัดทำร้ายคนตกจนเลือดอาบได้รับบาดเจ็บที่ต้นแขนมาแล้ว[2]
มักอาศัยอยู่ในกระแสน้ำเชี่ยว โดยหลบซ่อนตัวอยู่หลังก้อนหินเพื่อรอเหยื่อให้ผ่านมาและจับกินเป็นอาหาร ซึ่งปลาไทเมนสามารถจับปลาแซลมอนหรือปลาเทราต์ซึ่งเป็นปลาจำพวกเดียวกันกินได้ นอกจากนี้แล้วยังสามารถกินงูพิษได้อีกด้วย[2]
ชาวมองโกลจะนับถือปลาไทเมนว่าเป็นนักล่าในสายน้ำ เพราะปลาไทเมนเป็นปลานักล่าขนาดใหญ่เพียงชนิดเดียวของมองโกเลีย จนได้รับฉายาว่า "หมาป่าแม่น้ำ" (มองโกล: голын чоно)[2] สำหรับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก เรียกปลาไทเมนว่า "มองโกเลียนเทอร์เรอร์เทราต์" (อังกฤษ: Mongolian Terror Trout)
แต่สำหรับชาวจีนแล้ว จะเรียกปลาชนิดนี้เล่น ๆ ว่า "ปลาปีศาจ" หรือ "ปลาแดงยักษ์" (จีน: 大红鱼; พินอิน: Dàhóng yú) โดยเชื่อว่า โตเต็มที่ได้ถึง 10-15 เมตร และหนักถึง 4 ตัน ซึ่งในความเชื่อนี้กลายเป็นนิทานพื้นบ้านของจีนและมองโกเลียเกี่ยวกับเรื่องราวของปลาไทเมน โดยเล่าว่าอาศัยอยู่ในแม่น้ำที่เป็นน้ำแข็ง และอาศัยอยู่ในทะเลสาบคานาส ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งเป็นที่ ๆ เชื่อว่ามีสัตว์ประหลาดอาศัยอยู่เช่นเดียวกับทะเลสาบเนสส์ของสกอตแลนด์ โดยปลาไทเมนตัวนี้มีน้ำหนักถึง 3,000 ปอนด์ และมีสีแดงก่ำ[3]
ปลาไทเมน มีอายุยืนได้มากถึง 50 ปี แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ มีจำนวนประชากรปลาไทเมนที่ลดลงไปถึงร้อยละ 95 จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสาเหตุหลักจากมลพิษ[4]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 จาก IUCN
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Mongolian Mauler, "River Monsters". สารคดีทางแอนนิมอลแพลนเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: อาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม 2557
- ↑ จดหมายจากซินเกียง : สวรรค์นาม 'คานาส' (จบ)[ลิงก์เสีย]จากผู้จัดการออนไลน์
- ↑ Untold Stories, "River Monsters". สารคดีทางดิสคัฟเวอรี่แชนแนล ทางทรูวิชั่นส์: จันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Hucho taimen ที่วิกิสปีชีส์