ข้ามไปเนื้อหา

ปลาอะโรวานาออสเตรเลียจุด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาอะโรวานาออสเตรเลียจุด
ปลาวัยโต
ปลาวัยเล็ก
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
Actinopterygii
อันดับ: อันดับปลาลิ้นกระดูก
Osteoglossiformes
วงศ์: วงศ์ปลาตะพัด
Osteoglossidae
สกุล: ปลาอะโรวาน่าเอเชีย
Scleropages
(Günther, 1864)
สปีชีส์: Scleropages leichardti
ชื่อทวินาม
Scleropages leichardti
(Günther, 1864)

ปลาอะโรวาน่าออสเตรเลียจุด หรือ ปลาตะพัดออสเตรเลียจุด (อังกฤษ: Spotted arowana, Dawson river salmon; ชื่อวิทยาศาสตร์: Scleropages leichardti) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาตะพัด (Osteoglossidae) มีรูปร่างใกล้เคียงปลาตะพัด (S. formosus) ที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด แต่มีเกล็ดขนาดเล็กกว่า ลักษณะลำตัวยาวเรียวกว่าปลาตะพัดชนิดอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด บริเวณสันหลังตรง ลำตัวบริเวณด้านหลังและด้านข้างลำตัวเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมเขียว หรือเหลืองอมเขียว บริเวณส่วนท้องสีจางกว่าลำตัว มีเกล็ดตามเส้นข้างตัว 35 เกล็ด มีจุดสีส้มอมแดงหรือชมพู สะท้อนแสงบนเกล็ดแต่ละเกล็ดจำนวน 1-2 จุด ยิ่งโดยเฉพาะในปลาที่โตเต็มที่จะเห็นได้ชัดเจน อันเป็นที่มาของชื่อ ครีบมีขนาดเล็กกว่าปลาตะพัด ครีบหลังและครีบก้นสีส้ม ขอบครีบทั้งสองมีแถบสีน้ำตาลดำ ครีบก้นยาวกว่าครีบหลังเล็กน้อยมีก้านครีบ 31 ก้าน ครีบหลังมีก้านครีบ 20 ก้าน หัวมีลักษณะกลมป้านและสั้นกว่าปลาตะพัด หนวดทั้งคู่ม้วนงอเข้าหาหัว ปลาในวัยเล็กไม่มีจุดสีแดงดังกล่าวและมีสีลำตัวออกเงินแวววาว

โตเต็มที่ประมาณ 90 เซนติเมตร พบในภาคตะวันออกและเหนือของประเทศออสเตรเลีย บริเวณรัฐควีนส์แลนด์และนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี นอกจากนี้ยังพบในประเทศอินโดนีเซียบริเวณอิเรียนจายาและเกาะนิวกินี ด้วย โดยชื่อวิทยาศาสตร์ leichardti ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ลูดวิก ลิชฮาร์ท นักสำรวจธรรมชาติชาวปรัสเซีย ที่ค้นพบปลาชนิดนี้ โดยสถานที่ค้นพบครั้งแรก คือ แม่น้ำเบอดีกิน[1]

ปัจจุบันมีสถานภาพเป็นปลาที่ขึ้นบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เป็นปลาที่พบได้ยากในธรรมชาติ แต่สามารถเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้แล้ว นิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงาม แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก จึงจัดเป็นปลาหายากในแวดวงปลาตู้ ทำให้มีราคาซื้อขายค่อนข้างสูง ซึ่งปลาตะพัดชนิดนี้มีนิสัยขี้ตกใจมากที่สุดในบรรดาปลาตะพัดทั้งหมด

มีชื่อเรียกในภาษาพื้นถิ่นว่า บารามุนดี (Barramundi) หรือ ซาราโตก้า (Saratoga)

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Pusey, Brad; Kennard, Mark J.; Arthington, Angela H. "Freshwater Fishes of North-eastern Australia" (PDF) (1): 60. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]