ปลามีดโกน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลามีดโกน
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ยุคต้นไมโอซีน-ปัจจุบัน, 60–0Ma [1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Syngnathiformes
วงศ์: Centriscidae
สกุล: Aeoliscus
สปีชีส์: A.  strigatus
ชื่อทวินาม
Aeoliscus strigatus
(Günther, 1861)
ชื่อพ้อง[2]
  • Centriscus strigatus (Günther, 1861)

ปลามีดโกน หรือ ปลาใบมีดโกน หรือ ปลาข้างใส (อังกฤษ: Razorfish, Shrimpfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Aeoliscus strigatus) ปลาทะเลชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาใบมีดโกน (Centriscidae)

มีรูปร่างเหมือนใบมีดโกน จะงอยปากยาวมากและงอนขึ้นเล็กน้อย ท้องบาง ผิวเป็นแผ่นกระดูกบาง ด้านท้ายยื่นแหลม ครีบหลัง, ครีบหาง และครีบก้นอยู่ชิดกัน ลำตัวใสเป็นสีชมพูหรือสีเนื้อเหลือบ มีแถบสีดำพาดจากปลายปากจนถึงส่วนท้ายลำตัว

มีความยาวโดยเฉลี่ย 10 เซนติเมตร และสามารถโตเต็มที่ได้ 15 เซนติเมตร[3] พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในแถบอินโด-แปซิฟิก โดยอาศัยอยู่กับปะการัง, กัลปังหา และหนามของเม่นทะเล เพื่อหลบหลีกจากศัตรูผู้ล่า เนื่องจากไม่มีอาวุธอะไรที่จะป้องกันตัวได้ มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง จะเอาหัวทิ่มลงพื้นเสมอ และตั้งฉากกับพื้นทะเล แม้แต่จะว่ายน้ำไปไหนมาไหนก็จะไปด้วยลักษณะเช่นนี้เสมอ ในน่านน้ำไทยจัดเป็นปลาที่พบได้บ่อยในบางพื้นที่[4]

กินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร นิยมเลี้ยงกันในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และเป็นปลาสวยงาม[3]ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว โดยกรมประมง ของประเทศไทย โดยเพาะขยายพันธุ์ในบ่อ ด้วยการให้กินแพลงก์ตอนสัตว์, เคย และโคพีพอด หลังจากฟักแล้ว ลูกปลาจะเริ่มเห็นตัวเมื่ออายุได้ 12-15 วัน จากนั้นจะย้ายลูกปลาไปไว้ในบ่ออนุบาลต่อไป และเปลี่ยนมาให้ลูกปลากินอาร์ทีเมีย เมื่อปลามีความยาวได้ราว 2 นิ้ว ก็จะกินเคยได้เหมือนปลาวัยโต[5] แต่ลูกปลาที่ยังเล็กอยู่ คืออายุไม่เกิน 15 วัน จะมีการว่ายน้ำเหมือนกับปลาส่วนใหญ่ทั่วไป จนกระทั่งมีรูปร่างเหมือนปลามีดโกน จึงจะอยู่ในลักษณะหัวทิ่ม และเข้ามารวมฝูงกัน[1]

นอกจากนี้แล้ว ปลามีดโกนยังเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เพราะแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างเลยมานานกว่า 60 ล้านปีแล้ว ตั้งแต่ยุคต้นไมโอซีน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับฟอสซิลบรรพบุรุษของปลาชนิดนี้ที่ขุดพบที่เทือกเขาแอลป์ทางตอนเหนือของอิตาลี[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 หน้า 137-144, ครั้งแรกของเมืองไทย เพาะพันธุ์ใบมีดโกน, คอลัมน์ Blue Planet โดย นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 32 ปีที่ 3: กุมภาพันธ์ 2013
  2. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  3. 3.0 3.1 "Eyewitness handbooks Aquarium Fish: The visual guide to more than 500 marine and freshwater fish varieties" By Dick Mills. Page 283
  4. หน้า 110, คู่มือปลาทะเล โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ (ตุลาคม, 2551) ISBN 978-974-484-261-9
  5. สารคดีเกษตร ช่วงเพื่อนเกษตร, "ข่าวเช้า 7 สี". ช่อง 7: พุธที่ 19 ธันวาคม 2555

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Aeoliscus strigatus ที่วิกิสปีชีส์