ปลาปักเป้าดำ
ปลาปักเป้าดำ | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Tetraodontiformes |
วงศ์: | Tetraodontidae |
สกุล: | Pao |
สปีชีส์: | P. cochinchinensis |
ชื่อทวินาม | |
Pao cochinchinensis (Steindachner, 1866) | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาปักเป้าดำ ปลาปักเป้าน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pao cochinchinensis[2] อยู่ในวงศ์ปลาปักเป้าฟันสี่ซี่ (Tetraodontidae) มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 8 เซนติเมตร พบใหญ่สุด 13 เซนติเมตร รูปร่างกลมป้อม หัวท้ายเรียว ปากเล็ก ตาโต ด้านหลังและด้านท้องมีผิวสากเป็นหนามเล็กละเอียด ด้านท้องนิ่มขยายตัวได้มาก ครีบหลังเล็กเช่นเดียวกับครีบก้น ลำตัวสีเขียวอมเทาคล้ำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีดวงหรือลายสีดำประทั่วตัว บางตัวอาจมีสีจางที่ด้านท้อง ตาแดง ครีบสีจาง
อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งและแม่น้ำขนาดใหญ่ กินหอย, กุ้ง, ปู และปลาตัวเล็ก ๆ โดยใช้ปากขบกัดได้ดี จัดเป็นปลาปักเป้าน้ำจืดที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย เป็นปลาที่ว่ายน้ำค่อนข้างช้าโดยใช้ครีบหลังและครีบก้นโบกไปมา อาศัยในบริเวณที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น บางครั้งพบว่าตอดกัดคนที่ลงเล่นน้ำในบริเวณที่หลบซ่อนอยู่ด้วย บริโภคโดยการนำมาทำเป็นปลาร้า, ปลาเค็ม แม้ว่าจะมีพิษในตัวก็ตาม แต่ในบางพื้นที่เช่นที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ก็ยังมีการบริโภคอยู่ โดยต้องถลกหนังและเครื่องในออกอย่างระมัดระวัง
ในหลายแหล่งโดยเฉพาะจากแหล่งน้ำนิ่งมักพบการเกิดพิษ (เตโตรโดท็อกซิน) ของปลาชนิดนี้ ตั้งแต่เบื่อเมาจนถึงแก่ความตาย ยิ่งในฤดูผสมพันธุ์จะมีกลไกการเกิดพิษจากอาหารและเชื้อจุลินทรีย์ที่ปลากินเข้าไปรุนแรงยิ่งขึ้น[3]
นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย
อนึ่ง ปลาปักเป้าดำในบางข้อมูล จะใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tetraodon leiurus ซึ่งปลาปักเป้าชนิดนี้จากการศึกษาเพิ่มเติม พบว่ามีการกระจายพันธุ์อยู่บนเกาะชวา ในประเทศอินโดนีเซีย และเป็นคนปลาคนละชนิดกัน [4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Vidthayanon, C. (2012). "Monotrete cochinchinensis". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.2. สืบค้นเมื่อ 11 March 2013.
- ↑ Kottelat, M. (2013): The Fishes of the Inland Waters of Southeast Asia: A Catalogue and Core Bibliography of the Fishes Known to Occur in Freshwaters, Mangroves and Estuaries. เก็บถาวร 2013-12-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Raffles Bulletin of Zoology, 2013, Supplement No. 27: 1–663.
- ↑ หนังสือปลาน้ำจืดไทย โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ (กรุงเทพ พ.ศ. 2544) ISBN 974-475-655-5
- ↑ นิตยสารอควาเรี่ยมบิส Vol.1 issue 4 ฉบับเดือนตุลาคม 2010 คอลัมน์ เปิดกรุ...ปักเป้าน้ำจืด