ปลาซักเกอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาซักเกอร์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Siluriformes
วงศ์: Loricariidae
สกุล: Pterygoplichthys
สปีชีส์: P.  multiradiatus
ชื่อทวินาม
Pterygoplichthys multiradiatus
(Hancock, 1828)
ชื่อพ้อง
  • Ancistrus multiradiatus (Hancock, 1828)
  • Liposarcus multiradiatus (Hancock, 1828)

ปลาซักเกอร์ (อังกฤษ: Orinoco sailfin catfish, butterfly pleco; จีน: 多輻翼甲鯰) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pterygoplichthys multiradiatus ในวงศ์ปลาซักเกอร์ (Loricariidae)

มีลำตัวยาว ปากเป็นรูปถ้วยเพื่อใช้ในการดูดอาหารและยึดติดกับก้อนหินหรือวัสดุแข็ง ๆ ต่าง ๆ ในน้ำ ครีบหลังสูงใหญ่ มีก้านครีบเดี่ยวหนึ่งคู่ และมีก้านครีบแข็ง 12–14 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยวหนึ่งก้าน และก้านครีบแขนงสี่ก้าน ครีบอกมีก้านครีบเดี่ยวหนึ่งก้าน และก้านครีบแขนงห้าก้าน ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยวหนึ่งก้าน และก้านครีบแขนงสี่ก้าน ครีบไขมันมีเงี่ยงแหลมหนึ่งก้าน ลำตัวปกคลุมด้วยแผ่นกระดูกแข็งด้านละ 23-24 แผ่นทั่วลำตัวเหมือนสวมใส่เสื้อเกราะ ลำตัว ครีบหลัง ครีบอก ครีบท้องและครีบหางมีจุดสีน้ำตาลหรือดำกระจายไปทั่ว

มีการกระจายพันธุ์ในแม่น้ำโอริโนโก แถบประเทศอาร์เจนตินา, เวเนซุเอลา และตรินิแดด มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 50–60 เซนติเมตร

ปลาซักเกอร์ชนิดนี้นับเป็นปลาซักเกอร์อีกชนิดหนึ่ง ที่มีการแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่เหมือนเช่นปลาซักเกอร์ชนิด Hypostomus plecostomus ซึ่งอยู่ต่างสกุลกัน ด้วยการนำเข้าเป็นปลาสวยงามเพื่อทำความสะอาดในตู้ปลาเหมือนกับปลาซักเกอร์ชนิดอื่น ๆ ทำให้บางคนเรียกปลาชนิดนี้ว่า "ปลาดูดกระจก"[1] ปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแหล่งน้ำรวมถึงสัตว์น้ำของประเทศอื่นที่ได้ไปแพร่กระจายพันธุ์ รวมถึงในประเทศไทย รวมถึงยังมีผู้นำไปหลอกขายเป็นปลาปล่อย โดยเรียกว่า "ปลาราหู"[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 257 หน้า. หน้า 85. ISBN 974-00-8738-8
  2. "เตือนทำบุญได้บาป! ผู้ค้าจับปลาซัคเกอร์ ตั้งชื่อเป็นปลาดำราหู หลอกสะเดาะเคราะห์". ช่อง 7. July 17, 2016. สืบค้นเมื่อ July 18, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]