ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต[1] (ละติน: Philosophiae doctor, อังกฤษ: Doctor of Philosophy, อักษรย่อ ปร.ด., PhD, Ph.D. หรือ DPhil ) คือปริญญาทางวิชาการสูงสุดที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยในหลายประเทศ การได้รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตมาจากหลักสูตรที่มีความกว้างขวางของสาขาทางวิชาการ การได้มาซึ่งปรัชญาดุษฎีบัณฑิตมักจะเป็นที่ต้องการสำหรับอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย หรือนักวิทยาศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ บุคคลที่ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตอาจใช้คำนำหน้าว่าดอกเตอร์ (Doctor) หรือนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า "ดร." ("Dr" ) ในทางกฎหมายได้ หรือในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษอาจใช้คำที่แตกต่างกันเช่น "Dr. phil." ในชื่อของพวกเขา และอาจใช้เป็นคำนำหลังชื่อเช่น "Ph.D.", "PhD" ขึ้นอยู่กับสถาบันที่ได้รับ
ข้อกำหนดในการได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ สถาบัน และช่วงสมัย ตั้งแต่ปริญญาการวิจัยในระดับเริ่มต้นจนถึงปริญญาเอกขั้นสูง ในระหว่างการเรียนนักศึกษาจะถูกเรียกว่า นักศึกษาปริญญาเอก (doctoral student หรือ PhD student) นักศึกษาที่จบการเรียนการสอน การสอบประมวลความรู้และอยู่ในระหว่างการทำวิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ของตนบางครั้งจะถูกเรียกว่า ผู้มีสิทธิได้รับปริญญาเอก (doctoral candidate หรือ PhD candidate) (ดู All but dissertation) นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับนี้อาจได้รับปริญญา Candidate of Philosophy ในสถาบันบางแห่ง
ผู้มีสิทธิได้รับปริญญาเอกจะต้องเสนอโครงการ วิทยานิพนธ์ หรือดุษฎีนิพนธ์ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาที่เป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยทางวิชาการซึ่งเป็นหลักวิชาการที่มีคุณค่าต่อการเผยแพร่ในวารสารที่พิชญพิจารณ์แล้ว [2] ในหลายประเทศผู้มีสิทธิจะต้องสอบป้องกัน วิทยานิพนธ์นี้ก่อนที่จัดสรรผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคณะกรรมการสอบที่ได้รับการแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัย ในบางครั้งมหาวิทยาลัยจะมอบปริญญาเอกประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากปรัชญาดุษฎีบัณฑิต เช่น วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วศ.ด.) สำหรับวิศวกร และศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ศษ.ด.) สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ในปี 2005 สมาคมมหาวิทยาลัยยุโรปได้กำหนดหลักซาลซ์บูร์ก (Salzburg Principles) ถึงหลักพื้นฐานสิบประการสำหรับปริญญาขั้นที่สาม (ปริญญาเอก) ภายใต้กระบวนการโบโลญญา[3] ตามมาด้วย หลักฟลอเรนซ์ (Florence Principles) ในปี 2016 ประกอบด้วยหลักพื้นฐานเจ็ดประการสำหรับปริญญาเอกในสาขาศิลปะที่กำหนดโดยสันนิบาตแห่งสถาบันศิลปะยุโรป ซึ่งได้รับการรับรองโดยสมาคมโรงเรียนสอนศิลปะยุโรป สมาคมโรงเรียนภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติ สมาคมมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยศิลปะ การออกแบบ และสื่อนานาชาติ และสมาคมเพื่อการวิจัยศิลปะ
ในบริบทของปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและชื่อปริญญาอื่น ๆ ที่คล้ายกัน คำว่า "ปรัชญา" ไม่ได้หมายถึงสาขาหรือแขนงทางวิชาการของปรัชญาเพียงอย่างเดียว แต่ถูกนำมาใช้ในความหมายที่กว้างขึ้นตามความหมายดั้งเดิมในภาษากรีก คือ "ความรักในปัญญา" (love of wisdom) ซึ่งหมายถึงความใฝ่รู้ ส่วนใหญ่ในยุโรปทุกสาขา (ประวัติศาสตร์ ปรัชญา สังคมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และปรัชญาธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ)[4] รวมถึงเทววิทยา นิติศาสตร์ และแพทยศาสตร์ (ทั้งหลักสูตรวิชาชีพ อาชีวศึกษา และเทคนิค) เป็นที่รู้ตามธรรมเนียมว่าคือปรัชญา ในเยอรมนี และที่อื่น ๆ ในยุโรป คณะพื้นฐานทางศิลปศาสตร์เป็นที่รู้จักกันว่า "คณะปรัชญา"
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดชื่อปริญญา พ.ศ. ๒๕๕๙ เล่ม 133 ตอนพิเศษ 158 ง, 14 กรกฎาคม 2559, หน้า 6-18
- ↑ Dinham, S.; Scott, C. (2001). "The Experience of Disseminating the Results of Doctoral Research". Journal of Further and Higher Education. 25: 45–55. doi:10.1080/03098770020030498.
- ↑ Kirsti Koch Christensen (2005). "BOLOGNA SEMINAR: DOCTORAL PROGRAMMES FOR THE EUROPEAN KNOWLEDGE SOCIETY" (PDF). European Universities Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-11. สืบค้นเมื่อ 2018-05-22.
- ↑ Sooyoung Chang, Academic Genealogy of Mathematicians, World Scientific, 2010, p. 183.