นิราศไทรโยค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นิราศไทรโยค เป็นพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งแต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๑๔๔๑ บท เป็นวรรณคดีนิราศ บันทึกเหตุการณ์รายวันระหว่างเสด็จประพาสน้ำตกไทรโยคเป็นเวลา ๓๖ วัน ระหว่างวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๗) โดยเสด็จเป็นการส่วนพระองค์

การเดินทางเริ่มจากท่าน้ำวังหลังที่ประทับ ไปตามคลองหลอด ผ่านโรงทหาร ตึกยุทธนาธิการ หรือ กระทรวงกลาโหม ตรางหลวง ถนนตัดใหม่ หรือ ถนนราชดำเนิน วัดบูรณศิริ วังหน้า พิพิธพัณฑสถาน แล้วออกแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านโรงพยาบาลวังหลัง วังพระเจ้าเชียงใหม่ โรงเรียนฝรั่ง หรือ โรงเรียนวังหลัง วัดระฆัง พระบรมหาราชวัง วัดพระเชตุพน บ้านเจ้าพระยามหินทร์ วัดอรุณราชวราราม วังกรมพระจักรพรรดิพงศ์ พระราชวังเดิม ป้อมวิชาเยนทร์ วัดกัลยา เข้าคลองบางหลวง ผ่านสถานที่ต่าง ๆ ไปจนถึงท่าจีน เข้าคลองบางยาง คลองดำเนินสะดวก ออกแม่น้ำแม่กลอง ถึงราชบุรี [1]

จากนั้นเดินทางตามลำน้ำแม่กลองผ่านวัดต่าง ๆ ไปถึงวัดเจ็ดเสมียน จอดเรือค้างแรมที่แพหน้าวัด เช้าออกเดินทางผ่านสถานที่ต่างๆในเขตเจ็ดเสมียน และโพธาราม เสด็จขึ้นเที่ยวตลาดโพธาราม วันรุ่งขึ้นเรือออกจาบ้านม่วง ถึงศาลเทพารักษ์เบิกไพร ซึ่งมีผู้คนนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ จึงได้เสด็จขึ้น "จำแวะจำไหว้ต้อง เชื่อต้องตามใจ" แต่กวีทรงสังเกตว่า

ศาลไทยใยเจ๊กเข้า เป็นภาร เล่าพ่อ
เพราะเกิดลาภสักการ    เท่านั้น [2]  

ครั้งเมื่อเสด็จถึงบ้านโป่ง ทรงสังเกตว่ามีวัดตามช่อบ้านทุกบาง ตามทางมีโรงหีบอ้อย จอดเรือที่ท่าเรือพระแท่นดงรังแล้วเดินทางต่อด้วยเกวียนเพื่อไปนมัสการพระแท่นดงตรัง ต่อจากนั้นเดินทางถึงเมืองกาญจนบุรี จากปากแพรกเดินทางไปตามแควน้อย เสด็จทางบกเที่ยวป่าล่าสัตว์บ้าง มีพรานเพชร์สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นประสาทรุ่นเดียวกับนครวัด เพราะมีรูปแบบเหมือนกัน

พระนราธิปประพันธ์พงศ์ เสด็จท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งน้ำตก ถ้ำ ป่า และภูเขา แล้วเสด็จกลับกรุงเทพฯตามเส้นทางเดิม

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงนิพนธ์นิราศเรื่องนี้ โดยพรรณนาสิ่งที่ได้เห็นทั้งภูมิประเทศ ความเป็นอยู่ของราษฎร เหตุการณ์บ้านเมือง ความประพฤติของเจ้านายขุนนาง ข้าราชการ ทรงวิจารณ์และแสดงความรู้สึกส่วนพระองค์ต่อราชการและสังคม ตลอดจนการต่างประเทศ ทรงทราบดีว่า "บางคำเป็นข้อเรี่ยว แรงกระมัง แม่เอย" จึงทรงกล่าวไว้ในโคลงบทท้าย ๆ มิให้เผยแพร่นิราศเรื่องนี้จนกว่าจะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว กรมศิลปากรได้ขอประทานอนุญาตจัดพิมพ์นิราศไทรโยคจากพระทายาท คือพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘

อ้างอิง[แก้]

  1. วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ มานานุกรมวรรณคดีไทย ชุดที่ ๑ ชื่อวรรณคดี ปี ๒๕๕๐ หน้า ๑๙๖
  2. วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ มานานุกรมวรรณคดีไทย ชุดที่ ๑ ชื่อวรรณคดี ปี ๒๕๕๐ หน้า ๑๙๗