นิราศสุพรรณ (เสมียนมี)
นิราศสุพรรณ | |
---|---|
กวี | หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) |
ประเภท | นิราศ กลอนแปด |
คำประพันธ์ | โคลง |
ยุค | รัชกาลที่ 3 |
ปีที่แต่ง | พ.ศ. 2383 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์ |
นิราศสุพรรณ เป็นนิราศประพันธ์โดยหมื่นพรหมสมพัตสร (มี) หรือเสมียนมี โคลงกระทู้บอกไว้ตอนท้ายว่า "เสมียนมีแต่งถวาย" ตอนท้ายของนิราศมีระบุบอกศักราชว่า พ.ศ. 2383 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่มีบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นพรหมสมพัตสร เป็นนายอากรเมืองสุพรรณบุรี ได้เดินไปเก็บอากรที่เมืองสุพรรณบุรีดังที่ปรากฏที่ต้นโคลง แต่งหลังฉบับสุนทรภู่ 8 ปี
นิราศสุพรรณสำนวนเสมียนมี กรมศิลปากรได้ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2497 ครั้งหนึ่ง แต่ตอนต้นมีความขาดอยู่วรรคหนึ่ง ต่อมาสามารถหาหนังสือเก่าและเติมลงไปแล้ว และได้แก้ถ้อยคำที่ยังผิดพลาดอยู่บางแห่ง[1] และมีการตีพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงอาคารพาณิชยกรรม (ฟัง อำไพวนิช) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 5 สิงหาคม พ.ศ. 2516
นิราศสุพรรณฉบับนี้เป็นการเดินทางเพื่อไปเก็บภาษีอากรสวนและตลาด ตามที่ประมูลได้สัมปทานซึ่งเป็นวาระปีต่อปี ในนิราศระบุว่าได้ทุนทรัพย์สนับสนุนจากพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 3 การเขียนนิราศจึงมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแต่งถวายเจ้านายพระองค์นี้ด้วย[2]
เส้นทาง
[แก้]เสมียนมีเริ่มต้นบันทึกการออกเดินทางจากบ้านของตัวเอง ที่เป็นเรือนแพริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งอยู่ทางใต้จากวังหลวง โดยไม่ระบุว่าเป็นตอนไหนของแม่น้ำ[3] ผ่านวังหลัง วัดทอง บางระมาด วัดไก่เตี้ย วัดชลอ วัดเพลง บางอ้อยช้าง บางขนุน บางขุนกอง บางม่วง บางนายไกร บางระนก บางคูเวียง วัดอุทยาน บางใหญ่ บางไก่ช่อน บางปลาดุก บางระกำ บางไทร บางหลวง บางน้อย บางหวาย บางเภา บางปลาร้า บางสะแก บางคัน บ้านกุ่ม บางแม่ม่าย คลองกฤษณา บ้านชีผ้าขาว คลองคาง บางยี่หน วัดเสาหงส์ บ้านตลาดแก้ว บ้านยอด บ้านทับขี้เหล็ก บ้านเกาะ บางยี่สุข วัดกุฎีทอง ถึงสุพรรณบุรี