นางสาวสุวรรณ
นางสาวสุวรรณ | |
---|---|
เสงี่ยม นาวีเสถียร ผู้แสดงเป็นนางสาวสุวรรณ | |
กำกับ | เฮนรี แม็กเร รอเบิร์ต เคอร์ (ผู้ช่วยกำกับ) |
เขียนบท | เฮนรี แม็กเร |
อำนวยการสร้าง | เฮนรี แม็กเร |
นักแสดงนำ | เสงี่ยม นาวีเสถียร ขุนรามภรตศาสตร์ (ยม มงคลนัฏ) หลวงภรตกรรมโกศล (มงคล สุมนนัฏ) |
กำกับภาพ | ดาล คลอว์ซัน |
ผู้จัดจำหน่าย | ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ |
วันฉาย | 23 มิถุนายน พ.ศ. 2466 |
ภาษา | ภาพยนตร์ใบ้ |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
นางสาวสุวรรณ (อังกฤษ: Suvarna of Siam) เป็นภาพยนตร์ใบ้ แนวรักใคร่ ขนาดสามสิบห้ามิลลิเมตร ความยาวแปดม้วน เขียนบทและกำกับโดย เฮนรี แม็กเร (Henry MacRae) เป็นเรื่องแรกที่ถ่ายทำในประเทศสยาม (ต่อมาคือ ประเทศไทย) โดยฮอลลีวูด ที่ใช้นักแสดงชาวสยามทั้งหมด เริ่มถ่ายทำเมื่อต้นเดือนมีนาคมและสร้างเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน ในปี พ.ศ. 2466 ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ในจังหวัดนครศรีธรรมราช[1] และได้เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาด้วย ใช้ชื่อว่า "Kingdom of Heaven" เข้ามาฉายในประเทศไทยได้เพียง 3 วัน ฟิล์มต้นฉบับก็สูญหาย[2] ส่งผลให้ในปัจจุบันไม่เหลือสิ่งใดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากวัสดุประชาสัมพันธ์และของชำร่วยเล็ก ๆ น้อย ซึ่งรักษาไว้ที่ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)[3]
เบื้องหลัง
[แก้]นายเฮนรี่ แอ แมคแร ผู้สร้างในสังกัดบริษัทยูนิเวอร์แซล แรกเริ่มไม่ได้มีแผนจะถ่ายทำหนัง แต่ได้ยินข้อมูลว่าสยามเป็นเมืองป่าเถื่อน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้มีแต่ป่าดงพรไพร จึงถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี พอไม่ได้เป็นอย่างที่คิด กลับเป็นประเทศที่เจริญพอสมควร มีโรงภาพยนตร์ชุกชุม และมีศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม นายแมคแรเลยคิดจะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องยาว[4]
เรื่องย่อ
[แก้]ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ "กล้าหาญ" มีรูปร่างหน้าตางดงาม เป็นข้าราชการในหอพระสมุดประจำพระนคร และพักอาศัยอยู่กับบิดาและมารดาซึ่งเขาเรียก "พ่อเย็น" กับ "แม่มะลิ" ตามลำดับ
วันหนึ่ง กล้าหาญและบิดาแจวเรือออกจากคลองบางหลวง ไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ถึงหน้าวัดราชาธิวาส ก็เห็นสตรีผู้หนึ่งตกน้ำ เธอชื่อ "สุวรรณ" เป็นบุตรของ "คุณวณิช" กล้าหาญจึงกระโดดลงไปช่วยเอาขึ้นมาได้ นับแต่ได้เห็นหน้าเธอ กล้าหาญก็หลงรักเธอ ขณะเดียวกันเขาก็มีคู่แข่ง คือ "กรองแก้ว" ซึ่งหวังแต่งงานกับสุวรรณเช่นกัน
สุวรรณต้องเผชิญโชคดีและคราวเคราะห์ต่าง ๆ รวมถึงการขัดขวางของบิดา จนที่สุดก็พบคู่ชีวิต
นักแสดง
[แก้]- เสงี่ยม นาวีเสถียร - เป็น สุวรรณ
- ขุนรามภรตศาสตร์ (ยม มงคลนัฎ) - เป็น กล้าหาญ
- หลวงภรตกรรมโกศล (มงคล สุมนนัฎ) - เป็น ก่องแก้ว
ผู้สร้าง
[แก้]- เฮนรี แม็กเร (Henry MacRae) - ผู้กำกับ
- รอเบิร์ต เคอร์ (Robert Kerr) - (ผู้ช่วยผู้กำกับ), ใน ค.ศ. 1928 เขากลับมาที่ประเทศสยาม เพื่อกำกับภาพยนตร์ของเขาเอง ชื่อ "เดอะไวต์โรส" ("The White Rose") และออกฉายในกรุงเทพฯ ราวเดือนกันยายน ปีนั้น
- ดาล คลอว์ซัน (Dal Clawson) - ช่างภาพ
งานสร้าง
[แก้]ปี พ.ศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีกลุ่มนักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกันจากบริษัทยูนิเวอร์ซัล เฮนรี แมกเร เดินทางมาขอพระบรมราชานุญาตถ่ายภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ ซึ่งเป็นนิยายรักของชาวสยามและใช้คนไทยแสดงตลอดเรื่อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวให้กรมรถไฟหลวงให้ความร่วมมือในการถ่ายทำ โดยมีผู้แสดงสำคัญในหนังเรื่องนี้ได้แก่ นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร นางรำในกรมมหรสพหลวง แสดงเป็น นางสาวสุวรรณ, ขุมรามภรตศาสตร์ (ยม มงคลนัฎ) ตัวโขนพระรามของกรมศิลปากร แสดงเป็น นายกล้าหาญ ตัวพระเอก และ หลวงภรตกรรรมโกศล (มงคล สุมนนัฎ) สมุหบาญชี แสดงเป็น นายกองแก้ว ซึ่งเป็นตัวโกง
สถานที่ถ่ายทำนอกจากในกรุงเทพฯแล้ว ยังเดินทางไปที่หัวหิน เพื่ออวดสถานที่ตากอากาศของกรุงสยามและที่เชียงใหม่อีกแห่ง เพื่อแสดงภาพการทำป่าไม้ แต่ในระหว่างถ่ายทำ มีข่าวว่าเฮนรี แมกเรไปถ่ายฉากประหารชีวิตด้วยการตัดคอที่ เชียงใหม่ เนื่องจากตามเนื้อเรื่อง พระเอกถูกใส่ร้ายจนเกือบโดนประหารชีวิต แต่นางเอกมาช่วยทัน[5] เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปจึงมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจพิจารณาก่อนฉาย[5] และให้ตัดฉากประหารชีวิตออก ภาพยนตร์เรื่องนี้ นำไปสู่กลไกการควบคุมการสร้างภาพยนตร์ในเวลาต่อมา[5]
เมื่อฉายที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร รอบปฐมทัศน์ บริษัทสยามภาพยนตร์ ได้ขออนุญาตจากกรมรถไฟ เพื่อขอเก็บเงินบำรุงสภากาชาดไทย[5]
ชื่อเดิมและชื่ออื่น
[แก้]- Suwanna of Siam - (สุวรรณสยาม)
- Miss Suwanna of Siam - (นางสาวสุวรรณสยาม)
- Suvarna of Siam
- Kingdom of Heaven
- The Gold of Siam - (ทองแห่งสยาม)
- สุวรรณสยาม
การออกฉาย
[แก้]"นางสาวสุวรรณ" เป็นภาพยนตร์ใบ้ ขนาดแปดหลอด (eight-reel) ออกฉายครั้งแรกในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1923 ที่โรงภาพยนตร์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช วันรุ่งขึ้น เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์พัฒนาการ, หอภาพยนตร์ฮ่องกง และโรงภาพยนตร์วิกตอเรีย หนังสือพิมพ์ "บางกอกเดลีเมล์" ฉบับวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1923 รายงานข่าวว่า[1]
"คืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ผู้ชมต่างพากันไปทัศนาภาพยนตร์ "นางสาวสยาม" และช่วยเหลือสภากาชาดไทยโดยบังเอิญไปในคราวเดียวกัน เนื่องด้วยคณะผู้จัดสร้างมีความกรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ในอันที่จะบริจาครายได้ทั้งหมดให้แก่สถาบันอันประเสริฐแห่งนี้ กรมหลวงนครราชสีมาก็เสด็จเข้าชมที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ซึ่งมีการจัดฉายอย่างดีเลิศ แน่นอนว่าความสนใจอันมหาศาลย่อมพุ่งตรงไปที่ภาพยนตร์ท้องถิ่นเรื่อง "นางสาวสยาม" ซึ่งคุณเฮนรี แม็กเร, คุณรอเบิร์ต เคอร์ และคุณดาล คลอว์ซัน ได้ดำเนินงานสร้างขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ภาพยนตร์นี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษประหนึ่งเป็นสิ่งมโหฬารสิ่งแรกที่ทำกันในประเทศนี้ และภาพยนตร์ดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อขายฉากหลังอันประกอบด้วยภูมิประเทศนานัปการ กล่าวคือ ขายทัศนียภาพของประเทศ โดยเอาเรื่องราวของสุวรรณมานำเสนอผ่านฉากเหล่านี้ทั้งหมด อย่างที่ชอบทำกันในอุปรากร ส่วนเนื้อเรื่องนั้น ก็มีลักษณะเด่นอันจำเป็น ๆ พร้อมสรรพ คือ เรื่องประโลมโลก, ความรัก, ความชัง, ความแค้น, ผู้บริสุทธิ์ที่เคราะห์ร้าย, การกล่าวหาเท็จ, การฆ่าฟัน ฯลฯ ฯลฯ แล้วไปปิดท้ายอย่างเหมาะเจาะและงดงามด้วยฉากที่ผู้พลัดพรากจากกันนานได้กลับสู่เหย้าเดิมแล้วคู่รักก็เดินจูงมือกันไปสู่อนาคตอันสดใส ทั้งหมดนี้เดินทางผ่านฉากอันเป็นชีวิตจริง ตั้งแต่ภาพกรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตรประทับนั่ง "รับการเฝ้าตามธรรมเนียม" ไปจนถึงฉาก "ช้างหัตถี", ฉากสนามกอล์ฟที่หัวหิน, พิธีแรกนาขวัญ, เพลิงไหม้พระนคร และแห่ล้อมด้วยหมู่พระที่นั่งและวัดวาอาราม กลายเป็นการโฆษณาชั้นเลิศให้การรถไฟสยามและความเจริญอื่น ๆ ของสยามไปโดยบังเอิญ ภาพยนตร์นี้น่าชมเสียจริง นับตั้งแต่เพียงเรื่องจุดยืนทางทัศนียภาพ และสิ่งอื่น ๆ ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องในการผลิต ต้องยกกิตติคุณและความชอบให้สำหรับงานแสนดีนี้ เยี่ยมจริง คืนนี้ จะฉายภาพยนตร์เรื่องนี้อีกที่โรงภาพยนตร์พัฒนาการและโรงภาพยนตร์ฮ่องกง และแน่นอนว่า เราขอแนะนำให้ท่านทั้งหลายที่ยังไม่ได้ไปดู จงไปดูกันเสีย"
สิ่งสืบเนื่อง
[แก้]ภาพยนตร์เรื่อง โหน่ง เท่ง นักเลงภูเขาทอง พูดถึงเรื่องการมาถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้[6]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Richardson, Thomas (1993) Suwanna Interactive, Cornell University. (Retrieved from Internet Archive 2008-04-24)
- ↑ ข้อเท็จจริงท้ายเรื่อง ระบุในภาพยนตร์ โหน่งเท่ง นักเลงภูเขาทอง
- ↑ Sukwong, Dome and Suwannapak, Sawasdi. A Century of Thai Cinema, Thames and Hudson, 2001. ISBN 0-500-97603-1
- ↑ "แปลกแต่จริง!หนังไทยเรื่องแรกสร้างโดยบริษัทยูนิเวอร์แซล!เข้าใจผิดจะมาถ่ายป่า เจอสิ่งดีกว่าเลยเขียนสคริปต์สด!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-24. สืบค้นเมื่อ 2017-02-25.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-19. สืบค้นเมื่อ 2011-02-16.
- ↑ ""โหน่งเท่งนักเลงภูเขาทอง" ตลก"จริง" หรือตลก"ชิน"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-16. สืบค้นเมื่อ 2016-02-16.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- นางสาวสุวรรณ ที่เว็บไซต์ สยามโซน
- นางสาวสุวรรณ (2466) เก็บถาวร 2016-03-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ที่เว็บไซต์ ThaiFilmDb
- Miss Suwanna of Siam ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส