นอติลอยด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นอติลอยด์
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 495–0Ma ยุคแคมเบรียนตอนปลาย – ปัจจุบัน
Nautilus pompilius
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: มอลลัสกา
ชั้น: Cephalopoda
ชั้นย่อย: Nautiloidea
Agassiz, 1847
กลุ่มย่อยหลัก

นอติลอยด์ คือกลุ่มของหอยทะเล (ไฟลั่มมอลลัสก้า) ในชั้นย่อย นอติลอยดี ที่มีเปลือกห่อหุ้มภายนอกที่รู้จักกันดีคือหอยงวงช้างในปัจจุบัน (Nautilus spp.) พบปรากฏโดดเด่นในช่วงต้นของมหายุคพาลีโอโซอิกในฐานะสัตว์นักล่าโดยได้พัฒนาเปลือกกระดองทั้งรูปแบบและรูปร่างที่หลากหลาย พบเป็นซากดึกดำบรรพ์ประมาณ 2,500 ชนิด แต่อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันเพียง 6 ชนิดเท่านั้น

ความสัมพันธ์ทางอนุกรมวิธาน[แก้]

นอติลอยด์คือกลุ่มของสัตว์ทั้งหลายที่เรียกกันว่าเซฟาโลพอด (ชั้นเซฟาโลโพดา) ซึ่งรวมถึงแอมโมนอยด์ เบเลมนอยด์ และกลุ่มของสัตว์ปัจจุบันพวกโคลอยด์ อย่างเช่น หมึกยักษ์และปลาหมึก เซฟาโลพอดเป็นชั้นที่มีพัฒนาการก้าวหน้าของสัตว์ทะเลกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าหอย (ไฟลั่มมอลลัสก้า) ที่รวมถึงหอยกาบเดี่ยวและหอยกาบคู่ด้วย

โดยทั่วไปได้มีการจำแนกเซฟาโลพอดออกเป็น 3 กลุ่มย่อยได้แก่ นอติลอยด์ แอมโมนอยด์ และโคลอยด์ ในบทความนี้จะใช้ชื่อนอติลอยด์เป็นนัยกว้างๆ ซึ่งบางครั้งก็ใช้คำว่านอติลอยดี

นอติลอยด์เป็นกลุ่มของหอยที่มีลักษณะร่วมที่เก่าแก่โบราณ (เพลซิโอมอร์ฟี) ที่ไม่พบในกลุ่มอื่นๆของเซฟาโลพอด หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งในเชิงระดับวิวัฒนาการได้ว่า นอติลอยด์เป็นกลุ่มที่มีลักษณะเก่าแก่ที่วิวัฒนาการให้แอมโมนอยด์และโคลอยด์ ทั้งแอมโมนอยด์และโคลอยด์ถูกคิดว่าสืบทอดลูกหลานมาจากแบคทริติดาที่สืบทอดมาจากนอติลอยด์ที่มีเปลือกกระดองตรง (orthocone)

แอมโมนอยด์ (ประกอบไปด้วยแอมโมไนต์และโกนิเอไทต์) เป็นลูกหลานของนอติลอยด์ได้สูญพันธุ์ไปแล้วที่วิวัฒนาการขึ้นมาในช่วงต้นของยุคดีโวเนียนหรือประมาณ 400 ล้านปีมาแล้ว และในช่วงยุคดีโวเนียนหรือยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนต้นนั้นเองที่พวกแบคทริติดส์ได้วิวัฒนาการแตกแขนงออกมาเป็นโคลอยด์เป็นครั้งแรกในรูปแบบของเบเลมนอยด์รุ่นแรกๆ ดังนั้นเซฟาโลพอดทั้งหมดที่ดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้วิวัฒนาการมาจากนอติลอยด์มาตั้งแต่มหายุคพาลีโอโซอิกแล้ว

บางคนใช้ชื่อนอติลอยดีให้หมายถึงกลุ่มที่มีความเฉพาะมากยิ่งขึ้นโดยเขียนว่านอติลอยดี “sensu stricto” โดยให้หอยกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยอันดับที่เปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนกับหอยงวงช้างปัจจุบันเท่านั้น จำนวนสมาชิกค่อนข้างหลากหลายขึ้นอยู่กับผู้ศึกษาแต่ปรกติแล้วประกอบไปด้วยอันดับทาร์ฟายเซอริดา ออนโคเซอริดา และนอติลิดา

รูปร่างลักษณะ[แก้]

เปลือกกระดองของนอติลอยด์มีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือห้องด้านใน ไซฟังเคิล และเส้นรอยเชื่อมบนเปลือกกระดองซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ในแอมโมนอยด์ด้วย

ผนังบางๆที่กั้นห้องด้านใน (คาเมอรา) ของเปลือกกระดองเรียกว่า “เซฟต้า” เมื่อนอติลอยด์เจริญเติบโตขึ้นมันจะคลายตัวเองออกจากผนังกั้นของเปลือกหอยแล้วขยับตัวเองไปทางด้านหน้า จากนั้นก็จะสร้างผนังกั้นแผ่นใหม่ขึ้นมาทางด้านหลังของมัน ผนังกั้นห้องแต่ละแผ่นที่สร้างเพิ่มขึ้นมานั้นจะทำให้เกิดห้องคาเมอราห้องใหม่ขึ้นมา ตัวหอยนอติลอยด์เองซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มจะอาศัยอยู่ในห้องสุดท้ายของเปลือกหอยที่เรียกกันว่า “บอดี้แชมเบอร์” หรือ ”ลิฟวิ่งแชมเบอร์

ผนังกั้นห้องจะมีท่อไซฟังเคิลเป็นท่อยาวร้อยผ่านผนังกั้นและผ่านห้องด้านในของเปลือกกระดองทั้งหมด โดยรอบๆของท่อไซฟังเคิลเป็นโครงสร้างที่ทำจากแร่อะราโกไนต์ คอผนัง และวงแหวนเชื่อมต่อ (อะราโกไนต์เป็นโพลีมอร์ฟหนึ่งของแคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งเมื่อกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์จะเปลี่ยนไปเป็นแร่แคลไซต์) ในห้องด้านในที่ว่างเปล่าของนอติลอยด์รุ่นแรกบางชนิดจะมีตะกรันของสารแคลเซียมคาร์บอเนตตกสะสมอยู่ (เรียกว่า cameral deposits) หรือภายในท่อไซฟังเคิล (เรียกว่า endosiphuncular deposits) ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่อาจเกี่ยวข้องกับการควบคุมการลอยตัวของตัวหอย ธรรมชาติของท่อไซฟังเคิลและตำแหน่งของมันภายในเปลือกกระดองมีความสำคัญในการจำแนกนอติลอยด์

เส้นรอยเชื่อมเห็นได้เป็นชุดของลายเส้นแคบๆที่คดโค้งไปมาบนผิวของเปลือกกระดองซึ่งจะเป็นตำแหน่งที่ผนังกั้นห้องแต่ละแผ่นไปเชื่อมสัมผัสกับผนังของเปลือกกระดองด้านนอก เส้นรอยเชื่อมของนอติลอยด์นี้จะมีรูปร่างลักษณะง่ายๆอาจเป็นเพียงเส้นตรงหรือโค้งเว้าเล็กน้อย นี้แตกต่างไปจากลักษณะเส้นรอยเชื่อมที่เป็นแบบซิกแซ๊กของโกนิเอไทต์และจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในเส้นรอยเชื่อมของแอมโมไนต์

นอติลอยด์ปัจจุบัน[แก้]

เราจะรู้จักซากดึกดำบรรพ์ของนอติลอยด์ได้มากน้อยเพียงใดจะขึ้นอยู่กับว่าเราได้รู้จักนอติลอยด์ปัจจุบันมากน้อยเพียงใดด้วย อย่างเช่นหอยงวงช้างแชมเบอร์ (chambered nautilus) ที่พบทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกจากหมู่เกาะซามัวไปจนถึงฟิลิปปินส์และในมหาสมุทรอินเดียนอกชายฝั่งออสเตรเลีย โดยปรกติแล้วเราจะไม่พบหอยงวงช้างในน้ำที่มีความลึกน้อยกว่า 100 เมตร แต่จะพบได้ที่ระดับความลึกระหว่าง 500 ถึง 700 เมตรทีเดียว

หอยงวงช้างเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำได้อย่างอิสระที่ประกอบด้วยส่วนหัวที่มีตาสองดวงโดยเป็นตาที่ปราศจากเลนส์ตาและมีหนวด หอยงวงช้างมีเปลือกกระดองเป็นผิวเรียบมีห้องลำตัวขนาดใหญ่ที่ถูกแบ่งออกเป็นห้องๆที่บรรจุก๊าซเฉื่อย (คล้ายอากาศแต่ประกอบด้วยก๊าซไนโตรเจนเป็นส่วนใหญ่และมีออกซิเจนในปริมาณน้อย) ที่ทำให้หอยงวงช้างสามารถลอยตัวอยู่ในน้ำได้ หอยงวงช้างมีหนวดได้มากถึง 90 เส้นเรียงเป็นแถววงกลมสองแถวโดยรอบปากของมัน หอยงวงช้างมีขากรรไกรที่มีลักษณะคล้ายจะงอย เป็นนักล่า โดยหลักๆแล้วเหยื่อจะเป็นพวกครัสตาเชียน

เปลือกกระดองของหอยงวงช้างที่ว่างเปล่าอาจถูกพัดพาไปได้เป็นระยะทางไกล เคยได้รับรายงานว่ามีการค้นพบเปลือกกระดองในญี่ปุ่น อินเดีย และแอฟริกาด้วย อย่างไม่ต้องสงสัยว่านี้สามารถนำไปอธิบายถึงเปลือกกระดองของซากดึกดำบรรพ์นอติลอยด์ได้ที่ว่าเมื่อหอยตายลงแล้วก๊าซที่อยู่ภายในห้องด้านในจะยังคงทำให้เปลือกหอยลอยตัวอยู่สักระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นเปลือกหอยเปล่าๆหลังจากที่หอยตายไปแล้วจะสามารถถูกพัดพาไปจากตำแหน่งที่มันอาศัยอยู่ด้วยระยะทางหนึ่ง แล้วท้ายสุดก็จะจมลงสู่พื้นท้องทะเล

หอยงวงช้างขับเคลื่อนตัวเองด้วยการพ่นน้ำออกจากท่อยาวๆที่เรียกว่าไฮโปโนมที่สามารถชี้ออกไปในทิศทางต่างๆเพื่อควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ได้ หอยงวงช้างไม่มีถุงหมึกเหมือนอย่างที่พบในเบเลมไนต์และในเซฟาโลพอดอื่นๆบางชนิด และก็ไม่มีหลักฐานที่จะบ่งชี้ว่านอติลอยด์ชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้วจะมีถุงหมึกด้วยหรือเปล่า หอยงวงช้างในปัจจุบันไม่มีแผ่นปิดช่องเปิดเปลือกกระดองเหมือนกับในแอมโมไนต์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วและก็ไม่พบในนอติลอยด์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วด้วย

สีสันของเปลือกกระดองของหอยงวงช้างปัจจุบันมีความโดดเด่นชัดเจนทีเดียว และแม้ว่าจะเป็นสิ่งยากแต่ก็รายงานการค้นพบลวดลายสีสันบนเปลือกกระดองของซากดึกดำบรรพ์นอติลอยด์ด้วย ปรกติจะพบรูปแบบสีสันบนด้านหลังของเปลือกกระดองเท่านั้นซึ่งเข้าใจได้ได้ว่าหอยมีการว่ายน้ำไปในทิศทางในแนวระนาบ

ซากดึกดำบรรพ์[แก้]

ซากดึกดำบรรพ์นอติลอยด์ Trilacinoceras ยุคออร์โดวิเชียนจากประเทศจีน
ซากดึกดำบรรพ์นอติลอยด์ที่มีเปลือกกระดองชนิดออร์โธคองส์ยุคออร์โดวิเชียน พบในเคนทัคกี รอยพิมพ์ด้านในแสดงลักษณะของไซฟังเคิลและห้องด้านในมีสารปูนสะสมตัวอยู่ครึ่งห้อง

นอติลอยด์จะพบมากในหินที่มีอายุในช่วงแรกๆของมหายุคพาลีโอโซอิก (พบน้อยในชั้นตะกอนปัจจุบัน) เปลือกกระดองของซากดึกดำบรรพ์มีลักษณะหลายรูปแบบ ที่มีลักษณะเป็นแท่งตรงเช่น ออร์โธเชอแรสและเลยอนโนเซอแรส ที่เป็นแท่งโค้ง เช่น เซอโตเซอแรส ที่ขดม้วน เช่น ซีโนเซอแรส หรือที่ขดม้วนเป็นเกลียว เช่น ลอริเออเซอแรส ผิวของเปลือกกระดองบางชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งนอติลอยด์ในช่วงปลายมหายุคพาลีโอโซอิกและช่วงต้นมหายุคมีโซโซอิกจะมีลวดลายประดับด้วยหนามและลายเส้น

หินยุคออร์โดวิเชียนในทะเลบอลติกและส่วนของสหรัฐอเมริกาจะพบนอติลอยด์อย่างหลากหลายอย่างเช่นดิสซิโตเซอแรสและเลยอนโนเซอแรสอาจพบในหินปูนยุคคาร์บอนิเฟอรัสในสาธารณรัฐไอร์แลนด์ หินที่สะสมตัวในทะเลยุคจูแรสซิกในสหราชอาณาจักรมักพบซีโนเซอแรส และนอติลอยด์อย่างเช่นยูเทรโฟเซอแรสก็อาจพบในหมวดหินปิแอร์เชลยุคครีเทเชียสในทางตอนกลางถึงตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา

ตัวอย่างของนอติลอยด์ “เอนโดเชอแรส”ยุคออร์โดวิเชียนพบว่ามีความยาวถึง 3.5 เมตร และ”[คาเมอโรเซอแรส]]” ที่ประมาณว่าอาจจะมีขนาดได้ถึง 11 เมตร นอติลอยด์ขนาดใหญ่เหล่านี้จะต้องเป็นสัตว์นักล่าที่น่าสะพรึงกลัวของเหล่าสัตว์ทะเลอื่นๆในยุคนั้นอย่างแน่นอน

ในบางแห่งอย่างเช่นสแกนดิเนเวียและโมรอคโคพบนอติลอยด์ที่มีเปลือกกระดองแบบออร์โธโคนสะสมตัวเป็นจะนวนมากเกิดเป็นชั้นหินปูนออร์โธเซอแรส แม้ว่าคำว่า “ออร์โธเซอแรส”ในปัจจุบันจะอ้างถึงสกุลที่พบในทะเลบอลติกยุคออร์โดวิเชียนเท่านั้น แต่ก่อนหน้านั้นได้ถูกใช้กับนอติลอยด์พวกออร์โธโคนทั้งหมดที่อาศัยอยู่ระหว่างยุคออร์โดวิเชียนถึงยุคไทรแอสซิก (แต่พบได้ทั่วไปในช่วงต้นของมหายุคพาลีโอโซอิก)

ประวัติวิวัฒนาการ[แก้]

นอติลอยด์พบปรากฏขึ้นครั้งแรกจากหมวดหินเฝิ่งซานยุคแคมเบรียนทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีนที่ซึ่งดูเหมือนจะพบอย่างหลากหลาย (เป็นช่วงเวลาที่เป็นทะเลตื้นอากาศอบอุ่นที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตทะเล) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีรายงานจำนวนชนิดไว้มากถึง 131 ชนิดอยู่ในจำนวน 4 อันดับ แต่ดูเหมือนว่าไม่ค่อยจะมีความแน่นอนว่าจะได้รับการยอมรับ และจริงๆแล้วดูเหมือนว่าจำนวนชนิดดังกล่าวค่อยข้างจะมีการแยกแยะชนิดมากจนเกินไป

นอติลอยด์ยุคแรกๆได้สูญพันธุ์ไปเกือบทั้งหมด มีเพียงวงศ์เดียวคือเอลเลสเมอโรเซอราทิดีที่รอดพ้นไปจนถึงช่วงต้นของยุคออร์โดวิเชียนที่ซึ่งทำให้เกิดเซฟาโลพอดรุ่นหลังๆต่อมาทั้งหมด ในยุคออร์โดวิเชียนตอนต้นถึงตอนกลางนอติลอยด์ต้องพบกับการแตกแขนงวิวัฒนาการครั้งใหญ่ที่อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากได้เกิดแหล่งนิเวศวิทยาใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากการสูญพันธุ์ไปของแอโนมาโลคาริสเมื่อสิ้นสุดยุคแคมเบรียน โดยได้เกิดอันดับใหม่มากถึง 8 อันดับทีมีลักษณะโครงสร้างและชนิดของเปลือกกระดองรวมทั้งการดำรงชีวิตทางนิเวศวิทยาที่ครอบคลุมอย่างหลากหลาย

นอติลอยด์ได้คงไว้ซึ่งขอบเขตของการปรับตัวเองอย่างสูงและมีความหลากหลายในรูปแบบตลอดช่วงยุคออร์โดวิเชียนและยุคดีโวเนียนด้วยรูปแบบของเปลือกกระดองที่เป็นทั้งแบบแท่งตรง โค้ง และม้วนขดที่ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในช่วงเวลานั้นๆ นอติลอยด์อันดับที่เกิดในช่วงแรกๆหลายอันดับได้สูญพันธุ์ไปแต่อันดับอื่นๆก็ได้เกิดขึ้นเข้ามาโดดเด่นแทนที่

นอติลอยด์เริ่มลดจำนวนลงในช่วงยุคดีโวเนียนซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแข่งขันกับลูกหลานที่สืบทอดมาอย่างแอมโมนอยด์และโคลอยด์โดยมีเพียงนอติลิดาเท่านั้นที่ยังคงหลงเหลืออยู่ (และจริงๆแล้วกำลังเพิ่มขึ้นในความหลากหลาย) เปลือกกระดองของมันมีการเพิ่มการขดม้วนชิดกันแน่นมากขึ้นขณะที่ทั้งจำนวนและความหลากหลายของพวกที่ไม่ใช่นอติลิดาได้ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องตลอดยุคคาร์บอนิเฟอรัสและยุคเพอร์เมียน

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อสิ้นสุดยุคเพอร์เมียนส่งผลกระทบต่อนอติลอยด์น้อยกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และมีเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่รอดพ้นเข้าไปในมหายุคมีโซโซอิกได้แก่ซูเดอร์โธเซอริด แบคทรีติด และนอติลิด และอาจรวมไปถึงออร์โธเซอริด รูปแบบเปลือกกระดองที่เป็นแท่งตรงยังคงรอดพ้นอยู่ได้ไปจนสิ้นสุดที่ยุคไทรแอสซิก แต่ออร์โธเซอริดอาจพบได้ในหินยุคครีเทเชียสด้วยเหมือนกัน มีเพียงอันดับย่อยของนอติลอยด์เพียงอันดับย่อยเดียวเท่านั้นคือนอติลินาที่รอดพ้นไปจนตลอดมหายุคมีโซโซอิกที่ได้มีชีวิตร่วมกับลูกหลานอย่างแอมโมนอยด์ที่มีลักษณะพิเศษมากกว่า ทั้งหมดของนอติลอยด์เหล่านี้มีลักษณะที่แตกต่างจากหอยงวงช้างในปัจจุบันเพียงเล็กน้อย มันได้ฟื้นคืนสภาพขึ้นมาเล็กน้อยในช่วงต้นๆของยุคเทอร์เชียรี (อาจจะเป็นเพื่อการเติมพื้นที่อาศัยที่ว่างลงโดยแอมโมนอยด์จากเหตุการณ์สูญพันธุ์ยุคครีเทเชียส-เทอร์เชียรี) และได้รักษาการกระจายพันธุ์ไปทั่วโลกจนถึงช่วงกลางของมหายุคซีโนโซอิก ด้วยภูมิอากาศโลกที่เย็นลงในช่วงสมัยไมโอซีนและสมัยไพลโอซีนได้ทำให้การกระจายพันธุ์หดหายไปและก็ได้ลดความหลากหลายลงอีกครั้ง ในปัจจุบันพบนอติลอยด์เพียง 6 ชนิดเท่านั้นทั้งหมดอยู่ใน 2 สกุล คือ “สกุลนอติลุส” และ “สกุลอัลโลนอติลุส

การจำแนก[แก้]

การจำแนกต่อไปนี้จัดทำขึ้นโดยเคิร์ต เทเชิร์ต ในปี ค.ศ. 1988 โดยได้ปรับปรุงจากฉบับปี ค.ศ. 1964 ใน Treatise on Invertebrate Paleontology และอาศัยลักษณะของโครงสร้างเปลือกกระดอง (Teichert 1988, p.19)

  • ชั้นย่อย Endoceratoidea Teichert, 1933
    • อันดับ Endocerida Teichert, 1933 (ยุคออร์โดวิเชียน ถึง ยุคไซลูเรียน)
    • อันดับ Injetocerida Balashov, 1960 (ยุคออร์โดวิเชียน)
  • ชั้นย่อย Nautiloidea Agassiz, 1847
    • อันดับ Discosorida Flower, 1950 (ยุคออร์โดวิเชียน ถึง ยุคดีโวเนียน)
    • อันดับ Nautilida Agassiz, 1847
      • อันดับย่อย Rutocerina Shimanskiy, 1957 (ยุคดีโวเนียน ถึง ยุคไทรแอสซิก)
      • อันดับย่อย Lirocerina Shimanskiy, 1957 (ยุคคาร์บอนิเฟอรัส ถึง ยุคไทรแอสซิก)
      • อันดับย่อย Nautilina Agassiz, 1847 (ยุคไทรแอสซิก ถึง ณ.ปัจจุบันนี้)
    • อันดับ Oncocerida Flower, 1950 (ยุคออร์โดวิเชียน ถึง ยุคคาร์บอนิเฟอรัส)
    • อันดับ Tarphycerida Flower, 1950
      • อันดับย่อย Barrandeocerina Flower (ยุคออร์โดวิเชียน ถึง ยุคดีโวเนียน )
      • อันดับย่อย Tarphycerina Flower, 1950 (ยุคออร์โดวิเชียน ถึง ยุคไซลูเรียน)
  • ชั้นย่อย Orthoceratoidea Kuhn, 1940
    • อันดับ Ascocerida Kuhn, 1949 (ยุคออร์โดวิเชียน ถึง ยุคไซลูเรียน)
    • อันดับ Ellesmerocerida Flower, 1950
      • อันดับย่อย Ellesmerocerina Flower, 1950 (ยุคแคมเบรียน ถึง ยุคออร์โดวิเชียน)
      • อันดับย่อย Cyrtocerina Flower, 1964 (ยุคออร์โดวิเชียน)
    • อันดับ Orthocerida Kuhn, 1940 (ยุคออร์โดวิเชียน ถึง ยุคไทรแอสซิก)
    • อันดับ Plectronocerida Flower, 1964 (ยุคแคมเบรียน)
    • อันดับ Protactinocerida Chen & Qi, 1979 (ยุคแคมเบรียน)
    • อันดับ Yanhecerida Chen & Qi, 1979 (ยุคแคมเบรียน)

อันดับเพิ่มเติมอีกอันดับหนึ่งคือแบคทรีติดาซึ่งบางทีก็พิจารณาให้เป็นนอติลอยด์ที่มีความใกล้ชิดกับออร์โธเซอริดา บางที่ก็จัดให้เป็นแอมโมนอยด์รุ่นเก่าแก่มากๆ และบางทีก็ถูกจัดให้อยู่ในชั้นย่อยของตัวมันเองที่ชื่อว่าแบคทรีตอยดี

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 เป็นต้นมา มีบางคนได้เพิ่มอันดับเพิ่มเติมอีก 2 อันดับ คือซูเดอร์โธเซอริดา และดิสซิโดเซอริดาซึ่งทั้ง สองอันดับนี้เดิมทีถูกจัดไว้ในออร์โธเซอริดา

มีการวิเคราะห์ครั้งล่าสุดโดยธีโอ เอนเกสเซอร์ (Engeser 1997-1998) ได้ให้ความเห็นว่านอติลอยด์และเซฟาโลพอดจริงโดยทั่วไปนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ พัลเซฟาโลโพดา (รวมนอติลอยด์ทั้งหมด ยกเว้นออร์โธเซอริดาและแอสโคเซอริดา) และนีโอเซฟาโลโพดา (ที่เหลือของเซฟาโลพอดทั้งหมด)

ฟอสซิลนอติลอยด์ในประเทศไทย[แก้]

มีการพบหอยงวงช้างในประเทศไทยเป็นสกุลและชนิดใหม่ของโลกคือ Siamnautilus ruchae Ishibashi et al., 1994 เป็นหอยงวงช้างอยู่ในวงศ์ Tainoceratidae จากหินดินดานเนื้อประสานปูนของหมวดหินห้วยทาก ยุคเพอร์เมียนตอนกลาง บริเวณเชิงดอยผาพลึง อำเภองาว จังหวัดลำปาง เป็นชนิดใหม่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นางรุจา อิงคะวัต เฮลมเก้

มีขนาดปานกลาง ขดม้วนมีคลาวิบนผิวเรียงกันเป็น 4 แถว แถวของคลาวิบนบ่าด้านข้างล้ำไปทางด้านบนมีขนาดใหญ่กว่าแถวของคลาวิบนบ่าทางด้านสะดือ แต่แถวของคลาวิบนบ่าด้านข้างล้ำไปทางด้านบนแถวเดียวเท่านั้นที่เรียงรายต่อเนื่องไปจนถึงผิวของห้องลำตัว ตัวหอยมีขนาดปานกลางด้วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 9 ซม. ขดม้วนในแนวด้านข้าง ด้านบนโค้งและเรียบ สะดือแคบมีขนาดประมาณหนึ่งในสี่ของขนาดเปลือกหอยทั้งหมด ผิวเปลือกมีคลาวิรูปวงรีเรียงเป็นแถวจำนวน 4 แถวทางด้านข้างของเปลือกหอยมีขนาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปทางด้านห้องลำตัว คลาวิมีขนาดชัดเจนทางด้านข้างเยื้องไปทางด้านบนเรียงรายต่อเนื่องจนไปสิ้นสุดบนผิวของห้องลำตัว ส่วนคลาวิอีก 3 แถวที่เหลือไม่พบบนผิวของห้องลำตัว (ดูภาพประกอบ - วิฆเนศ ทรงธรรม และคณะ 2549)

หมายเหตุ: ชิ้นส่วนตัวอย่างที่พบมีลักษณะเหมือนกับ Hefengnautilus pernodosus Xu โดยมีปุ่มปมเรียงเป็นแถวทางด้านข้าง แต่ชนิดหลังนี้มีลักษณะเป็นปุ่มปมแทนที่จะเป็นคลาวิ นอกจากนี้ Tylonautilus permicus บรรยายโดย Hayasaka (1957) จากหมวดหินทากากูรายามายุคเพอร์เมียนตอนกลาง จังหวัดฟูกูชิมา ประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะเหมือนกับตัวอย่างที่พบนี้โดยมีปมเรียงเป็นแถวจำนวน 4 หรือ 5 แถวซึ่งโดดเด่นชัดเจนบนห้องด้านนอก

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

อ่านเพิ่ม[แก้]

  • http://www.ucmp.berkeley.edu/taxa/inverts/mollusca/cephalopoda.php (retrieved on May 11, 2014)
  • Doguzhaeva L (1994). "An Early Cretaceous orthocerid cephalopod from north-western Caucasus". Palaeontology. 37 (4): 889–899.
  • Engeser T (1997–1998). "The Palcephalopoda/Neocephalopoda Hypothesis". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-04-11. สืบค้นเมื่อ 2022-07-20.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  • Teichert C (1988). "Main Features of Cephalopod Evolution". ใน Clarke ME, Trueman ER (บ.ก.). The Mollusca. Paleontology and Neontology of Cephalopods. Vol. 12. Academic Press, Harcourt Brace Jovanovich.
  • วิฆเนศ ทรงธรรม และคณะ (2549) ทำเนียบซากดึกดำบรรพ์ไทย นามยกย่องบุคคล กรมทรัพยากรธรณี 99 หน้า

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

แม่แบบ:CephBase Subclass