แคลไซต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แคลไซต์
การจำแนก
ประเภทแร่คาร์บอเนต
สูตรเคมีCaCO3
คุณสมบัติ
สีไร้สี ขาว เทา เหลือง เขียว
โครงสร้างผลึกเฮกซาโกนัล
ค่าความแข็ง3
ความวาวคล้ายแก้ว
ดรรชนีหักเหnω = 1.640 - 1.660 nε = 1.486
สีผงละเอียดสีขาว
ความถ่วงจำเพาะ2.72

แคลไซต์ (อังกฤษ: Calcite) เป็นแร่คาร์บอเนตและเป็นแร่ที่เสถียรที่สุดในกลุ่มแร่ที่มีสูตรโครงสร้างเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ส่วนแร่อื่นที่มีสูตรโครงสร้างเดียวกัน ได้แก่ อราโกไนท์ (Aragonite) และ วาเทอร์ไรต์ (Vaterite) โดยอราโกไนท์จะเปลี่ยนไปเป็นแคลไซต์ที่อุณหภูมิ 470 องศาเซลเซียส ส่วนวาเทอร์ไรต์นั้นไม่เสถียร

คุณสมบัติ[แก้]

มีรูปผลึก ระบบเฮกซาโกนัล พบเกิดเป็นรูปผลึกได้มากกว่า 300 แบบและเป็นผลึกที่ซับซ้อนมาก ที่พบบ่อยคือรูปผลึกที่เป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือมีลักษณะเป็นแท่งหัวแหลมๆ ยาวๆ คล้ายฟันสุนัขเรียกว่าแร่ฟันหมาหรือหินเขี้ยวหมา

มีค่าความแข็งที่ 3 ตามสเกลของโมส์ (Moh’s scale) มีความถ่วงจำเพาะ 2.72 มีความวาวคล้ายแก้ว หรือด้านคล้ายดิน โปร่งใสถึงโปร่งแสง ปกติมีสีขาวหรือไม่มีสีแต่หากมีมลทินปนจะทำให้มีสีอื่นเช่น สีเทา สีแดง สีเขียว สีเหลือง สีน้ำเงิน สีน้ำตาล หรือสีดำ รอยแยกแนวเรียบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ลักษณะเป็นแท่งปลายแหลม ยาวๆ คล้ายฟันสุนัขความวาวคล้ายแก้ว

มีผงละเอียดสีขาวหรือสีเทา มีสูตรเคมี CaCO3 มี CaO 56.0 % และ CO2 44.0 % บางชนิดอาจมีแมงกานีส สังกะสี หรือเหล็กเข้าไปแทนที่ธาตุแคลเซียม หากมีการแทนที่อย่างสมบูรณ์ด้วยธาตุแมงกานีส จะได้เป็นโรโดโครไซต์

แคลไซต์จะทำปฏิกิริยากับกรดเกลือ คือหยดกรดเกลือแล้วเกิดเป็นฟองฟู่ (acid test.) แต่แร่ตระกูลคาร์บอเนตชนิดอื่น เช่น โดโลไมต์ (dolomite) และ ซิเดอไรด์ (siderite) จะไม่ทำปฏิกิริยาเป็นฟองฟู่เหมือนแคลไซต์

นอกจากนี้แคลไซต์ยังมีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถทำให้เกิดการหักเหสองแนว(double refraction)

การกำเนิด[แก้]

พบได้ทั่วไปในหินชั้นและหินแปร โดยเฉพาะบริเวณที่มีหินปูน ในตัวหินปูนเองอาจมีสายแร่แคลไซต์ ตัดผ่านหรือตกผลึกใหม่เนื่องจากความร้อนหรือความดันกลายเป็นหินอ่อน นอกจากนี้ยังพบแคลไซต์ในโพรงของหินภูเขาไฟ เช่น หินบะซอลต์ และพบเป็นเพื่อนแร่อยู่ในแร่ชนิดอื่นเช่นในแร่ ฟลูออไรต์ (fluorite), ควอตซ์ (quartz), แบไรต์ (barite), สฟาเลอไรท์ (sphalerite), กาลีนา (galena), เซเลสไทท์ (celestite), ซัลเฟอร์ (sulfur), ทอง (gold), ทองแดง (copper), มรกต (emerald), อะพาไทท์ (apatite), ไบโอไทท์ (biotite), ซีโอไลท์ (zeolites), แร่ตระกูลซัลไฟด์ (sulfides), คาร์บอเนต (carbonates) , บอเรต (borates) และ แร่โลหะพื้นฐานชนิดต่างๆ ที่เกิดจากน้ำร้อนใต้ผิวโลก (hydrothermal)

แหล่งแคลไซต์[แก้]

ประเทศไทย พบทั่วไปในจังหวัดที่มีหินปูน ตั้งแต่เชียงรายจนถึงจังหวัดยะลา พบมากจังหวัด ลพบุรี สระบุรี จันทบุรี กาญจนบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ และเพชรบุรี ต่างประเทศพบมากที่ประเทศอังกฤษ จีน เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา อิตาลี สเปน

ประโยชน์[แก้]

ใช้ทำปูนซีเมนต์และปูนขาว นำมาบดผสมทำอาหารสัตว์ ผสมทำเครื่องเคลือบดินเผา หากมีสีและเนื้อสวยงามนำมาขัดทำหินประดับผลึกแร่แคลไซต์ ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตแสงเลเซอร์

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]