นกกระเรียนมงกุฎแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกกระเรียนมงกุฎแดง
คู่บินที่ฮกไกโด
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Gruiformes
วงศ์: Gruidae
สกุล: Grus
สปีชีส์: G.  japonensis
ชื่อทวินาม
Grus japonensis
(Statius Muller, 1776)
ส่วนหัวของนกกระเรียนมงกุฎแดง

นกกระเรียนมงกุฎแดง หรือ นกกระเรียนญี่ปุ่น หรือ นกกระเรียนแมนจูเรีย (อังกฤษ: Red-crowned crane; ชื่อวิทยาศาสตร์: Grus japonensis)

ลักษณะ[แก้]

เป็นนกกระเรียนขนาดใหญ่ที่หายากเป็นอันดับ 2 ของโลกในบรรดานกกระเรียนทุกชนิด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก นกชนิดนี้ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความซื่อสัตย์ มีความสูงถึง 55 นิ้ว ทำให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของนักล่าได้ง่าย เมื่ออยู่ในถิ่นอาศัยธรรมชาติตามหนองบึง จะพบเห็นตัวได้ง่ายและเด่นชัด เมื่อโตเต็มวัย ขนทั้งตัวจะเป็นสีขาวหิมะ ด้านบนส่วนหัวจะเป็นผิวหนังสีแดง ผิวหนังส่วนนี้จะเป็นสีแดงสว่างขึ้นเวลาโกรธหรือตื่นเต้น เพศผู้มีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม[2] จัดว่าเป็นนกกระเรียนที่มีน้ำหนักมากที่สุด

ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน นกกระเรียนมงกุฎแดงจะอาศัยอยู่ในไซบีเรีย ช่วงนี้ไข่ที่วางไว้จะฟักออกมาเป็นตัว ปกติแล้วนกกระเรียนมงกุฎแดงนี้จะวางไข่ 2 ฟอง และมักจะเหลือรอดจนฟักเป็นตัวได้เพียงฟองเดียว และเป็นนกที่จับคู่เพียงคู่เดียวตลอดชีวิต เป็นนกที่มีอายุยืนได้ถึง 50-60 ปี [3] เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง จะอพยพเป็นฝูงลงใต้สู่เกาหลี, จีน และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพื่อหาถิ่นอาศัยในระหว่างฤดูหนาว แต่มีนกกระเรียนฝูงหนึ่งที่จะอาศัยอยู่ในเกาะฮกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ตลอดทั้งปี

นกกระเรียนมงกุฎแดงกินสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก, สัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลัง, แมลง และพืชที่มีอยู่ในหนองบึงเป็นอาหาร ถิ่นอาศัยอาจมีทั้งหนอง, บึง, ริมฝั่งแม่น้ำ, ทุ่งนา หรือที่ใดก็ตามที่มีแหล่งน้ำและอาหาร เมื่อกินอาหารอิ่มแล้ว อาจจะเกี้ยวพากันด้วยการเต้นระบำอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว[3]

จำนวนประชากร[แก้]

นกกระเรียนชนิดนี้มีจำนวนประชากรในธรรมชาติเพียง 1,700-2,000 ตัว จึงถือว่าเป็นนกชนิดหนึ่งที่อยู่ในภาวะถูกคุกคาม สถานเพาะเลี้ยงนกในเมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ได้ริเริ่มโครงการรับบริจาคไข่ของนกกระเรียนชนิดนี้จากสวนสัตว์ในสหรัฐอเมริกา เพื่อนำไปฟักและเพาะเลี้ยงในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ คินกันสกี ในรัสเซีย แล้วปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ในระหว่างปี ค.ศ. 1995-2005 โครงการนี้ได้รับบริจาคไข่แล้วจำนวน 150 ฟอง

ตำนานและความเชื่อ[แก้]

ในญี่ปุ่น นกกระเรียนมงกุฎแดงมีชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า 丹頂 (Tancho) เชื่อกันว่ามีอายุขัยยาวนานถึง 1,000 ปี โดยชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าการมาถึงของนกกระเรียนมงกุฎแดงจะนำมาซึ่งความภักดีและโชคลาภ ในช่วงฤดูหนาวจะมีผู้คนออกไปยังทุ่งน้ำแข็งที่เป็นที่อพยพเพื่อนำปลาไปให้เป็นอาหาร โดยถือว่าเป็นนกที่ชาวญี่ปุ่นให้ความเมตตาและเคารพสูงสุด โดยในปี ค.ศ. 1952 มีจำนวนนกกระเรียนมงกุฏแดงเพียง 33 ตัว เท่านั้น และได้ขยายพันธุ์เป็น 1,200 ตัว ในปัจจุบัน[3]

ในจีน นกกระเรียนมงกุฎแดงมักปรากฏอยู่ในตำนานเทพนิยาย ปกติแล้วมักปรากฏคู่กับเทพหรือเหล่าเซียนผู้เป็นอมตะ มีชื่อในภาษาจีนว่า 丹顶鹤 (Dāndǐnghè) ซึ่งแปลว่า "นกกระเรียนนางฟ้า"

อ้างอิง[แก้]

  1. BirdLife International (2008). Grus japonensis. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 1 April 2009.
  2. "Welcome to Cyber Crane". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-22. สืบค้นเมื่อ 2010-06-28.
  3. 3.0 3.1 3.2 เอเชียและออสเตรเลีย, "มองโลกอัศจรรย์ผ่านนภากาศ" . สารคดีทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 7 กันยายน 2555

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]