นกชาปีไหน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นกกระดง)
นกชาปีไหน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Columbiformes
วงศ์: Columbidae
สกุล: Caloenas
สปีชีส์: C.  nicobarica
ชื่อทวินาม
Caloenas nicobarica
(Linnaeus, 1758)
ชนิดย่อย
  • C. n. nicobarica (Linnaeus, 1758)
  • C. n. pelewensis Finsch, 1875

นกชาปีไหน หรือ นกกะดง[2] (อังกฤษ: Nicobar pigeon, Nicobar dove; ชื่อวิทยาศาสตร์: Caloenas nicobarica) เป็นนกชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์นกพิราบและนกเขา (Columbidae) นับเป็นนกเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในสกุล Caloenas ในขณะที่ชนิดอื่น ๆ สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว[3] โดยมีความใกล้ชิดกับนกโดโดที่สูญพันธุ์ไปแล้วด้วย

นกชาปีไหน มีขนาดลำตัวเท่า ๆ กับไก่แจ้ มีขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 40-41 เซนติเมตร มีลำตัวขนาดใหญ่ แต่มีหัวขนาดเล็กและมีเนื้อนูนเป็นตุ่มบริเวณจมูก ขนตามลำตัวเป็นสีเขียวเหลือบเทา ขนหางสีขาว แต่จะมีขนบริเวณคอห้อยยาวออกมาเหมือนสร้อยคอ ซึ่งขนนี้จะยาวขึ้นเมื่อนกมีอายุมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีขาขนาดใหญ่แข็งแรง เพราะเป็นนกที่ชอบเดินหากินตามพื้น สีของมันน่าจะมีไว้เพื่อดึงดูดตัวเมีย

นกชาปีไหน แม้จะเป็นนกที่หากินบนพื้นดินเป็นหลัก แต่ก็เป็นนกที่สามารถบินได้ มีรายงานว่าสามารถบินข้ามไปมาระหว่างเกาะต่าง ๆ ได้ เป็นนกที่หากตกใจจะบินหรือกระโดดขึ้นบนต้นไม้ และไม่ค่อยส่งเสียงร้องนัก นานครั้งจึงจะได้ยินเสียงร้องทีหนึ่ง แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย (ดูในตาราง)[4]

พบกระจายพันธุ์เฉพาะหมู่เกาะต่าง ๆ บริเวณทะเลอันดามันและอินโด-แปซิฟิก เช่น หมู่เกาะนิโคบาร์, หมู่เกาะอันดามัน, หมู่เกาะโซโลมอนและปาเลา ในประเทศไทยจัดเป็นนกที่หาได้ยากมากชนิดหนึ่ง โดยจะอาศัยอยู่ในป่าดิบหรือป่าชายหาดของหมู่เกาะสิมิลัน, หมู่เกาะสุรินทร์ หรือหมู่เกาะอ่างทอง รวมถึงอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี เท่านั้น[5]

เป็นนกที่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักรราช 2535 แต่ปัจจุบันมีการเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วโดยทางการของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2538 พบว่านกชาปีไหนสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยสร้างรังแบบหยาบ ๆ รูปร่างคล้ายจาน โดยใช้กิ่งไม้และใบไม้แห้งวางไข่ ครั้งละเพียง 1 ฟอง มีขนาด 31.64x45.0 มิลลิเมตร น้ำหนัก 25.05 กรัม พ่อและแม่นกช่วยกันฟักไข่ มีระยะฟัก 25-29 วัน แม่นกสามารถจะวางไข่ชุดใหม่ต่อไปได้หลังจากลูกนกมีอายุได้ประมาณ 40 วัน ลูกนกออกจากไข่ไม่มีขนปกคลุมตัว จัดอยู่ในพวกอัลติเชียล (นกที่บินไม่ได้) พ่อและแม่นกช่วยกันเลี้ยงดูลูกนกจนมีอายุได้ 34-36 วัน ลูกนกจึงจะทิ้งรังและกินอาหารเองได้ ขนชุดแรกขึ้นปกคลุมตัวสมบูรณ์หมด เมื่อลูกนกมีอายุได้ 3 เดือน และเมื่อมีอายุ 7 เดือน มีการผลัดขนปีกชุดแรก และมีขนชุดใหม่งอกขึ้นมาแทนที่[6] [7] [8]

อ้างอิง[แก้]

  1. BirdLife International (2012). "Caloenas nicobarica". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  2. "ชาปีไหน". พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542.
  3. Steadman, David William (2006). Extinction and Biogeography of Tropical Pacific Birds. University of Chicago Press. ISBN 0-226-77142-3.
  4. "Caloenas nicobarica". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  5. "ตัวเดียวในกระบี่! 'นกชาปีไหน' โผล่โชว์ตัวเกาะห้อง หลังเคยพบ 3 ปีก่อน". ไทยรัฐ.
  6. การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์นกชาปีไหน[ลิงก์เสีย]
  7. "นกชาปีไหน". ทะเลไทย.
  8. "นกชาปีไหน". มายเฟิร์สเบรน.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Caloenas nicobarica ที่วิกิสปีชีส์