ข้ามไปเนื้อหา

ตราสัญลักษณ์ของกาชาด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สัญลักษณ์ของขบวนการ “กาชาด” และ “เสี้ยววงเดือนแดง” ที่พิพิธภัณฑ์สภากาชาดในเจนีวา

ตราสัญลักษณ์ของขบวนการกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงนานาชาติ (อังกฤษ: Emblems of the International Red Cross and Red Crescent Movement หรือ Emblems of the Red Cross) หรือ ตราสัญลักษณ์ของกาชาด ภายใต้อนุสัญญาเจนีวา เป็นตราสัญลักษณ์ที่ใช้ประทับบนยานพาหนะ และสิ่งก่อสร้างที่ใช้ในการบรรเทาทุกข์ของมนุษยชนเพื่อป้องกันจากการถูกโจมตีทางทหารในสมรภูมิ ตราสัญลักษณ์ของกาชาดมีด้วยกันสามตรา “ตรากางเขนแดง”, “ตราเสี้ยววงเดือนแดง” และ “ตราเพชรแดง” ส่วน “ตราสิงห์และอาทิตย์แดง” เคยเป็นตราที่ได้รับการอนุมัติ แต่ในปัจจุบันไม่มีการใช้

นอกจากนั้นก่อนหน้านั้นก็ยังมีข้อโต้แย้งในการใช้ดาราแห่งเดวิดแดง โดยหน่วยปฐมพยาบาลมาเกนเดวิดอาดอม (Magen David Adom-MDA) ซึ่งเป็นสมาคมหน่วยปฐมพยาบาลของอิสราเอล “ตราเพชรแดง” จึงได้สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองข้อโต้แย้งและทำให้รับหน่วยปฐมพยาบาลมาเกนเดวิดอาดอมเข้ามาในขบวนการได้

ประวัติของตราสัญลักษณ์

[แก้]

ตราสัญลักษณ์ที่ใช้ในปัจจุบัน

[แก้]


ธงชาติสวิสเซอร์แลนด์ที่เป็นที่มาของตราสัญลักษณ์ของกาชาด
ตรากางเขนแดง, กากบาทแดง หรือ กาชาด (Red Cross)
กางเขนแดงเป็นตราที่ได้รับอนุมัติให้ใช้อย่างเป็นทางการในเจนีวาเมื่อปี ค.ศ. 1863[1]

ธงของกาชาดเป็นคนละธงกับกางเขนนักบุญจอร์จซึ่งเป็นธงชาติอังกฤษ, บาร์เซโลนา, ไฟรบวร์ก และสถานที่อื่นๆ เพื่อป้องกันการสับสนบางครั้ง กากบาทแดงจึงเรียกว่า “กางเขนกรีกแดง” (Greek Red Cross) ซึ่งเป็นคำที่ใช้ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาในการบรรยายองค์การกาชาด กางเขนนักบุญจอร์จเป็นกางเขนที่ปลายกางเขนจรดขอบธง แต่กากบาทแดงของกาชาดเป็นกากบาท หรือ กางเขนลอยที่ปลายไม่จรดขอบธง

ธงกาชาดมักจะสับสนกับธงชาติสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นธงชาติที่มีสีกลับกันในปี ค.ศ. 1906 เมื่อตุรกีโต้ว่าสัญลักษณ์ของกาชาดมีบ่อเกิดมาจากสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนา ทางกาชาดจึงได้ตัดสินใจก่อตั้งธงกาชาดโดยการกลับสีธงชาติสวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งที่มาของการกระทำดังกล่าว[2].

ตราเสี้ยววงเดือนแดง (Red Crescent)
“ตราเสี้ยววงเดือนแดง” เริ่มใช้โดยอาสาสมัครของกาชาดระหว่างความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซีย และ ตุรกี ระหว่างปี ค.ศ. 1877 ถึงปี ค.ศ. 1878 (Russo-Turkish War (1877-1878)) ตราได้รับการอนุมัติให้ใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1929 และในปัจจุบันรัฐอิสลาม 33 รัฐยอมรับตรานี้เป็นสัญลักษณ์


ตราเพชรแดง (Red Crystal)
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2005 ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการตอบสนองความกดดันในการยอมรับหน่วยปฐมพยาบาลมาเกนเดวิดอาดอมเข้ามาเป็นสมาชิกเต็มตัวในองค์การที่เพิ่มมากขึ้น ขบวนการกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงนานาชาติ[ต้องการอ้างอิง] จึงได้อนุมัติตราสัญลักษณ์ใหม่ที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “ตราทางการที่สาม” (Third Protocol Emblem) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ตราเพชรแดง” (Red Crystal)

ตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการอนุมัติแต่มิได้ใช้

[แก้]

ตราสิงห์และอาทิตย์แดง (Red Lion and Sun)
สมาคมสิงห์และอาทิตย์แดงแห่งอิหร่าน” (Red Lion and Sun Society) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1922 และเข้าเป็นสมาชิกของกาชาดในปี ค.ศ. 1923[3] แต่บางรายงานกล่าวว่าสัญลักษณ์ได้รับการเสนอที่เจนีวาในปี ค.ศ. 1864[4] เพื่อเป็นตราของตนเองที่ไม่ใช่ทั้งสองตราที่มีอยู่แล้วที่เป็นตราที่ใช้โดยประเทศปฏิปักษ์ของอิหร่าน--จักรวรรดิออตโตมัน และ จักรวรรดิรัสเซีย แม้ว่าการอ้างจะไม่ตรงกับประวัติของกาชาด และเสนอว่าตราสิงห์และอาทิตย์แดงก็เช่นเดียวกับ “ตราเสี้ยววงเดือนแดง” ที่เป็นตราที่คิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1877 ถึงปี ค.ศ. 1878 ระหว่างความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และ ตุรกี

ในปี ค.ศ. 1980 เนื่องจากตราสิงห์และอาทิตย์แดงมีความเกี่ยวข้องกับชาห์ รัฐบาลใหม่ของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านจึงหันมาใช้ “ตราเสี้ยววงเดือนแดง” เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศมุสลิมอื่นๆ แม้ว่าการใช้ “ตราสิงห์และอาทิตย์แดง” จะได้รับการยกเลิกไปแล้วแต่อิหร่านก็ยังสงวนสิทธิในการนำตรานี้กลับมาใช้ได้อีก อนุสัญญาเจนีวายังคงถือว่าเป็นตราที่ถูกต้องตามข้อตกลง[ต้องการอ้างอิง]

ตราที่ไม่ได้รับการอนุมัติ

[แก้]

ตราดาราแห่งเดวิดแดง(Red Star of David)
อิสราเอลทำการยื่นคำร้องขอให้เพิ่มดาราแห่งเดวิดสีแดงเป็นตราของกาชาดเป็นเวลากว่า 50 ปีโดยให้เหตุผลว่าในเมื่อตราของคริสเตียนและมุสลิมได้รับการอนุมัติได้ ตราของชาวยิวจึงควรจะเป็นตราที่ได้รับการอนุมัติเช่นกัน ดาราแห่งเดวิดสีแดงเป็นตราที่ใช้โดยหน่วยปฐมพยาบาลมาเกนเดวิดอาดอม ที่เป็นหน่วยปฐมพยาบาลแห่งชาติของอิสราเอล แต่ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ

ขบวนการกากบาทแดงและเสี้ยววงเดือนแดงนานาชาติไม่ยอมรับข้อเสนอเรื่อยมา โดยอ้างว่ากากบาทแดงมิได้หมายถึงสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนา แต่เป็นสีที่กลับกันกับธงชาติสวิตเซอร์แลนด์ และถ้าทำการอนุมัติให้แก่ชาวยิวหรือกลุ่มอื่นแล้ว ก็จะเป็นตัวอย่างให้กลุ่มศาสนาอื่นๆ ทำการร้องขอกันไปตามๆ กัน และให้เหตุผลว่าการจำแนกตราขึ้นหลายตรา จะทำให้ความหมายดั้งเดิมของกาชาดที่ตั้งไว้ลดความสำคัญลง ที่ตั้งใจจะให้เป็นตราเดียวที่ใช้ปกป้องยานพาหนะ หรือสิ่งก่อสร้างจากการถูกทำลายในการต่อสู้

ประเทศอาหรับบางประเทศเช่นซีเรีย ประท้วงการรับหน่วยปฐมพยาบาลมาเกนเดวิดอาดอมเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งทำให้การออกเสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ไม่สามารถจะทำได้ แต่ระหว่างปี ค.ศ. 2000 ถึง ค.ศ. 2006 กาชาดอเมริกันไม่ยอมส่งเงินค่าธรรมเนียมจำนวนราว $42 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่กาชาดเพราะกาชาดไม่ยอมรับหน่วยปฐมพยาบาลอิสราเอลเข้าเป็นสมาชิก[1] ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการสร้าง “ตราเพชรแดง” ขึ้นเพื่อการนี้ และการยอมรับหน่วยปฐมพยาบาลมาเกนเดวิดอาดอมเข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 2006

ดาราแห่งเดวิดสีแดงเป็นตราที่ไม่ได้รับการพิทักษ์นอกอิสราเอล ฉะนั้นหน่วยปฐมพยาบาลอิสราเอลจึงใช้ “ตราเพชรแดง” ระหว่างการปฏิบัติการนอกประเทศเพื่อที่จะได้รับการพิทักษ์

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-28. สืบค้นเมื่อ 2009-09-06.
  2. "From Solferino to Tsushima", Pierre Boissier
  3. "History of the Iranian Red Crescent Society (IRCS) (IRCS website, in English)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2009-09-06.
  4. "IRCS website, in Persian". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-04. สืบค้นเมื่อ 2009-09-06.

ดูเพิ่ม

[แก้]