ด้านหน้าอาคาร
โดยทั่วไปแล้ว ด้านหน้าอาคาร หรือ ฟะซาด (อังกฤษ: facade /fəˈsɑːd/; ฝรั่งเศส: façade [fasad]) คือส่วนด้านนอกอาคารด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งมักจะอยู่ทางด้านหน้า คำว่า ฟะซาด มีที่มาจากภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า "ส่วนหน้า" หรือ "ใบหน้า"
ในทางสถาปัตยกรรม ด้านหน้าอาคารคือมุมมองที่สำคัญที่สุดในการออกแบบเนื่องจากเป็นส่วนที่กำหนดรูปแบบลักษณะส่วนที่เหลือของอาคาร และในทางวิศวกรรมศาสตร์แล้ว ด้านหน้าของอาคารก็ยังมีความสำคัญอย่างมากต่อการอนุรักษ์พลังงาน[1] ทั้งนี้ระเบียบและกฎหมายท้องถิ่นเกี่ยวกับผังเมืองในอดีตจำกัดหรือแม้กระทั่งไม่อนุญาตให้มีการออกแบบด้านหน้าอาคารแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้
นิรุกติศาสตร์
[แก้]คำว่า ฟะซาด มีที่มาจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมีที่มาจากภาษาอิตาลี ฟัชชีอาตา (facciata มาจากคำว่า faccia ที่แปลว่าใบหน้า) และภาษาละตินหลังยุคคลาสสิก ฟาซซีอา (facia) ซึ่งคำศัพท์นี้ถูกกล่าวถึงในครั้งแรกสุดโดยพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด ในปี พ.ศ. 2199[2]
ในสถาปัตยกรรมจอร์เจียน
[แก้]ในสมัยสถาปัตยกรรมจอร์เจียน อาคารเก่าในเมืองต่าง ๆ ของอังกฤษมักถูกปรับปรุงให้มีด้านหน้าอาคารที่ทันสมัยขึ้น เช่น ในเมืองบาธ ด้านหน้าของอาคารหลายหลังบนถนนเวสต์เกตมีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมจอร์เจียนซึ่งมีความหนาเพียงไม่กี่เซนติเมตร แต่ลักษณะสถาปัตยกรรมภายในบางส่วนยังคงเป็นแบบจาโคเบียน เช่น เพดานปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น[3]
อาคารสูง
[แก้]ในอาคารสูง ส่วนนอกของอาคารมักถูกสร้างขึ้นจากการยึดไว้กับพื้นคอนกรีตแผ่นแบน เช่น ระบบโครงสร้างผนังกระจก และระบบกำแพงคอนกรีตหล่อสำเร็จ ดังนั้นด้านหน้าของอาคารอาจจำเป็นต้องได้รับการจัดระดับความทนไฟ เพื่อลดโอกาสที่เปลวเพลิงที่ลุกไหม้อยู่ ณ อาคารหนึ่งจะลุกลามไปยังอีกอาคารหนึ่ง ในกรณีที่อาคารสูงสองอาคารตั้งอยู่ใกล้กัน[4]
โดยทั่วไปแล้ว ระบบด้านนอกอาคารที่ยึดไว้กับคอนกรีตแบนหล่อสำเร็จ จะถูกทำขึ้นจากอะลูมิเนียมหรือเหล็กกล้าไร้สนิม ซึ่งในช่วงหลัง ๆ มานี้ก็ปรากฏการใช้วัสดุราคาแพงอย่างไทเทเนียมด้วยเช่นกัน แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากต้นทุนที่สูงและมักจะเกิดการตกสีบริเวณปลายขอบ
ส่วนการออกแบบมักคำนึงถึงระบบป้องกันอัคคีภัยด้วยอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่ได้รับการจัดระดับความทนไฟก็ตาม เนื่องอะลูมิเนียมสามารถหลอมเหลวที่อุณหภูมิ 660 องศาเซลเซียส (1,220 องศาฟาเรนไฮต์) ได้โดยง่ายแม้เพลิงเพิ่งจะลุกไหม้ไปได้ไม่นาน ดังนั้นยังต้องมีการคำนึงถึงวัสดุป้องกันการลามไฟบริเวณรอยต่อของอาคารอีกด้วย ทั้งนี้การติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่มีผลกระทบอย่างมากต่อระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคารที่มีโครงสร้างผนังกระจกด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้แล้ว กฎหมายควบคุมอาคารยังได้กำหนดอัตราร้อยละของพื้นที่หน้าต่างต่อพื้นที่กำแพงส่วนนอกอาคาร และในบางครั้งผู้ออกแบบอาจเลือกใช้หน้าต่างและประตูทนไฟเพื่อคงระดับความทนไฟของกำแพงผนังไว้อีกด้วย
ฉากถ่ายภาพยนตร์และสวนสนุก
[แก้]หลายอาคารที่ถูกสร้างในฉากภาพยนตร์และสวนสนุกถูกเรียกเพียงว่า ฟะซาด ซึ่งมีต้นทุนในการก่อสร้างถูกกว่าอาคารทั้งหลังอยู่มากและไม่ถูกควบคุมโดยกฎหมายควบคุมอาคาร (ในกรณีฉากภาพยนตร์) ซึ่งฉากภาพยนตร์ในลักษณะนี้มักถูกสร้างขึ้นเพียงด้านหน้าของอาคารและยึดไว้โดยโครงค้ำยันอยู่ทางด้านหลัง และในบางครั้งมีกล่องไว้ให้นักแสดงได้เหยียบเดินเข้าออกอาคารทางด้านหน้าหากจำเป็นสำหรับภาพยนตร์นั้น ๆ ส่วนด้านของสวนสนุก มักจะนำด้านหน้าอาคารนี้ไปตกแต่งตามเครื่องเล่นต่าง ๆ โดยออกแบบเป็นรูปอาคารแบบเรียบง่าย
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ด้านหน้าของอาคาร ณ สวนเบล็ทช์ลีย์ ในสหราชอาณาจักร ประสมประสานไปด้วยสถาปัตยกรรมหลายรูปแบบ
-
ด้านหน้าอาคารในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก
-
ด้านหน้าอาคารที่ทำการเมืองคอยนอ โปแลนด์
-
ร้านหนังสือแพรีไลท์สในไอโอวาซิตี ซึ่งด้านหน้าอาคารออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมแบบซีเซสชันเพื่อให้มีลักษณะเหมือนกับใบหน้าคน
-
บ้านผีสิงในสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ ซึ่งประกอบด้วยตัวอาคารและ ฟะซาด ภายนอกอาคาร
-
การรื้อถอนด้านหน้าอาคารในเยอรมนี
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ Boswell, Keith. "Exterior Building Enclosures". John Wiley & sons, Inc, 2013, p. 11
- ↑ "façade, n.". Oxford English dictionary (Second, online ed.). Oxford University Press. December 2011 [1989]. (ต้องสมัครสมาชิก)
- ↑ Jean Manco. Bath's lost era, "Bath and the Great Rebuilding", Bath History vol. 4, (Bath 1992). First published in Bath City Life Summer 1992. Retrieved 22 June 2010
- ↑ genispec.com/fr/inspection-de-facades-de-batiment-montreal-requise-par-la-rbq-loi-122/
อ้างอิง
[แก้]- Façades: Principles of Construction. โดยอูลริช คนาอัค, ทิลล์มันน์ ไคลน์, มาร์เซล บิโลว์ และโธมัส เอือร์. บอสตัน/บาเซิล/เบอร์ลิน: แบร์กเฮาเซอร์-แวร์ลัก, พ.ศ. 2550. ISBN 978-3-7643-7961-2 (เยอรมัน) ISBN 978-3-7643-7962-9 (อังกฤษ)
- เว็บไซต์เกี่ยวกับการออกแบบและสถาปัตยกรรม (อังกฤษ)
เนื้อหาเพิ่มเติม
[แก้]- Façade. สารานุกรมคาทอลิก เล่มที่ 5. โดยพูล, โธมัส. นิวยอร์ก: บริษัทโรเบิร์ต แอปเปิลตัน, พ.ศ. 2452. - แนวบทความเกี่ยวกับพัฒนาการของด้านหน้าอาคารในสถาปัตยกรรมทางศาสนาตั้งแต่คริสต์ศักราชช่วงต้นไปจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (อังกฤษ)