ดอนัลด์ จั๊ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โดนัลด์ จาง
Donald Tsang
ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง คนที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
21 มิถุนายน 2548 – 30 มิถุนายน 2555
ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา
หัวหน้ารัฐบาลเวิน เจียเป่า
ก่อนหน้าต่ง เจี้ยนหฺวา
ถัดไปเหลียง ชุนหยิง
รัฐมนตรีใหญ่ฝ่ายบริหาร
ดำรงตำแหน่ง
1 พฤษภาคม 2544 – 31 พฤษภาคม 2548
ผู้บริหารสูงสุดต่ง เจี้ยนหฺวา
ก่อนหน้าอันซอน ชาน
ถัดไปราฟาเอล ฮุย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ
ดำรงตำแหน่ง
1 กรกฎาคม 2540 – 30 เมษายน 2544
ผู้บริหารสูงสุดต่ง เจี้ยนหฺวา
ถัดไปแอนโธนี เหลียง
ดำรงตำแหน่ง
1 กันยายน 2538 – 30 มิถุนายน 2540
ผู้ว่าการคริส แพตเทิน
ก่อนหน้าฮามิช แมคโครวด์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ดำรงตำแหน่ง
7 พฤษภาคม 2536 – 31 มีนาคม 2538
ผู้ว่าการคริส แพตเทิน
ก่อนหน้าเหยียง ไข่ยุ่น
ถัดไปค๋วง คี่ฉี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
จาง ยิ่งเฉวียน

(1944-10-07) 7 ตุลาคม ค.ศ. 1944 (79 ปี)
ฮ่องกง
คู่สมรสเซริน่า ปู ซุ่ย เม่ (สมรส 1969)
บุตร2
ที่อยู่อาศัย111 Mount Butler Road, Jardine's Lookout
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
วิชาชีพข้าราชการ,นักการเมือง
Originหนานไห่, มณฑลกวางตุ้ง[6]
ลายมือชื่อ

เซอร์โดนัลด์ จั๊ง ยัมขวิ่น (อังกฤษ: Donald Tsang Yam-kuen) หรือ เจิง ยิ่นเฉวียน (เกิด 7 ตุลาคม พ.ศ.2487) เป็นอดีตนักการเมืองฮ่องกงและอดีตผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงในช่วงปี 2548-2555

เดิมโดนัลด์ จาง เป็นข้าราชการที่ทำงานเป็นข้าราชการประจำของฮ่องกง ในช่วงที่ฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ[7] และได้มีโอกาสไต่เต้าตามตำแหน่งจนสามารถขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงชีวิตด้วยการถูกแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจในปี 2538 ซึ่งเป็นชาวฮ่องกงเชื้อสายจีนคนแรกที่รับตำแหน่งนี้ในช่วงการปกครองของอังกฤษ และยังคงทำงานให้กับรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงต่อไปหลังจากอังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงให้กับทางจีน ซึ่งหน้าที่สำคัญของโดนัลด์ จางส่วนมากจะมีบทบาทในทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินเอเชีย 2540 ซึ่งจางต้องพยายามเป็นอย่างมากในการคงค่าเงินดอลล่าร์ฮ่องกงเอาไว้ และยังคงรักษาให้ฮ่องกงยังเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของนักลงทุนเหมือนเดิม

ในปี 2544 โดนัลด์ จาง ได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีใหญ่ด้านการบริหาร และได้รับการสนับสนุนจากคนเป็นวงกว้างในการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงหลังจากการลาออกของต่ง เจี้ยนหฺวาลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2548 จากนั้นก็ลงเลือกตั้งอีกสองครั้งจนกระทั่งลงจากอำนาจเมื่อปี 2555 ซึ่งในสมัยของเขามีการปฏิรูปกฎหมายการเลือกตั้งของฮ่องกงที่ถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยสองครั้ง คือเมื่อปี 2548 และ 2553

อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสมัยของจาง เขาเผชิญข้อครหาเกี่ยวกับการทุจริตและการเอื้อผลประโยชน์หลายอย่าง จนกระทั่ง ICAC อันเป็นองค์กรตรวจสอบการทุจริตของฮ่องกงชี้มูลความผิดและฟ้องต่อศาล และมีคำพิพากษาออกมาในปี 2560 ว่าโดนัลด์ จางมีความผิดและถูกตัดสินโทษ 20 เดือน และกลายเป็นผู้นำฮ่องกงคนแรกที่ถูกตัดสินพิพากษาให้มีความผิดหลังจากฮ่องกงคืนสู่อังกฤษ แม้ว่าในภายหลังศาลอุทธรณ์สูงสุดจะมีคำสั่งกลับคำตัดสินและให้จางเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

โดนัลด์ จางเกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2487 ครอบครัวของเขาแต่เดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง ก่อนจะอพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ที่ฮ่องกง จางได้รับการศึกษาที่ค่อนข้างสูงเมื่อจบมาก็เข้าทำงานเป็นข้าราชการในฮ่องกง และได้มีโอกาสทำงานในด้านที่เกี่ยวกับการเงินและนโยบายการเงิน นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่สนับสนุนการคืนฮ่องกงให้กับจีนอย่างแข็งขันอีกด้วย โดยเขาได้เข้าไปเป็นส่วหนึ่งของตัวแทนเจรจาเพื่อทำปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ ซึ่งมีใจความหลักคือการที่อังกฤษจะส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้จีนตามสัญญา ซึ่งในบทบาทการทำข้อตกลงนั้นโดนัลด์ จางเลยเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น หลังจากนั้นเขาก็ได้ทำงานในหลายกระทรวงของบริติชฮ่องกง ทั้งในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกิจการภายใน และผู้อำนวยการฝ่ายบริหารในสำนักเลขาธิการรัฐบาลฮ่องกง ก่อนจะรับตำแหน่งที่สูงที่สุดคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจในปี 2538 ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการเก็บภาษี และการจัดการทางการเงินของฮ่องกง

บทบาททางการเมือง[แก้]

โดนัลด์ จางได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารระบบการปกครองใหม่ของฮ่องกงในช่วงปี 2545 เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีใหญ่ฝ่ายบริหาร (Chief Secretary for Administration) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับที่สองในรัฐบาลของต่ง เจี้ยนหฺวา ซึ่งเขาก็ทำงานในตำแหน่งนี้ได้ดีและเป็นที่สนับสนุนและเชื่อมั่นของนักลงทุนตลอดจนนักธุรกิจในฮ่องกง ความนิยมของจางเพิ่มสูงขึ้นซึ่งแตกต่างจากต่งที่ความนิยมตกต่ำลง สำนักข่าวหลายสำนักและนักธุรกิจหลายคนต่างเชื่อมั่นว่าโดนัลด์ จางจะเป็นผู้นำคนถัดไป และให้การสนับสนุนมากกว่าต่ง เจี้ยนหวาที่เป็นผู้ว่าการในตอนนั้น

ในที่สุดเมื่อต่ง เจี้ยนหวาลาออกในปี 2548 โดนัลด์ จางที่ได้รับสนับสนุนจากคนหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชนชั้นนำของฮ่องกงและพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้รับตำแหน่งเป็นรักษาการผู้บริหารเขตพิเศษฮ่องกง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเขาโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งชนะโดยไม่มีคู่แข่ง

รัฐบาลสมัยแรก[แก้]

โดนัลด์ จางขึ้นสู่อำนาจในปี 2548 หลังจากการลาออกจากตำแหน่งของต่ง เจี้ยนหฺวา ซึ่งในสมัยแรกของเขาจะยังคงยึดตามวาระของต่งก่อน ทำให้ในสมัยแรกของเขานั้นกินเวลาเพียง 2 ปี (2548-2550)

ซึ่งในสมัยแรกของเขานั้น จางพยายามประณีประนอมกับกลุ่มพรรคการเมืองสายประชาธิปไตยภายในฮ่องกง ซึ่งในช่วงแรกนั้นเขาค่อนข้างเป็นมิตรกับกลุ่มหนุนประชาธิปไตยในสภาเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังหนุนให้คนการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมาทำงานกับรัฐบาลมากขึ้น อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์อันดีนั้นก็ต้องขาดสะบั้นลง เมื่อจางพยายามทำการปฏิรูประบบการเลือกตั้งของฮ่องกงใหม่ โดยการเพิ่มกรรมการการเลือกตั้งจาก 800 มาเป็น 1600 คน และเพิ่มตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติอีก 10 คน โดยแบ่งเป็น 5 คนมาจากการเลือกตั้งทั่วไป และอีก 5 คนมาจากการเลือกของคนที่มีสิทธิเฉพาะ ทั้งนี้ว่าสมาชิกจากฝ่ายประชาธิปไตยไม่เห็นชอบและสภาไม่โหวดผ่านให้กับการปฏิรูปการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เขาหัวเสียเป็นอย่างมาก และมีการกล่าวถึงพวกที่ไม่โหวดผ่านว่าเป็น “สัตว์ที่น่ารังเกียจ”

ทั้งนี้อีกหนึ่งนโยบายสำคัญในสมัยแรกของโดนัลด์ จาง ก็คือการกำจัดมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาระดับชาติในตอนนั้น[8]

รัฐบาลสมัยที่สอง (2550-2555)[แก้]

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 โดนัลด์ จางยังคงได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารฮ่องกงต่อไป ซึ่งในสมัยที่สองนี้จางประกาศเริ่มต้นแผนห้าปี ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของ "การพัฒนาที่ก้าวหน้า" โดยเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความสะดวกสบายของสังคมเมือง และทำให้คุณภาพชีวิตและการเดินทางของคนเมืองเป็นไปด้วยความราบรื่นมากยิ่งขึ้น เมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่มีการอนุมัติไปประกอบด้วย ระบบรถไฟชานเมือง (MTR) สาย Southern District Extension ระบบรถไฟชานเมือง (MTR) ส่วนต่อขยาย Sha Tin ถึง Central Link โครงการสร้างถนนเลี่ยงเมือง Tuen Mun ตะวันตก โครงการสร้างทางรถไฟฮ่องกง-เซินเจิ้น-กวางตุ้ง โครงการสร้างสะพานเชื่อมฮ่องกง-ซูไฮ่-มาเก๊า โครงการสร้างท่าอากาศยานร่วมฮ่องกง-เซินเจิ้น (Hong Kong-Shenzhen Airport Co-operation) โครงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตในนิวเทร์ริทอรีส์ ทั้งนี้แผนนี้ได้มีการยายโครงการมากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เพราะเมกะโปรเจกต์ที่ถูกสร้างขึ้นต้องการแรงงานที่มากขึ้น ซึ่งสามารถจ้างคนมาเป็นแรงงานได้มากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจในตอนนั้น

อย่างไรก็ตามปัญหาทางการเมืองก็ยังเป็นปัญหาที่ลากยาวตลอดสมัยที่สองของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการปฏิรูประบบเลือกตั้งใหม่ ด้วยการเพิ่มคณะกรรมการการเลือกตั้งและสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งประเด็นเรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงมาตั้งแต่สมัยแรกแล้ว และในสมัยที่สองนี้โดนัลด์ จางก็พยายามที่จะผลักดันประเด็นเรื่องนี้ให้ผ่านสภาไปได้ ทั้งการประชาสัมพันธ์ให้กับมวลชนและการเดินสายพูดคุยตามที่ต่างๆ ถึงกระนั้นแบบสำรวจที่ออกมาในตอนนั้นก็มองว่าประชาชนกว่าร้อยละ 45 ไม่เห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลงกฎการเลือกตั้งนี้[9] ถึงกระนั้นด้วยแรงกดดันจากทางรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่และการเดินหน้าพูดคุยนอกรอบก็ทำให้การปฏิรูปครั้งนี้เกิดขึ้นได้สำเร็จ โดยเพิ่มสมาชิกคณะกรรมการการเลือกตั้งจาก 800 เป็น 1200 คน และเพิ่มสมาชิกสภานิติบัญญัติ 10 คน

ปัญหาการทุจริต[แก้]

ในช่วงปลายสมัยของจาง เขานั้นเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตและการเอื้อผลประโยชน์ โดยมาจากการตั้งข้อสังเกตเรื่อง การที่จางเสนอในที่ประชุมทำเนียบเขตปกครองพิเศษให้พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาต ให้คหบดีชื่อ “หว่อง ฉอปิว” เปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงออกอากาศระบบดิจิทัลที่ปิดตัวไปแล้ว และไม่นานต่อจากนั้นจางก็ได้ซื้อบ้านหรูของหว่อง ฉอปิวที่เซินเจิ้น[10] ปัญหาการทุจริตและการประพฤติมิชอบนี้เป็นที่โจมตีของคนในสภาและศัตรูทางการเมืองของจางอย่างมาก จนในที่สุดโดนัลด์ จางก็ต้องลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารฮ่องกงในวันที่ 30 มิถุนายน 2555

หลังจากลงจากอำนาจ ในปี 2558 ICAC อันเป็นองค์กรตรวจสอบการทุจริตในฮ่องกงชี้มูลความผิด และส่งเรื่องนี้ต่อศาล “ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ” โดยให้จำคุก 20 เดือน ทำให้เขาเป็นผู้บริหารเกาะฮ่องกงคนแรกที่ได้รับคำพิพากษาคดีอาญาจากการบริหารฮ่องกง

แต่ภายหลังศาลสูงสุดของฮ่องกง ได้กลับคำพิพากษาและปล่อยตัวเขาเป็นอิสระ ในปี 2562

อ้างอิง[แก้]

  1. "Hong Kong". Parliamentary Debates (Hansard). Vol. 1283–4. Parliament of the United Kingdom: House of Commons. 27 June 2005.
  2. "Sir Donald Tsang". Parliamentary Debates (Hansard). Vol. 878. Parliament of the United Kingdom: House of Commons. 12 July 2005.
  3. "Hong Kong". Parliamentary Debates (Hansard). Vol. 736. Parliament of the United Kingdom: House of Commons. 2005-10-17.
  4. "Legislative Council of Hong Kong – Meeting record, bottom of the page listed: "Patron: The Honourable Sir Donald Tsang, GBM, KBE"" (PDF). Legislative Council of Hong Kong. 2011. สืบค้นเมื่อ 31 October 2017.
  5. "Donald TSANG Yam Kuen - Citation - HKU Honorary Graduates". HKU (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 13 May 2022.
  6. "曾荫权家乡南海九江镇变成旅游热点" (ภาษาChinese (China)). China Internet Information Center. 17 June 2005. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 May 2015. สืบค้นเมื่อ 11 June 2009.
  7. "A Rarity in Hong Kong: Budget Is in Deficit". The New York Times. Reuters. 7 March 1996. สืบค้นเมื่อ 11 July 2012.
  8. Jonathan Cheng (4 December 2006). "Lot of hot air on pollution, claims Tien". The Standard. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 October 2007. สืบค้นเมื่อ 13 March 2007.
  9. Bloomberg (18 June 2010). "Hong Kong's Tsang Loses Democracy Debate, Polls Show (Update1)"[ลิงก์เสีย], Bloomberg BusinessWeek
  10. [1]


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน