ฐานทัพเรือเรียม
ฐานทัพเรือเรียม | |
---|---|
ส่วนหนึ่งของกองทัพเรือกัมพูชา | |
จังหวัดพระสีหนุ | |
ประตูทางเข้าฐานทัพเรือเรียม | |
พิกัด | 10°30′26″N 103°36′43″E / 10.50722°N 103.61194°E |
ประเภท | ฐานทัพเรือ |
ข้อมูล | |
เจ้าของ | กองทัพเรือกัมพูชา |
ผู้ดำเนินการ | กองทัพเรือกัมพูชา กองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชน (พฤตินัย) |
ประวัติศาสตร์ | |
สร้าง | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565 (บูรณะและขยาย) |
สร้างโดย | บริษัท ไชน่า เมทัลลูร์จิคัล กรุ๊ป จำกัด (บูรณะและขยาย) |
ฐานทัพเรือเรียม (อังกฤษ: Ream Naval Base; เขมร: មូលដ្ឋានទ័ពជើងទឹករាម) เป็นฐานทัพที่ดำเนินการโดยกองทัพเรือกัมพูชาบนชายฝั่งอ่าวไทยในจังหวัดพระสีหนุ ประเทศกัมพูชา ฐานทัพมีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 190 เอเคอร์[1] ตั้งอยู่บนคาบสมุทรทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองหลวงของจังหวัด คือ กรุงพระสีหนุ
ประวัติ
[แก้]เนื่องจากการเน้นการสู้รบภาคพื้นดินในช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชา กองทัพเรือของรัฐบาลจึงถูกละเลย ในช่วงการรัฐประหารที่ทำให้ ลอน นอล ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลในปี พ.ศ. 2513 ฐานทัพเรือเรียมอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก มีท่าเทียบเรือหนึ่งท่าที่อยู่ในสภาพชำรุด ไม่มีระบบสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงที่มีประสิทธิภาพ ในปี พ.ศ. 2517 รัฐบาลของ ลอน นอล ร่วมกับกองทัพเรือแห่งชาติเขมร (Khmer National Navy: MNK) และกองทัพเรืออังกฤษได้ปรับปรุงฐานทัพแห่งนี้ขนานใหญ่ โดยดำเนินการหลายอย่าง ได้แก่ จัดหาเรือเร็วตรวจการณ์ (PCF) (Swift Boats) พร้อมติดตั้งเรดาร์ที่สร้างขึ้นใหม่ 20 ลำ ประจำการเรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำ (PBR) จำนวน 4 ลำที่บริเวณท่าเรือกำปงโสม (พระสีหนุ) ยกเครื่องเรือขนาดหนักทั้งหมดในคลัง จัดหาอู่ซ่อมเรือลอยน้ำใหม่ของฐานทัพ ปรับปรุงอุปกรณ์ซ่อมฐานทัพเรียม รวมถึงติดตั้งระบบสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างท่าเทียบเรือและฐานทัพใหม่ให้เสร็จสมบูรณ์ ฐานทัพที่ปรับปรุงใหม่นี้ทำให้กองทัพเรือกัมพูชาสามารถทำหน้าที่ลาดตระเวนและเฝ้าระวังแนวชายฝั่งกัมพูชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้กองทัพเรือเวียดนามใต้ (VNN) ได้เข้ามาใช้ฐานทัพดังกล่าวที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ แผนการสร้างโรงไฟฟ้าและจัดหาเรือลาดตระเวนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีอาวุธที่ดีขึ้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากสาธารณรัฐเขมรพ่ายแพ้ต่อเขมรแดงในปี พ.ศ. 2518
นับตั้งแต่การขับไล่เขมรแดงออกไปในปี พ.ศ. 2522 และการสถาปนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในที่สุด รัฐบาลได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการสร้างฐานทัพเรือที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเรือเอกอุก เซย์ฮา รองผู้บัญชาการกองทัพเรือกัมพูชา[2]
ในปี พ.ศ. 2553 ฐานทัพแห่งนี้เป็นสถานที่ฝึกซ้อมรบร่วมกันทางเรือร่วมกันระหว่างกัมพูชาและสหรัฐภายใต้โครงการความร่วมมือและการฝึกความพร้อมรบทางเรือ (CARAT)[3] อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 อาคารที่ได้รับทุนจากสหรัฐ หนึ่งในสองหลังในฐานทัพเรือถูกทำลาย เนื่องจากฐานทัพแห่งนี้กำลังถูกปรับเปลี่ยนโดยรัฐวิสาหกิจของจีนให้เป็นศูนย์กลางปฏิบัติการหลักของกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People's Liberation Army Navy: PLAN)[4][5]
ในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565 กัมพูชาได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อบูรณะและต่อขยายฐานทัพเรือเรียม โดยมีนายเตีย บัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาและเอกอัครราชทูตจีนทำพิธีร่วมกัน[6]
ฐานทัพเรือจีน
[แก้]ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐ ได้เห็นข้อตกลงลับที่อนุญาตให้กองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้าถึงฐานทัพเรือเรียมประมาณหนึ่งในสามได้นานถึง 30 ปี[7] ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้จีนมีฐานทัพทางใต้แห่งใหม่ในทะเลจีนใต้ และเป็นฐานทัพเรือในต่างแดนแห่งที่สองของจีน รองจากฐานทัพในจิบูตี การที่กองทัพต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพเช่นนี้ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญของกัมพูชา รวมถึงข้อตกลงสันติภาพปารีสในปี พ.ศ. 2534 ที่ยุติสงครามกลางเมืองกัมพูชา[1][8][9] เจ้าหน้าที่กัมพูชาปฏิเสธการมีอยู่ของข้อตกลงดังกล่าว โดยเรียกข้อตกลงดังกล่าวว่าเป็น "ข่าวปลอม"[1] แต่ในปี พ.ศ. 2564 รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชาได้ยอมรับว่าจีนกำลังช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เรียม และยังคงยืนยันว่าไม่มีเงื่อนไขผูกมัดใด ๆ[10]
การที่จีนประจำการอยู่ที่ฐานทัพเรือเรียมนั้น ถูกประณามโดย นายสม รังสี อดีตหัวหน้าฝ่ายค้านกัมพูชาและหัวหน้าคนสุดท้ายของพรรคสงเคราะห์ชาติ ก่อนที่ศาลฎีกากัมพูชาจะยุบพรรค[9] ในบทความสำหรับ Foreign Affairs นายรังสีได้บรรยายถึงการที่จีนประจำการอยู่ที่ฐานทัพเรือเรียมว่าเป็น "ภัยคุกคามร้ายแรงต่อเสถียรภาพในภูมิภาค" และระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนโดยรวมของรัฐบาลจีนในการสร้างกำลังทหารบนชายฝั่งกัมพูชา ควบคู่ไปกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานอันทะเยอทะยานในจังหวัดเกาะกงซึ่งเป็นจังหวัดใกล้เคียง[9]
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 พลเรือโท วาน บุนเลียง กล่าวว่างานขุดลอกกำลังดำเนินการอยู่รอบ ๆ ฐานทัพนั้นขุดเพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน การขยายกำลังดำเนินการโดย บริษัท ไชน่า เมทัลลูร์จิคัล กรุ๊ป จำกัด (China Metallurgical Group Corporation) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 องค์กรริเริ่มเพื่อความโปร่งใสด้านการเดินเรือในเอเชีย (Asia Maritime Transparency Initiative หรือ AMTI) ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์การศึกษาเชิงกลยุทธ์และระหว่างประเทศ รายงานว่ามีเรือขุดลอกแบบปุ้งกี๋งับของจีนอยู่ใกล้ฐานทัพ[11] AMTI รายงานอีกว่าว่ามีกิจกรรมก่อสร้างที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนในฐานทัพ[12][11]
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ได้มีการเปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงและขยายฐานทัพเรือเรียมของกองทัพเรือกัมพูชา โดยมีการขยายเนื้อที่ออกไปประมาณ 75 เอเคอร์ มีการก่อสร้างสะพานยาวสำหรับเทียบท่าเรือบรรทุกเครื่องบินได้ในด้านยาวซึ่งมีความยาวประมาณ 330 เมตร และด้านที่สั้นกว่าคือ 250 เมตร สามารถเทียบท่าเรือรบอื่น ๆ ของกองทัพเรือจีน นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างถังเก็บเชื้อเพลิงขนาดใหญ่จำนวน 4 ถัง แต่ละถังมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เมตร ซึ่งเป็นการพัฒนาที่รวดเร็วมากนับตั้งแต่การทำพิธีเปิดฐานทัพเรือเรียมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและเอกอัครราชทูตจีนเข้าร่วมพิธีด้วย[13]
กองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนและกองทัพเรือกัมพูชาได้ดำเนินการฝึกซ้อมรบร่วมกันครั้งแรกในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 โดยได้ส่งเรือรบจำนวน 2 ลำเข้ามาจอดเทียบท่าอยู่ที่ฐานทัพเรือเรียม โดยการฝึกร่วมดังกล่างได้สร้างความหนักใจให้กับสหรัฐเป็นอย่างมาก ซึ่งมีการเปิดเผยว่ากองทัพเรือกัมพูชามีแผนจะขยายฐานทัพเรือเรียมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นอีก 5 เท่าตัว ให้สามารถรองรับเรือรบที่มีระวางขับน้ำสูงถึง 5,000 ตัน[14]
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ได้มีการเปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมในบริเวณฐานทัพเรือเรียม แสดงให้เห็นว่ามีการก่อสร้างอู่แห้งแห่งใหม่ขึ้น มีความยาวประมาณ 140 เมตร รวมถึงมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือใหม่ความยาว 270 เมตรในบริเวณทิศใต้ของฐานทัพเรือ โดยโทมัส ชูการ์ต นักวิจัยอาวุโสของศูนย์ความมั่นคงใหม่สหรัฐฯ ระบุงว่าความยาว 140 เมตรนั้นสั้นเกินไปสำหรับเรือของกองทัพจีน แต่มีขนาดพอดีสำหรับเรือดำน้ำจีน ซึ่งจากข้อมูลแล้วจีนมีเรือดำน้ำประจำการอยู่ประมาณ 60 ลำ แต่และส่วนใหญ่จะมีความยาวไม่เกิน 100 เมตร ซึ่งอู่แห้งดังกล่าวมีรูปร่างเหมือนกันกับสิ่งอำนวยความสะดวกในฐานทัพเรือจีนในชิงเต่า ทำให้มีเหตุผลเชื่อได้ว่าฐานทัพเรือเรียมอาจจะเป็นฐานสำหรับซ่อมบำรุงเรือดำน้ำที่ใกล้กว่าหากผ่านช่องแคบมะละกาเมื่อเทียบกันกับฐานทัพเรือดำน้ำที่ใกล้ที่สุดของจีนในไหหลำ[15]
ความกังวล
[แก้]หลายประเทศแสดงความกังวลต่อท่าทีจีนในการเข้ามาพัฒนาฐานทัพเรือแห่งนี้ โดยเอช.ไอ. ซัตตัน บล็อกเกอร์ทางการทหารได้ให้ความเห็นว่าการปรับปรุงนี้เกินกว่าศักยภาพของกองทัพเรือกัมพูชาซึ่งมีเรือรบในประจำการความยาวสูงสุดไม่เกิน 50 เมตร จึงไม่ต้องสงสัยว่าฐานทัพเรือแห่งนี้ปรับปรุงเพื่อรองรับกองทัพเรือจีน[13]
ขณะที่ ศาตราจารย์ ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสถาบันอาเซียนศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเห็นอย่างชัดเจนว่าไทยจะต้องวิตกต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เนื่องจากการเพิ่มศักยภาพของกองทัพเรือกัมพูชานี้ส่งผลโดยตรงต่อพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของไทยและกัมพูชา ที่มีการสำรวจพบว่ามีพลังงานธรรมชาติอยู่ใต้ผืนน้ำ รวมถึงการที่จีนเข้ามามีอิทธิพลในกัมพูชาส่งผลให้สหรัฐอาจจะดำเนินการทางยุทธศาสตร์ต่อไทยมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลจีน[13]
ดิพโพลแมตได้รายงานว่ารัฐบาลไทยมีความกังวลโดยมองว่าการปรับปรุงฐานทัพเรือเรียมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนของจีนที่เกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งของกัมพูชา ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยได้ระบุบนเว็บไซต์ว่าโครงการดาราสาคร (Dara Sakor) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนโดยตั้งอยู่ในจังหวัดเกาะกงที่ติดอยู่กับจังหวัดตราดของไทย[13]
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยเคยออกรายงานวิชาการเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ของฐานทัพเรือเรียมในชื่อว่า ฐานทัพเรือเรียม กับความกังวลใจด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐกังวลเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ความมั่นคงอีกแห่งของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2565 สหรัฐได้เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาแสดงความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการฐานทัพเรือเรียมหลังจากมีการเปิดเผยจาก พลเอก เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่าโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน[6]
นอกจากนี้ ฐานทัพเรือเรียมยังตั้งอยู่ห่างจากประเทศเวียดนามเพียง 30 กิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับฐานทัพเรือของเวียดนาม โดยประเทศทั้งสองเป็นคู่ขัดแย้งกันในปัญหาข้อพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้[15]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Deal for Naval Outpost in Cambodia Furthers China’s Quest for Military Network เก็บถาวร 2022-07-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Wall Street Journal, 22 July 2019. ProQuest 2260968000
- ↑ "Australia continues defence cooperation with Cambodia". Phnom Penh Post. Phnom Penh, Cambodia: Post Media Co Ltd. 26 Jan 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 December 2013. สืบค้นเมื่อ 24 Nov 2013.
- ↑ Turton, Shaun; Dara, Mech (October 3, 2020). "Cambodia naval base set to undergo China-led expansion". Nikkei Asian Review. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 6, 2020. สืบค้นเมื่อ October 10, 2020.
- ↑ Chang, Agnes; Beech, Hannah (2024-07-14). "The Chinese Base That Isn't There". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-07-14. สืบค้นเมื่อ 2024-07-15.
- ↑ 6.0 6.1 ฐานเศรษฐกิจ (2024-04-24). "หวัง อี้ เยือนกัมพูชา จุดประเด็นร้อน "ฐานทัพเรือเรียม-อิทธิพลจีน" ในอ่าวไทย". thansettakij.
- ↑ "China secretly building PLA naval facility in Cambodia, Western officials say". The Washington Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-08. สืบค้นเมื่อ 2022-06-07.
- ↑ Hutt, David (2019-07-22). "Cambodia, China ink secret naval port deal: report". Asia Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-07-10. สืบค้นเมื่อ 2024-07-10.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Rainsy, Sam (10 June 2020). "China Has Designs on Democracy in Southeast Asia". Foreign Affairs (ภาษาEnglish). Council on Foreign Relations. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 March 2022. สืบค้นเมื่อ 14 June 2020.
{{cite news}}
: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์) - ↑ Sun Narin (3 June 2021), "Defense Minister Says China Helping with Ream Overhaul, But 'No Strings Attached", Voice of America, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 August 2022, สืบค้นเมื่อ 22 January 2022
- ↑ 11.0 11.1 Dredgers spotted at Cambodia's Ream Naval Base, Center for Strategic and International Studies, 21 January 2022, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 August 2022, สืบค้นเมื่อ 22 January 2022
- ↑ Update: China continues to transform Ream Naval Base, Center for Strategic and International Studies, 12 August 2021, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 July 2022, สืบค้นเมื่อ 22 January 2022
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 "สุดอึ้ง! ภาพดาวเทียมใหม่พบ "ฐานทัพเรือเรียม" ฐานลับทหารจีนในกัมพูชาใกล้ตราด "ผุดท่าจอดเรือบรรทุกเครื่องบิน" ผู้เชี่ยวชาญเตือน "ไทย" ระวังให้ดีพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย". mgronline.com. 2023-11-17.
- ↑ "'ฐานทัพเรือเรียม' ในกัมพูชา แค่สัญลักษณ์ร่มเงาอิทธิพลจีน หรือที่มั่นป้องกันผลประโยชน์ของประเทศ". plus.thairath.co.th.
- ↑ 15.0 15.1 "เวียดนามต้องจับตา! ภาพถ่ายดาวเทียมพบอู่แห้ง-ท่าเรือใหม่ในฐานทัพเรือกัมพูชา คาดใช้รับเรือดำน้ำจีน". mgronline.com. 2024-07-27.