ซินเย่
ซินเย่ 新叶村 | |
---|---|
หมู่บ้าน | |
เจดีย์ถวฺนหยฺวุนและศาลเหวินชาง ในหมู่บ้านซินเย่ | |
พิกัด: 29°19′46″N 119°20′08″E / 29.3295°N 119.3356°E | |
ประเทศ | จีน |
มณฑล | เจ้อเจียง |
นคร | หางโจว |
เทศมณฑล | เจี้ยนเต๋อ |
เมือง | ต้าฉือเยี่ยน (大慈岩镇) |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 1762 |
ผู้ก่อตั้ง | เย่ คุน (叶坤) |
ประชากร | |
• ทั้งหมด | 3,900 คน |
ซินเย่ (จีน: 新叶) เป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์ในเมืองต้าฉือเยี่ยน (จีน: 大慈岩镇) ในนครระดับเทศมณฑลเจี้ยนเต๋อ ก่อตั้งขึ้นใน ราชวงศ์ซ่งใต้ มีชื่อเสียงในด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอาคารที่อยู่อาศัยจากยุค หมิง และยุค ชิง ซินเย่ยังเป็นที่รู้จักในการการอนุรักษ์พิธีบูชาบรรพบุรุษประจำปีใน เทศกาลชางซื่อ ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่มีเพียงไม่กี่ชุมชนในประเทศจีนในปัจจุบันยังคงจัดอยู่ ในปี 2553 ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งชาติของจีน[1]
ที่ตั้ง
[แก้]หมู่บ้านซินเย่ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเทศมณฑลเจี้ยนเต๋อ ทางตะวันตกของมณฑลเจ้อเจียง มีพรมแดนติดกับเทศมณฑลหลานซี และตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเขายู่หฺวา (玉华山) และเขาเต้าเฟิง (道峰山) ทางเข้าหลักคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 330 ห่างจากหมู่บ้าน 6 กิโลเมตร หมู่บ้านนี้อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองต้าฉือเยี่ยนของนครระดับเทศมณฑลเจี้ยนเต๋อ ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของนครหางโจว นครเอกของมณฑลเจ้อเจียง
ประวัติ
[แก้]หมู่บ้านซินเย่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 1762 ในรัชสมัยของ จักรพรรดิซ่งหนิงจง แห่ง ราชวงศ์ซ่งใต้ โดย เย่ คุน (叶坤) ต่อมาหลานชายชื่อ เย่ เค่อเฉิง ( 叶克诚, 1250-1323) ได้ขยายหมู่บ้านออกไป และสร้างหอบรรพบุรุษซีซาน (西山祠堂) ขึ้นบนเนินเขาทางทิศตะวันตกและ หอบรรพบุรุษโหยวฉวี่ (有序堂) ที่ใจกลางหมู่บ้าน
ในปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ 3,900 คน ใช้สกุล 'เย่' ซึ่งสืบเชื้อสกุลจาก เย่ คุน ถึง 29 ชั่วอายุคน และเรียกรวมกันว่าเครือญาติ ยู่หฺวา เย่ ( 玉华叶氏 ) จากชื่อตระกูลและชื่อภูเขาใกล้หมู่บ้าน ในช่วงรุ่นที่แปดหมู่บ้านถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มเครือญาติย่อย ( 派 ) แต่ละกลุ่มสร้างหอบรรพบุรุษของกลุ่มเอง ปัจจุบันมีจำนวน 5 กลุ่มเครือญาติย่อยได้แก่ ฉงเหริน ( 崇仁 ), ฉงจื่อ ( 崇智 ), ฉงเต๋อ ( 崇德 ), ฉงอี้ ( 崇义 ) และ หยูชิ่ง ( 余庆 )
สถาปัตยกรรมที่โดดเด่น
[แก้]สถาปัตยกรรมที่สำคัญของหมู่บ้านซินเย่ ประกอบด้วย หอบรรพบุรุษ 16 แห่ง และบ้านพักอาศัยโบราณสีขาว 230 หลัง ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่อาศัยโบราณกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในจีน รูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายกับหมู่บ้านหงชุนในเมืองฮุ่ยโจว ที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งรวมถึงแหล่งมรดกโลกหงชุน และ ซีตี้
หอบรรพบุรุษซีซาน เป็นหอบรรพบุรุษของหมู่บ้านซินเย่ที่เก่าแก่ที่สุดและปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนประถมศึกษา Xinye Youxu ยังคงใช้เป็นหอบรรพบุรุษหลักของหมู่บ้านซึ่งมีการจัดพิธีที่สำคัญที่สุด แม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่าหอบรรพบุรุษย่อยฉงเหรินก็ตาม สถาปัตยกรรมสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ เจดีย์ถวฺนหยฺวุน ( 抟云塔 ) สร้างในสมัยราชวงศ์หมิง และ ศาลเจ้าเหวินชาง (文昌阁) นอกจากนี้ใกล้หมู่บ้านยังมีวัดศาสนาพุทธซึ่งสร้างขึ้นกลางแนว ผาต่าฉือ (大慈岩) ในสมัยราชวงศ์หยวน[2] [3]
การที่หมู่บ้านซินเย่ตั้งอยู่บนภูเขาที่ห่างไกลทำให้เกิดความรู้สึกแนบแน่นของเหล่าเครือญาติ และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หมู่บ้านสามารถอนุรักษ์วัฒนธรรมของหมู่บ้านได้ไว้อย่างมั่นคง แม้กระทั่งในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม เมื่อมรดกทางวัฒนธรรมของจีนในพื้นที่ต่าง ๆ ถูกทำลายเป็นจำนวนมาก แต่อาคารโบราณในหมู่บ้านซินเย่ได้รับการปกป้องจากสมาชิกหมู่บ้านด้วยการฉาบปูนขาวทับและปิดแผ่นกระดาษที่มีคำพูดของ เหมา เจ๋อตง บนประติมากรรมและงานแกะสลักของหมู่บ้าน
วัฒนธรรม
[แก้]ศาสนปฏิบัติหลักของหมู่บ้านคือ การบูชาบรรพบุรุษแบบดั้งเดิม ศาสนสถานและศาลเจ้าส่วนใหญ่ในซินเย่ก่อสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษตระกูลเย่ของหมู่บ้าน หรือ บรรพบุรุษของกลุ่มครือญาติย่อยต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ชาวหมู่บ้านจึงได้เก็บรักษาและจดบันทึก หนังสือลำดับวงศ์ตระกูล ไว้อย่างละเอียดตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีการสังคายนาอย่างเป็นทางการทุก ๆ รอบ 60 ปี พร้อม ๆ กับการจัดเฉลิมฉลองใหญ่
ในขณะที่ภูมิภาคส่วนใหญ่ของจีนฉลอง ตรุษจีน เป็นเทศกาลประจำปีหลัก ในซินเย่เทศกาลที่สำคัญที่สุดคือ ชางซื่อ หรือ สามคู่ ซึ่งตรงกับวันที่สามเดือนสามในปฏิทินจีน เทศกาลชางซื่อเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีเพียงไม่กี่ชุมชนในประเทศจีนในปัจจุบันยังคงปฏิบัติ การเฉลิมฉลองเทศกาลได้แก่ การแห่ขบวนพิธีกรรมระยะทาง 3 กิโลเมตรไปยังวัด หยู่ฉฺวาน (玉泉寺) และแห่ย้อนกลับ รวมถึงการจัดพิธีบูชาบรรพบุรุษและการแสดงในศาสนสถานหลายแห่งในพื้นที่
ในปี 2553 ซินเย่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งชาติของจีน และมีแผนจะยื่นขอสถานะ มรดกโลก ร่วมกับหมู่บ้าน จูเก๋อ และ ยู่หยวน ที่อยู่ใกล้เคียง
-
แผนที่หมู่บ้านซินเย่
-
เจดีย์ถวฺนหยฺวุน และ ศาลเหวินชาง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ https://web.archive.org/web/20160303234737/http://www.jdnews.com.cn/jdpd/jdyw/content/2010-11/06/content_2369925.htm
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-09. สืบค้นเมื่อ 2020-08-21.
- ↑ ISBN 9787543447837