ซาเรฟนาโซฟียา อะเลคเซยีฟนาแห่งรัสเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โซฟียา อะเลคซายีฟนาแห่งรัสเซีย
พระสาทิสลักษณ์ซาเรฟนาโซฟียา อะเลคซายีฟนาทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์เยี่ยงซาร์แห่งรัสเซีย
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งรัสเซีย
ครองราชย์8 มิถุนายน ค.ศ. 1682 –
22 กันยายน ค.ศ. 1689
ประสูติ27 กันยายน ค.ศ. 1657(1657-09-27)
มอสโก, อาณาจักรซาร์รัสเซีย
สวรรคต14 กรกฎาคม ค.ศ. 1704(1704-07-14) (46 ปี)
นอวอเดอวิชีคอนแวนต์, อาณาจักรซาร์รัสเซีย
ฝังพระศพมหาวิหารอัครทูตสวรรค์
พระนามเต็ม
โซฟียา อะเลคซายีฟนา
ราชวงศ์โรมานอฟ
พระราชบิดาซาร์อเล็กซีที่ 1 แห่งรัสเซีย
พระราชมารดามาเรีย มิโลสลาฟสกายา
ศาสนาออร์โธดอกซ์รัสเซีย

ซาเรฟนาโซฟียา อะเลคซายีฟนาแห่งรัสเซีย (Tsarevna Sophia Alekseyevna; รัสเซีย: Со́фья Алексе́евна, สัทอักษรสากล: [ˈsofʲɪjə ɐlʲɪˈksʲejɪvnə]; 27 กันยายน [ปฏิทินเก่า 17 กันยายน] ค.ศ. 1657 - 14 กรกฎาคม [ปฏิทินเก่า 3 กรกฎาคม] ค.ศ. 1704) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งรัสเซีย ตั้งแต่ ค.ศ. 1682 ถึง ค.ศ. 1689 พระองค์ทรงสร้างพันธมิตรกับข้าราชบริพารและนักการเมืองที่มีความสามารถโดดเด่นอย่าง เจ้าชายวาซิลี วาซิลีเยวิช โกลิตซิน เพื่อช่วยในการสถาปนาตัวพระองค์เองขึ้นว่าราชการแทนพระอนุชาร่วมบิดามารดา คือ พระเจ้าซาร์อีวานที่ 5 แห่งรัสเซีย กับพระอนุชาต่างมารดา คือ พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย การสำเร็จราชการของพระองค์ดำเนินอย่างมั่นคงและรุนแรง พระองค์ไม่ลังเลที่จะใช้กลอุบายทางการเมืองที่รุนแรงเพื่อส่งเสริมพระราชอำนาจของพระองค์เอง แนวทางของพระองค์ถูกเรียกว่า "บอกาตีร์-ซาเรฟนา" [bogatyr-tsarevna] (ซึ่งเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ เซอร์เก โซลอฟโยฟ กล่าวถึงพระองค์) ได้กลายเป็นสิ่งที่มีความพิเศษและแปลกประหลาดอย่างมาก ด้วยเป็นสตรีชนชั้นสูงจากมอสโก ซึ่งมักจะถูกจำกัดด้วยกฎของชนชั้นสูงที่เรียกว่า เทอเรม (terem) โดยจะต้องคลุมหน้าและปกปิดตนเองออกจากสาธารณะ รวมถึงต้องอยู่ห่างจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ[แก้]

ซาเรฟนาโซฟียาเป็นพระราชธิดาองค์ที่สามที่ทรงรอดพระชนม์มาได้ในพระเจ้าซาร์อเล็กซีที่ 1 แห่งรัสเซีย กับพระมเหสีพระองค์แรก คือ ซารีนามาเรีย มิโลสลาฟสกายา พระนางทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวที่ได้ศึกษากับซีโมนแห่งโปล็อทส์ ผู้ซึ่งเป็นพระอาจารย์ให้กับองค์รัชทายาทด้วย คือ ซาเรวิชอเล็กซี อะเลคเซเยวิชและซาเรวิชฟีโอดอร์ อะเลคเซเยวิช[1] หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าซาร์ฟิโอดอร์ที่ 3 พระอนุชา ในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1682 ซาเรฟนาโซฟียาทรงเข้าแทรกซึมการเมืองของรัสเซียอย่างไม่มีใครคาดคิด โดยทรงพยายามกีดกันไม่ให้พระอนุชาต่างมารดาวัย 9 พรรษา คือ ซาเรวิชปีเตอร์ อะเลคเซเยวิช ขึ้นสืบบัลลงก์ต่อจากพระอนุชาร่วมบิดามารดาของพระนางคือ ซาเรวิชอีวาน อะเลคเซเยวิช[2]

ก้าวขึ้นสู่การสำเร็จราชการแผ่นดิน[แก้]

แม้ว่าซาเรฟนาโซฟียาจะทรงปรากฏบทบาทเด่นชัดในช่วงความขัดแย้งในราชวงศ์ ค.ศ. 1682 แต่บทบาทและอิทธิพลของพระนางก่อนหน้านี้สามารถช่วยอธิบายการก้าวขึ้นสำเร็จราชการแผ่นดินของพระนางได้ ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ ซาเรฟนาโซฟียาอาจจะทรงดำเนินการสนับสนุนผลประโยชน์ของซาเรวิชฟีโอดอร์ พระอนุชา โดยมีเสียงเล่าลือว่า ซาเรฟนาทรงขอร้องวิงวองพระเจ้าซาร์อเล็กซี พระราชบิดาที่ใกล้สวรรคต ทรงวิงวอนไม่ให้พระราชบิดาสถาปนาซาเรวิชปีเตอร์เป็นองค์รัชทายาท ได้มีการตั้งคำถามถึงความสามารถของพระเจ้าซาร์ฟีโอดอร์ในการปกครองรัสเซีย เนื่องจากทรงมีบุคลอกภาพที่อ่อนแอและพระพลานามัยไม่แข็งแรง ถึงอย่างไรก็ตามพระอาการทางจิตของพระองค์เริ่มเป็นไปในทางที่ดีขึ้นในช่วงที่ได้รับการศึกษาจากซีโมนแห่งโปล็อทส์ ในช่วงรัชกาลสั้นๆของพระเจ้าซาร์ฟีโอดอร์ นักประวัติศาสตร์จำนวนมากต่างถกเถียงกันว่าแท้จริงแล้ว พระเจ้าซาร์ฟีโอดอร์ "ครองราชย์ภายใต้การคุ้มครองของซาเรฟนาโซฟียา พระเชษฐภคินี"[3] ในขณะที่พระพลานามัยเริ่มเสื่อมถอยลง บุคคลหลายคนได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการปกครองให้แก่พระเจ้าซาร์ฟีโอดอร์ ซึ่งนั่นทำให้อิทธิพลของซาเรฟนาโซฟียาลดลงเรื่อยๆ ในช่วงที่ราชสำนักไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีอิทธิพล พระองค์กลับใช้ด้านนี้ให้เกิดประโยชน์ โดยการสร้างเครือข่ายพันธมิตรและวางแผนเพื่อรักษาราชบัลลังก์ไว้ ในช่วงที่พระเจ้าซาร์ฟิโอดอร์ทรงพระประชวร ซาเรฟนาโซฟียาทรงกลับเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองแทบในทันที พระองค์ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีศพของพระอนุชา และทรงทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในครั้งนั้น ในช่วงยุคนั้น พระญาติวงศ์ฝ่ายหญิงของพระเจ้าซาร์จะต้องอยู่ห่างจากราชสำนักและพิธีกรรมทางการเมืองต่างๆ รวมถึงพระราขพิธีศพด้วย ซึ่งต้องดำเนินการโดยไม่มีสตรีเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ซาเรฟนาโซฟียาทรงบุกเข้าไปในระหว่างพระราชพิธีพระศพ ยืนยันการปรากฏพระองค์ในม่านการเมืองและทรงเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆในช่วงที่ทรงขึ้นสำเร็จราชการแผ่นดิน

ภาพวาดเหตุการณ์การลุกฮือในปี ค.ศ. 1682 พวกสเตลท์ซีได้ลากตัวพระเชษฐาของซารีนานาตาลยา นาริชกินาไปสังหาร พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ผู้ทรงพระเยาว์พยายามปลอบพระมารดา ขณะที่ซาเรฟนาโซฟียาประทับยืนเบื้องหลังพระมารดาเลี้ยง และทอดพระเนตรอย่างพอพระทัย

กลุ่มตระกูลมิโลสลาฟสกีได้พยายามให้ประโยชน์จากความวุ่นวายในเหตุการณ์การลุกฮือที่มอสโก ค.ศ. 1682 เพื่อสนับสนุนให้ซาเรฟนาโซฟียาขึ้นสู่อำนาจ พระเจ้าซาร์อเล็กซีได้เสด็จสวรรคตโดยปล่อยให้อำนาจของสองตระกูลจากพระมเหสีทั้งสองพระองค์ ซึ่งทั้งสองพระองค์ต่างมีรัชทายาทชาย ด้วยทั้งสองตระกูลจากสองพระมเหสีนี้มีความขัดแย้งกัน ซาเรฟนาโซฟียาทรงวางแผนเพื่อให้อำนาจของพระนางและกลุ่มตระกูลมิโลสลาฟสกี พระญาติของพระมารดาผู้ล่วงลับ มีความมั่นคง พระนางพยายามสนุบสนุนพระอนุชาของพระนางคือ ซาเรวิชอีวาน อะเลคเซเยวิช ขึ้นเป็นรัชทายาทผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมตามกฎหมายหลังการสวรรคตของพระเจ้าซาร์ฟีโอดอร์ที่ 3 ซาเรฟนาโซฟียาทรงพยายามโน้มน้าวอัครบิดรและสภาขุนนางโบยาร์ที่เคยตัดสินใจสวมมงกุฎให้ซาเรวิชปีเตอร์ อะเลคเซเยวิช ให้ตัดสินใจใหม่ โดยทรงยืนยันว่าการให้ซาเรวิชปีเตอร์ครองราชย์ถือเป็นการผิดกฎมณเฑียรบาล เพราะเป็นการข้ามสิทธิในการสืบบัลลังก์ของซาเรวิชอีวาน ผู้เป็นพระเชษฐา ซึ่งแท้จริงแล้วทรงอยู่ลำดับถัดไปของราชบัลลังก์แต่ถูกข้ามไปเพราะทรงมีพระสติปัญญาทึบ ซาเรฟนาโซฟียาจึงเสนอให้ซาเรวิชปีเตอร์และซาเรวิชอีวานครองราชย์ร่วมกัน เมื่อราชสำนักและสภาขุนนางได้ปฏิเสธข้อเสนอของพระนางอย่างฉับพลันและเป็นเอกฉันท์ ซาเรฟนาโซฟียาจึงทรงหันไปชักจูงกลุ่มกองทัพที่ไม่พอใจ คือ กลุ่มสเตลท์ซี เพื่อขอกำลังสนับสนุน การข้ามสิทธิในบัลลังก์ของซาเรวิชอีวานอย่างไม่เป็นธรรมได้กลายเป็นตัวเร่งความโกรธแค้นของกลุ่มกองทัพที่ไม่พอใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ด้วยหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อทหารอย่างไร้เมตตาและการขาดแคลนสิ่งจำเป็นสำหรับกองทัพ ได้ทำให้กองทัพ "สเตลท์ซี" ต่อต้านการเลือกซาเรวิชปีเตอร์ขึ้นเป็นซาร์อย่าง "ไม่เป็นธรรม" ของขุนนาง การสู้รบได้สิ้นสุดลงและได้สร้างบาดแผลในพระทัยของซาเรวิชปีเตอร์ก็คือ การหลั่งเลือดของพระญาติวงศ์ตระกูลนาริชกิน ของพระองค์ พวกสเตลท์ซีสามารถตอบสนองความต้องการที่ตั้งไว้แต่ต้นได้[4] การจลาจลสเตลท์ซีได้ทำให้ซาเรวิชอีวานผู้อ่อนแอ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าซาร์องค์อาวุโส ส่วนซาเรวิชปีเตอร์ พระชนมายุ 9 พรรษาได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าซาร์องค์เยาว์ ซาเรฟนาโซฟียาทรงได้รับการประกาศว่าเป็นพระราชวงศ์ที่เจริญพระชันษาและทรงปัญญาเพียงหนึ่งเดียวในช่วงการสวรรคตของพระเจ้าซาร์ฟีโอดอร์ที่ 3 ได้ทำให้พระนางสามารถปกครองแทนพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ทรงพระเยาว์ และพระเจ้าซาร์อีวาน ผู้สติปัญญาทึบได้ ด้วยพระนางทรงมีการศึกษาและมีความเข้าใจทางการเมืองที่ได้มาจากการบริหารราชกิจเคียงข้างพระเจ้าซาร์ฟีโอดอร์ ซาเรฟนาโซฟียาทรงหว่านล้อมขุนนางและอัครบิดรให้สนับสนุนพระนางในฐานะผู้มีความสามารถในการปกครองรัสเซีย ในฐานะที่ซาเรฟนาโซฟียาทรงวางแผนไว้ก่อนที่พระเจ้าซาร์ฟีโอดอร์จะสวรรคต วาซิลี วาซิลีเยวิช โกลิตซิน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะเสนาบดีโดยพฤตินัย เพื่อรับผิดชอบในนโยบายต่างๆในช่วงที่พระนางขึ้นสำเร็จราชการแผ่นดิน

พระชนม์ชีพส่วนพระองค์[แก้]

ความสัมพันธ์ของพระนางกับเจ้าชายโกลิตซินนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นความสัมพันธ์แบบความรัก[5] โกลิตซินมีภรรยาและมีครอบครัวใหญ่ ซึ่งในช่วงนั้นขุนนางโบยาร์ยังคงปฏิบัติตามประเพณีระบบโดโมสตรอย ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสที่กำหนดมาตั้งแต่รัชสมัยซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซีย บันทึกในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ระบุว่าซาเรฟนาโซฟียาทรงคบหากับโกลิตซิน บ้างก็ว่าได้มาจากการติดต่อทางจดหมายระหว่างกันของซาเรฟนาโซฟียากับโกลิตซินในปี.ศ. 1689[6] แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของทั้งสองก็ไม่ได้เริ่มต้นในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์เฟโอดอร์ พระเจ้าซาร์เฟโอดอร์ทรงไว้วางพระทัยในโกลิตซินอย่างมาก และไม่มีหลักฐานว่าซาเรฟนาโซฟียากับวาซิลี โกลิตซีกระทำเรื่องที่ผิดขนบธรรมเนียมประเพณีที่จะต้องให้ทั้งสองแยกจากกัน จนกระทั่งความสัมพันธ์เริ่มเมื่อหลังจากพระเจ้าซาร์เฟโอดอร์สวรรคต ดังนั้นจึงไม่มีข้อสงสัยใดถึงความสัมพันธ์จนกระทั่งมีแต่จดหมายในปีค.ศ. 1689 แม้กระทั่งช่วงที่โกลิตซินก้าวขึ้นสู่อำนาจก็ไม่มีหลักฐานใดๆเพิ่มเติมอีก[7]

การสำเร็จราชการแทนพระองค์[แก้]

ภาพวาดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ การปกครองในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของซาเรฟนาโซฟียา อะเลคเซยีฟนา ในรัชกาลของพระเจ้าซาร์อีวานที่ 5 และพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 วาดราวปี 1898

เมื่อกลุ่มผู้เชื่อเก่าเข้าร่วมกับพวกกบฏในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีค.ศ. 1682 เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการปฏิรูปของนิคอน ซาเรฟนาโซฟียาทรงสูญเสียการควบคุมกลุ่มสเตลท์ซี ซึ่งนำโดยเจ้าชายอีวาน อันเดรเยวิช โควานสกี อันเป็นพันธมิตรหนึ่งเดียวของพระนาง หลังจากให้การช่วยเหลือซาเรฟนาโซฟฟียาในเดือนพฤษภาคม โควานสกีได้ใช้อิทธิพลของเขาต่อกองทัพ บีบบังคับให้พระนางออกไปจากเครมลินแห่งมอสโกและต้องทรงลี้ภัยไปยังโบสถ์ทรอตซี-เซอกีเยฟวา ลาฟรา กบฏสเตลท์ซีก่อการจลาจลอย่างบ้าคลั่ง หวังจะปลดซาเรฟนาโซฟียาออกจากตำแหน่งและให้โควานสกีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน เพื่อให้พวกเขาได้รับการสัมปทานจากรัฐมากขึ้น ซาเรฟนาโซฟียาทรงรวบรวมทหารตระกูลชนชั้นสูงและทำการปราบปรามพวกกบฏโควานชินาด้วยความช่วยเหลือของฟยอดอร์ ชาโควีตี ผู้ได้เข้ามาแทนที่โควานสกีในการควบคุมกองทหารมอสโก ซาเรฟนาโซฟียาทำให้พวกฝ่ายต่อต้านต้องเงียบลงจนกว่าซาร์ปีเตอร์จะบรรลุนิติภาวะ โดยทรงสั่งประหารโควานสกีและหัวหน้ากบฏคนอื่นๆ[3]

ในช่วงครองอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการเป็นระยะเวลา 7 ปี ซาเรฟนาโซฟียาทรงทำข้อเรียกร้องบางอย่างกับพวกโพซาด ซึ่งเป็นพวกนิคมที่ก่อตั้งรอบๆกำแพงเมือง พระนางทรงผ่อนปรนนโยบายที่ทำการกักขังเหล่าชาวนาที่หลบหนี สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจในหมู่ขุนนางมาก พระนางยังทรงสนับสนุนกองทัพต่อไป ในด้านสถาปัตยกรรม พระนางทรงประทับใจในสถาปัตยกรรมแบบบารอก ซาเรฟนาโซฟียาจึงสนับสนึนการตั้งเขตของชาวต่างชาติ และทรงก่อตั้งวิทยาลัยสลาฟกรีกละติน อันเป็นสถาบันการเรียนรู้ระดับสูงแห่งแรกของรัสเซีย สิ่งสำคัญที่สุดในนโยบายต่างประเทศของพระนางนั้นดำเนินการโดยโกลิตซิน คือ การทำสนธิสัญญาสันติภาพถาวร ปีค.ศ. 1686กับโปแลนด์ สนธิสัญญาเนอร์ชินส์ในปีค.ศ. 1689 กับราชวงศ์ชิง และทำสงครามยุทธการไครเมียปี 1687 แล 1689 ต่อต้านจักรวรรดิออตโตมัน แม้ว่าหัวหอกจะเป็นเจ้าชายโกลิตซิน แต่การครองอำนาจของซาเรฟนาโซฟียาสามารถทำให้สนธิสัญญาฉบับแรกๆเป็นผลสำเร็จและมีความเติบโตและความก้าวหน้าภายในประเทศ แม้ว่าจะทรงประสบความสำเร็จ อิทธิพลของซาเรฟนาโซฟียาได้ส่งผลต่อพระเจ้าซาร์ปีเตอร์วัยเยาว์ อันเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์การครองอำนาจของพระนาง นับตั้งแต่การลุกฮือที่มอสโก ค.ศ. 1682 มีส่วนทำให้พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ไม่ทรงไว้วางพระทัยพวกขุนนางและจะส่งผลต่อรัชกาลของพระองค์ในคราวต่อมา

สิ้นสุดอำนาจ[แก้]

ภาพเขียนของอิลยา รีปิน ในปีค.ศ. 1879 เป็นภาพของซาเรฟนาโซฟียาในช่วงสิ้นสุดอำนาจ ประทับในห้องขังที่โนโวเดอวีชีคอนแวนต์ ตรงหน้าต่างมีศพพวกสเตลท์ซีแขวนห้อยอยู่ เป็นชะตากรรมสำหรับผู้ที่จะฟื้นฟูอำนาจของซาเรฟนา

ซาเรฟนาโซฟียา อะเลคเซยีฟนาทรงหลงอยู่ในอำนาจของตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระเจ้าซาร์ที่แท้จริงก็ทรงเจริญพระชันษาขึ้นรวมถึงทรงมีจุดยืนของพระองค์ในหลายปีผ่านมา พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ทรงมีพระชนมายุ 16 พรรษา ทรงเรียกร้องให้โกลิตซินรายงานกิจการบ้านเมืองต่างๆให้พระองค์ได้ฟังทุกเรื่อง และตระกูลนาริชกินก็วางแผนมาอย่างเป็นระยะเวลานานเพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจ ในปีค.ศ. 1688 พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ทรงเริ่มสนับสนุนกลุ่มตระกูลของพระองค์ ในขณะที่ซาเรฟนาโซฟียาไม่ทรงมีอำนาจที่จะหยุดยั้งได้ในทันที ทรงทำได้แค่ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงนี้ผู้สำเร็จราชการโซฟียาไม่ทรงสนพระทัยพระเจ้าซาร์วัยหนุ่ม ทรงปล่อยให้พระเจ้าซาร์ทำการฝึกฝนกองทหารพรีโอบราเซนสกีและเซเมนอฟสกี ณ พรีโอบราเซนสโก แม้นักประวัติศาสตร์บางคนอ้างว่า ซาเรฟนาโซฟียาทรงพยายามอย่างรอบคอบในการต่อต้านพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ และพยายามลบอำนาจของพระเจ้าซาร์ออกจากการเมือง แต่ถึงกระนั้นบทบาทของพระนางในช่วงนี้ยังไม่ชัดเจน ซาเรฟนาโซฟียาและพรรคพวกของพระนางวางแผนที่จะทำให้ซาเรฟนาโซฟียาได้ราชาภิเษกเป็นซารีนา และในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1687 ทรงพยายามชักชวนให้พวกสเตลท์ซียื่นคำร้องแทนพระนาง ซึ่งเป็นคำร้องขอให้พระนางขึ้นครองราชย์ แต่เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุน ซาเรฟนาโวฟียาและพรรคพวกของพระนางก็รู้แล้วว่าอำนาจของพระนางกำลังลดน้อยลงในปี 1688 การก่อสงครามไคเมียทำให้เกิดการก่อจลาจลและความไม่สงบในมอสโก สถานการณ์กับแย่ลงมากขึ้นเมื่อพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ทรงอภิเษกสมรสกับเยฟโดกียา โลพูคีนา ซึ่งถือว่าพระองค์พร้อมแล้วที่จะปกครองด้วยพระองค์เอง และพระเจ้าซาร์อีวานที่ 5 กลับมีพระราชธิดา ทำให้พระนางทรงหมดโอกาสในการเรียกราชบัลลังก์ให้แก่กลุ่มตระกูลของพระนาง ความตึงเครียดระหว่างสองฝ่ายการเมืองเริ่มทวีมากขึ้น จนกระทั่งพระเจ้าซาร์ปีเตอร์มีพระชนมายุ 17 พรรษา เมื่อพระญาติวงศ์นาริชกินเรียกร้องให้ซาเรฟนาโซฟียาลงจากอำนาจ ชาโควีตีเสนอให้ซาเรฟนาโซฟียารีบตั้งตนขึ้นเป็นซารีนาและพยายามให้พวกสเตลท์ซีก่อการจลาจลใหม่อีกครั้ง แต่พวกสเตลท์ซีส่วนใหญ่ถูกให้ออกไปจากศูนย์กลางมอสโก โดยไปอยู่ที่ชานเมืองคือย่านเขตพรีโอบราเซนสโก และจากนั้นไปอยู่ที่โบสถ์ทรอตซี-เซอกีเยฟวา ลาฟรา ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระเจ้าซาร์หนุ่มประทับอยู่ ซาเรฟนาโซฟียาทรงทราบถึงอำนาจที่หลุดออกไปจากพระหัตถ์ พระนางจึงส่งขุนนางโบยาร์และพระอัครบิดรไปเข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์ปีเตอร์เพื่อเชิญพระองค์มาพบปะพระนางผู้เป็นพระเชษฐภคินีที่เครมลิน พระเจ้าซาร์ทรงปฏิเสธโดยไม่ไว้พระพักตร์พระเชษฐภคินี พระองค์ยังทรงเรียกร้องให้ประหารชีวิตซาโควีตีและให้เนรเทศโกลิตซิน[7]

หลังจากนั้นซาเรฟนาโซฟียาทรงยอมจำนนต่อพวกขุนนางโบยาร์อาวุโส พระนางจึงถูกจับกุมและเนรเทศไปยังโนโวเดอวีชีคอนแวนต์โดยไม่ต้องสวมผ้าคลุมพระพักตร์อย่างเป็นทางการ ซาเรฟนาโซฟียาอาจจะทรงพยายามครั้งสุดท้ายในการรักษาอำนาจแต่วิธีของพระนางก็ไม่ชัดเจน พระนางทรงถูกจองจำเป็นเวลา 10 ปีก่อนที่โอกาสจะมาอีกครั้งเมื่อเกิดการลุกฮือของสเตลท์ซีในปี 1698 โดยพยายามที่จะฟื้นพระอำนาจของซาเรฟนาในเครมลินในช่วงที่พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ไม่ประทับอยู่ในประเทศ การจลาจลครั้งนี้ถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม ในไม่ช้าศพของพวกกบฏถูกแขวนห้อยตรงหน้าต่างของซาเรฟนาโซฟียา ซาเรฟนาโซฟียาทรงถูกย้ายไปซ่อนตัวในสถานที่ที่เข้มงวดมากขึ้น แม้แต่เหล่าแม่ชีก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้าพระนางยกเว้นวันอีสเตอร์ พระนางสิ้นพระชนม์ในโนโวเดอวีชีคอนแวนต์ในอีก 6 ปีต่อมา[3]

โซฟียา อะเลคเซยีฟนาในสื่อ[แก้]

พระนางทรงปรากฎในนิยายของกิมย้งนักประพันธ์ชาวจีน ในเรื่อง อุ้ยเสี่ยวป้อ ซึ่งเป็นกรณีที่อุ้ยเสี่ยวป้อ พระเอกในวัยหนุ่มเดินทางไปยังรัสเซียและเขาช่วยซาเรฟนาโซฟียาในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ อันนำมาซึ่งการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกับราชวงศ์ชิงในสนธิสัญญาเนอร์ชินส์

วาเนสซา เรดเกรฟแสดงเป็นโซฟียา อะเลคเซยีฟนาในมินิซีรีส์ปีค.ศ. 1986 เรื่อง ปีเตอร์มหาราช (มินิซีรีส์) การแสดงของเรดเกรฟทำใฟ้ได้รับการเข้าชิงรางวัลเอ็มมี อวอร์ดส สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมในเรื่องนี้

อ้างอิง[แก้]

  1. Hughes, Lindsey, Sofiya Alekseyevna and the Moscow Rebellion of 1682
  2. O'Brien, C. Bickford (1952). Russia Under Two Tsars 1682-1689: The Regency of Sophia Alekseevna. Los Angeles: University of California Press.
  3. 3.0 3.1 3.2 J. Crull, M.D. The Ancient and Present State of Muscovy, vol. 2, London, 1698, p. 200
  4. Hughes, Lindsey, Sophia: Regent of Russia 1657-1704. (c) 1990
  5. Paul Bushkovitch. Peter the Great: The Struggle for Power, 1671-1725. Cambridge University Press, 2001. ISBN 9780521805858. Page 138.
  6. A letter of quoted by Massie 1980, p. 89
  7. 7.0 7.1 Hughes, Lindsey.