การก่อการกำเริบที่มอสโก ค.ศ. 1682

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซารีนานาตาลยา นาริชกินา พระพันปีหลวง ทรงแสดงพระองค์ของ ซาร์อีวานที่ 5 แห่งรัสเซีย พระโอรสเลี้ยง ต่อหน้าพวกสเตลท์ซี เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงปลอดภัยและยังทรงพระชนม์ ในขณะที่อัครบิดรโจอาคิมแห่งมอสโกทรงพยายามทำให้ฝูงชนสงบลง

การลุกฮือที่มอสโก ค.ศ. 1682 หรือมักเป็นที่รู้จักในชื่อเหตุการณ์ การลุกฮือของกลุ่มสเตลท์ซี ค.ศ. 1682 (รัสเซีย: Стрелецкий бунт) เป็นการก่อการกบฏในกรุงมอสโกโดยกองทหาร สเตลท์ซี เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการเถลิงอำนาจสูงสุดของซาเรฟนาโซฟียา อะเลคเซยีฟนาแห่งรัสเซีย เจ้าหญิงรัสเซีย (พระราชธิดาในซาร์อเล็กซีที่ 1 แห่งรัสเซีย ที่ประสูติแต่พระมเหสีพระองค์แรกคือ ซารีนามารีเยีย มิโลสลาฟสกายา) เบื้องหลังเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากความเป็นศัตรูที่ขับเคี่ยวแย่งชิงอำนาจกันระหว่างตระกูลมิโลสลาฟสกีและตระกูลนาริชกิน ซึ่งเป็นตระกูลของพระมเหสีทั้งสองในอดีตพระเจ้าซาร์อเล็กซีที่ 1 ซึ่งสวรรคตไปแล้วในปี ค.ศ. 1676 สองตระกูลพยายามแย่งชิงอำนาจในการปกครองอาณาจักรซาร์รัสเซีย

เหตุการณ์[แก้]

ซาร์เฟโอดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย เสด็จสวรรคตในวันที่ 27 เมษายน (7 พฤษภาคม ตามปฏิทินใหม่) ค.ศ. 1682 เป็นจุดเริ่มต้นการลุกฮือ พระเชษฐาทั้งสองจากตระกูลนาริชกินของซารีนานาตาลยา นาริชกินา พระพันปีหลวงในรัชกาลก่อน ได้ใช้ประโยชน์ในช่วงนี้โน้มน้าวให้พระอัครบิดร ประกาศให้ ซาเรวิชปีเตอร์ อะเลคเซเยวิช พระโอรสวัย 10 พรรษาของซารีนานาตาลยา นาริชกินาและพระเจ้าซาร์อเล็กซีที่ 1 และทรงเป็นพระอนุชาต่างมารดาในพระเจ้าซาร์เฟโอดอร์ที่ 3 ให้ครองราชย์เป็นซาร์แห่งรัสเซีย พระองค์ใหม่ ในทางกลับกัน กลุ่มตระกูลมิโลสลาฟสกี ซึ่งประกอบด้วยเหล่าญาติวงศ์ของอดีตซารีนามารีเยีย มิโลสลาฟสกายา ผู้สิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว ได้กระจายข่าวลือไปทั่วเมืองหลวงว่า พวกตระกูลนาริชกินของซารีนานาตาลยา พระพันปีหลวง ได้ลอบปลงพระชนม์พระโอรสของซารีนามารีเยีย คือ ซาเรวิชอีวาน อะเลคเซเยวิช ด้วยการรัดพระศอจนสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ที่พระราชวังเครมลินแห่งมอสโก

กลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิดกับฝ่ายมิโลสลาฟสกีได้ทำให้เกิดการจลาจลทั่วขึ้นท้องถนนในกรุงมอสโก พวกเขาให้ความไม่พอใจของทหารมอสโกที่มีต่อผู้บังคับบัญชาในการยุยงให้เกิดการลุกฮือ และในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1682 กลุ่มจลาจลของกองทหารสเตลท์ซีได้เข้ายึดพระราชวังเครมลิมและไล่ล่าสังหารขุนนางโบยาร์และเหล่าผู้บังคับบัญชากองทัพ ซึ่งพวกเขาสงสัยว่าเป็นผู้ทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง อาทิเช่น อาร์ตามอน มัททีเวฟ, มิไฮล์ ดอลโกรูคอฟ และกริกอรี โรโมดานอฟสกี

ภาพวาดเหตุการณ์การลุกฮือในปี ค.ศ. 1682 พวกสเตลท์ซีได้ลากตัวพระเชษฐาของซารีนานาตาลยา นาริชกินาไปสังหาร พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ผู้ทรงพระเยาว์พยายามปลอบพระมารดา ขณะที่ซาเรฟนาโซฟียาประทับยืนเบื้องหลังพระมารดาเลี้ยง และทอดพระเนตรอย่างพอพระทัย

ไม่กี่วันถัดมา ในวันที่ 17 พฤษภาคม กลุ่มกบฏบุกพระราชวังอีกครั้งและเข้าสังหารสมาชิกตระกูลนาริชกินของซารีนานาตาลยา พระพันปีหลวง รวมถึงพระเชษฐาทั้งสองของซารีนาด้วย (คิริล นาริชกิน และอีวาน นาริชกิน) ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ พระนัดดาซึ่งยังทรงพระเยาว์ กลุ่มคนยากจนในมอสโกได้ร่วมมือกับพวกสเตลท์ซีด้วย และเข้าปล้นสดมภ์ตามท้องถนนของมอสโกเป็นเวลาหลายวัน การลุกฮือในเดือนพฤษภาคมนี้เป็นการสถาปนา ซาร์อีวานที่ 5 แห่งรัสเซีย พระเชษฐาต่างมารดาของซาร์ปีเตอร์ขึ้นเป็น "พระเจ้าซาร์พระองค์ที่หนึ่ง" และลดพระยศของซาร์ปีเตอร์เป็น "พระเจ้าซาร์พระองค์ที่สอง" โดยมีซาเรฟนาโซฟียา อะเลคเซยีฟนา พระเชษฐภคินีร่วมบิดามารดาในซาร์อีวานที่ และต่างมารดาในซาร์ปีเตอร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลทั้งสองพระองค์นี้

โบสถ์ที่ฟิลิถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นคำสัญญาว่าพวกตระกูลนาริชกินาจะอุทิศตนเพื่อศาสนาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยโบสถ์นี้ถูกสร้างหลังจากการลุกฮือ

ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1682 อีวาน อันเดรเยวิช โควานสกี (ตารารุย) ซึ่งเป็นพระสหายสนิทในซาเรฟนาโซฟียาและเป็นหนึ่งในผู้นำของสเตลท์ซี ได้ก่อกบฎหันมาต่อต้านพระนาง โควานสกีได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มความเชื่อเก่า ซึ่งคิดจะแต่งตั้งตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคนใหม่แทน เพื่อต้องการล้มเลิกการปฏิรูปศาสนาของอัครบิดรนิคอนแห่งมอสโก ซาเรฟนาโซฟียา อะเลคเซยีฟนาและราชสำนักได้ลี้ภัยออกจากพระราชวังเครมลินไปยังอารามทรินีตีลาฟราแห่งเซนต์เซอร์จีอุส แต่ในที่สุดซาเรฟนาโซฟียาก็สามารถปราบปรามกบฎได้ ถูกเรียกว่า เหตุการณ์ "โควานสชินา" ด้วยความช่วยเหลือจากฟโยดอร์ ชัคโลวิตี ซึ่งเข้ามาควบคุมกองทัพมอสโกแทนโควานสกีที่พ่ายแพ้และถูกประหารชีวิตไป

อ้างอิง[แก้]