ชะเอม แก้วคล้าย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกและภาษาบาลีสันสกฤต

นายชะเอม แก้วคล้าย (20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485) เกิดที่บ้านหารเทา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกอักษรโบราณ ภาษาไทย ภาษาบาลีสันสกฤต และพุทธศาสนา มีผลงานการอ่านและแปลจารึกที่พบในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการแปลคัมภีร์พุทธศาสนาจากภาษาสันสกฤต ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ แต่ยังมีผลงานด้านภาษาและจารึกอย่างต่อเนื่อง

การศึกษา[แก้]

นายชะเอม แก้วคล้าย เข้าศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านหารเทา ตำบลหารเทา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง จนจบหลักสูตรเมื่อ พ.ศ.2499 จากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง และศึกษาจนจบหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก เมื่อ พ.ศ. 2501

หลังจากนั้นเมื่อ พ.ศ.2508 ได้ศึกษาภาษาบาลี จนจบระดับเปรียญธรรม 6 ประโยค ที่วัดคูหาสวรรค์ ในจังหวัดพัทลุง แล้วได้เดินทางเข้าศึกษาที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร จนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อ พ.ศ. 2512

ขณะครองสมณเพศ ท่านได้ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา จนได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาปรัชญาศาสนา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2516 แล้วเดินทางไปศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิต สาขาภาษาสันสกฤตและจารึก ที่มหาวิทยาลัยบาโรดา ประเทศอินเดีย จนจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2520

การทำงาน[แก้]

เมื่อจบการศึกษา ท่านได้ลาสิกขาบท และเข้าทำงานที่กรมศิลปากร ในตำแหน่งนักอักษรศาสตร์ โดยได้ทำงานด้านการอ่านจารึกโบราณที่พบในประเทศไทย และแปลจารึกภาษาบาลีและสันสกฤต มาโดยตลอด

ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ นายชะเอม แก้วคล้ายได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีจนได้รับการยกย่อง และได้รับเกียรติบัตรข้าราชการดีเด่น ของกรมศิลปากร และของกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นระยะ ตั้งแต่ พ.ศ.2526 รวมทั้งสิ้นถึง 7 ครั้ง และได้รับเกียรติบัตรข้าราชการตัวอย่างของกระทรวงศึกษาธิการสองปีซ้อน (พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2532) ทั้งนี้ได้เกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2545 ขณะดำรงตำแหน่งนักอักษรศาสตร์ 9 (ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ผลงาน[แก้]

นายชะเอม แก้วคล้าย เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการอ่านและแปลจารึก และวิชาการทางพระพุทธศาสนาเป็นดี สามารถวิเคราะห์ข้อความจารึกอย่างมีเหตุผล รวมทั้งสามารถสื่อความหมายด้วยการเขียนบทความ หนังสือ และบรรยายให้เข้าใจได้ง่าย โดยมีผลงานทั้งบทความ และหนังสือ เป็นจำนวนมาก

บทความ[แก้]

นายชะเอม แก้วคล้าย ได้อ่านและแปลจารึกที่พบในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ได้เขียนบทความ หรือรายงานเกี่ยวกับการอ่านและแปลจารึกเหล่านี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารศิลปากร ของกรมศิลปากร นับตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา เช่น บทความเรื่อง "จารึกหุบเขาช่องคอย" ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2523 "จารึกวัดสุปัฏนาราม" เมื่อ พ.ศ.2524 โดยมีบทความทั้งสิ้นมากกว่าสามร้อยบทความ

ผลงานด้านจารึกยังได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร ซึ่งนับเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่สำคัญด้านภาษาและจารึกในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังได้เขียนบทความเกี่ยวกับพุทธศาสนา ตีพิมพ์ในวารสารพุทธธรรม เช่น บทความเรื่อง "พุทธศาสนาในประเทศไทย", "ปฐมเทศนาของพระพุทธสาวก", "พุทธศาสนามหายานในอินเดีย" เป็นต้น

นายชะเอม แก้วคล้าย ยังเขียนบทความด้านภาษาและวรรณคดี เช่น “สมาสและสนธิในภาษาไทย” “คุณค่าเอกสารโบราณ” “เกลื้อน ค่านิยมความงาม” และ “ลุงสอนให้กินหวาก” เป็นต้น โดยตีพิมพ์ในเอกสารแจก สนฐ., เอกสารข่าวราชบัณฑิตย์ เป็นต้น

หนังสือ[แก้]

มีหนังสือที่ตีพิมพ์แล้ว ว่าด้วยจารึกโบราณ และงานแปลคัมภีร์พุทธศาสนามหายาน ดังนี้

  • ชะเอม แก้วคล้าย. จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2528. 72 หน้า.
  • ชะเอม แก้วคล้าย. จารึกปราสาทแปรรูป. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2543. 106 หน้า.
  • ชะเอม แก้วคล้าย. สัทธรรมปุณฑรีกสูตร. กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย, 2547.
  • ชะเอม แก้วคล้าย และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จำลอง สารพัดนึก. สุขาวดีวยูหสูตร. กรุงเทพฯ : โครงการตำราและวิชาการมหายาน คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ชมรมมหายาน และคณะศิษยานุศิษย์, 2553.
  • ชะเอม แก้วคล้าย. ลักษณะการใช้ศัพท์บาลีสันสกฤตในภาษาไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิกจำกัด, 2555. 134 หน้า.
  • ชะเอม แก้วคล้าย. สารัตถะจากศิลาจารึกในประเทศไทย (เล่ม 1). สมุทรปราการ : บริษัท เอส.อาร์.ซี. เอ็นเวลอพ จำกัด, 2556. 443 หน้า.
  • ชะเอม แก้วคล้าย. สุวรรณประภาโสตมสูเตรนทรราชสูตร. กรุงเทพฯ : เสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก, 2558. 312 หน้า.
  • ชะเอม แก้วคล้าย. สารัตถะจากศิลาจารึกในประเทศไทย (เล่ม 2). สมุทรปราการ : บริษัท เอส.อาร์.ซี. เอ็นเวลอพ จำกัด, 2558. 446 หน้า.

นายชะเอม ยังได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 หนังสือสอนพุทธศาสนาแก่เด็ก ที่ราชบัณฑิตยสถานจัดประกวดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2539 และได้รับรางวัลการใช้ภาษาถิ่นใต้ดีเด่น ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อ พ.ศ. 2558

ปัจจุบัน นายชะเอม แก้วคล้าย เป็นข้าราชการบำนาญ แต่ยังคงทำงานด้านการแปลคัมภีร์พุทธศาสนามหายาน (ภาษาสันสกฤต) และเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาบาลีสันสกฤต แก่นักศึกษาในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, อาจารย์พิเศษหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, รวมทั้งเป็นกรรมการตรวจแบบเรียนเอกชน วิชาภาษาไทยของ สพฐ., กรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือสารคดีดีเด่นแห่งชาติ, กรรมการวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิของราชบัณฑิตยสถาน และกรรมการผลิตตำรามหายานของคณะสงฆ์จีนนิยาย วัดโพธิ์แมนคุณาราม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]