จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก
"ภาพเหมือนของครอบครัวอาร์โนลฟินิ" (ค.ศ. 1434)
โดย ยัน ฟัน ไอก์
หอศิลป์แห่งชาติ (ลอนดอน)
ประวัติศาสตร์ของจิตรกรรม
ของเนเธอร์แลนด์และฟลานเดอส์
เนเธอร์แลนด์เริ่มแรก  (ค.ศ. 1400-1500)
เรอแนซ็องส์แบบดัตช์และเฟลมิช  (ค.ศ. 1500-84)
ยุคทองของเนเธอร์แลนด์  (ค.ศ. 1584-1702)
บาโรกแบบเฟลมิช  (ค.ศ. 1585-1700)
รายชื่อจิตรกรชาวดัตช์
รายชื่อจิตรกรชาวเฟลมิช

จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก (อังกฤษ: Early Netherlandish painting) เป็นงานจิตรกรรมของจิตรกรในบริเวณกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนเหนือโดยเฉพาะในบริเวณเมืองบรูชและเกนต์ ที่เริ่มในช่วงเวลาเดียวกับที่ยัน ฟัน ไอก์ เริ่มอาชีพเป็นจิตรกร ฟัน ไอก์มีชื่อเสียงจนกระทั่งได้รับชื่อว่าเป็นจิตรกรอะเพลลีสคนใหม่ของยุโรปตอนเหนือ เรื่อยมาจนถึงภาพเขียนโดยกาเริล ฟัน มันเดอร์ (Karel van Mander) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 และมาจบลงด้วยเคราร์ด ดาฟิด ราว ค.ศ. 1520

ยุคนี้เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลีตอนต้นและตอนสูง แต่เป็นขบวนการศิลปะที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ต่างจากลัทธิมนุษยนิยมเรอเนสซองซ์ที่รุ่งเรืองในเวลาเดียวกันในตอนกลางของอิตาลี[1] เพราะจิตรกรสมัยเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกรวมศิลปะจากยุคกลางของทางเหนือของยุโรปและความคิดของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา จึงทำให้ศิลปะที่สร้างขึ้นจากการผสานระหว่างจิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนต้นกับศิลปะกอทิกนานาชาติหรือยุคปลายกอทิก

ภาพเขียนจากยุคนี้มีความก้าวหน้าทางการใช้การลวงตาที่เห็นได้จากรายละเอียดของงานของยัน ฟัน ไอก์ซึ่งมักจะใช้รูปสัญลักษณ์ที่สลับซับซ้อน หัวข้อทีวาดส่วนใหญ่จะเป็นรูปสัญลักษณ์ทางคริสต์ศาสนาหรือภาพเหมือนขนาดเล็ก และการเขียนภาพแบบเล่าเรื่องหรือภาพตำนานเทพปรัมปรามีน้อยเมื่อเทียบกับอิตาลี

ที่มาของชื่อสมัย[แก้]

"ฉากแท่นบูชาเกนต์: การชื่นชมของลูกแกะ" โดยอูแบร์ต ฟาน เอคและยัน ฟัน ไอก์แสดงความสำคัญของการใช้สิ่งต่าง ๆ จากยุคกลางที่ยังมีอยู่

จิตรกรรมและจิตรกรของสมัยเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกเป็นที่รู้จักกันในหลายชื่อเช่น "สมัยปลายกอทิก" หรือ "สมัยดั้งเดิมของฟลานเดอส์" (Flemish Primitives) นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนใช้คำว่า "ศิลปะใหม่" (Ars nova) ที่เป็นคำที่มาจากประวัติศาสตร์การดนตรี ที่มาของคำที่ใช้หรือนัยยะก็ต่างกันไป คำว่า "ปลายกอทิก" เป็นต้นเน้นความต่อเนื่องของยุคนี้จากศิลปะจากยุคกลาง[1] ส่วนคำว่า "ดั้งเดิมของฟลานเดอส์" เป็นคำที่ใช้เรียกจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ทั่วไปที่มานิยมกันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ยังใช้กันในบางภาษาเช่นในภาษาดัทช์, ภาษาสเปน และภาษาฝรั่งเศส (ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ) "ดั้งเดิม" ในกรณีนี้มิได้หมายถึงความขาดความซับซ้อนแต่เป็นการบ่งถึงลักษณะศิลปะของจิตรกรผู้เป็นต้นตำรับในการเขียนตระกูลนี้ เช่นเป็นจิตรกรรมที่ใช้สีน้ำมันแทนที่จะเป็นสีฝุ่นเป็นต้น โดยการนำของ แม็กซ์ ยาคอป ฟรีดเลนเดอร์ (Max Jakob Friedländer), เออร์วิน พานอฟสกี (Erwin Panofsky), ออตโต เพคต์ (Otto Pächt) และนักวิชาการชาวเยอรมันอื่น ๆ แต่นักประวัติศาสตร์ศิลปะที่พูดภาษาอังกฤษโดยทั่วไปมักจะเรียกงานศิลปะในยุคนี้ว่า "จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก"

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เขตแดนประเทศในยุโรปทางตะวันตกเฉียงเหนือเช่นที่เห็นกันในปัจจุบันของประเทศฝรั่งเศส, ประเทศเยอรมนี, ประเทศเบลเยียม และประเทศเนเธอร์แลนด์ ยังไม่เกิดขึ้น ฟลานเดอส์ที่ในปัจจุบันหมายถึงเขตหนึ่งของประเทศเบลเยียมและบริเวณอื่น ๆ ในแถบนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของเบอร์กันดีเนเธอร์แลนด์ และต่อมาสหสิบเจ็ดจังหวัด การที่บรูชและเกนต์ (ซึ่งเป็นเมืองในภูมิภาคฟลานเดอส์ทั้งสองเมือง) กลายมาเป็นศูนย์กลางของการธนาคารนานาชาติ การค้า และศิลปะในบริเวณนั้นจึงเป็นการทำให้เป็นบริเวณนี้กลายเป็นที่ชุมนุมของจิตรกรและพ่อค้าที่ไม่แต่เป็นผู้มีที่อยู่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นแต่ยังรวมทั้งผู้ที่มาจากดินแดนอื่น ๆ ด้วย ที่เป็นผลทำให้คำว่า "ฟลานเดอส์" และ "เนเธอร์แลนด์" เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ (ที่หมายถึง "จากกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ") ที่มาจากที่ตั้งของเมืองที่เป็นศูนย์กลาง[2] นอกจากนั้นนักประวัติศาสตร์ศิลปะมักจะรวมศิลปะการเขียนจากโคโลญ และบริเวณโลเวอร์ไรน์ในกลุ่มนี้ด้วย ตัวอย่างเช่นจิตรกรเช่นเกียร์ตเก็น ทท ซิงท์ ยานส์ (Geertgen tot Sint Jans) ที่ทำงานอยู่ทางเหนือของเนเธอร์แลนด์ที่ไม่ใช่ในฟลานเดอส์ ปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งที่ยังเป็นที่ขัดแย้งกัน และยังเป็นปัญหาในเบลเยียมคือต้นกำเนิดของจิตรกรที่พูดภาษาฝรั่งเศสของจิตรกรหลายคนเช่นโรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน[3] จิตรกรเยอรมันฮันส์ เม็มลิง และเอสโตเนีย มิเคล ซิตเตาว์ (Michael Sittow) เป็นตัวอย่างของจิตรกรที่ย้ายมาจากบริเวณอื่นมาทำงานในเนเธอแลนด์และสร้างงานแบบเนเธอแลนด์เต็มที่ การใช้คำว่า "จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก" และคำที่กว้างกว่าเช่น "ศิลปะใหม่" (Ars nova) และคำที่แคบกว่าเช่น "ศิลปะยุคเรอเนสซองซ์เหนือ" ทำให้ความหมายครอบคลุมงานเขียนที่กว้างขึ้นในยุคนั้นกว่าการที่จะใช้คำว่า "ฟลานเดอส์" ที่จำกัดการเขียนในบริเวณที่แคบกว่ามาก นอกจากนั้นเช่นเดียวกับการเรียกสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลีการใช้คำว่า "จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก" เป็นการเน้นการกำเนิดของจิตรกรรมยุคใหม่แทนที่จะเป็นการวิวัฒนาการมาจากยุคก่อนหน้านั้น

ความสัมพันธ์กับสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี[แก้]

"ฉากแท่นบูชาพอร์ตินาริ" ราวปี ค.ศ. 1475 โดยฮือโค ฟัน เดอร์คุส (หอศิลป์อุฟฟีซี) เขียนที่บรูชสำหรับโทมัสโซ พอร์ตินาเล (Tommaso Portinari) และนำไปฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1483

ลักษณะการเขียนใหม่เกิดขึ้นในฟลานเดอส์เกือบในเวลาเดียวกับการเริ่มสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี งานของช่างเขียนจากทางเหนือเป็นที่นิยมกันมากในอิตาลีและมีอิทธิพลต่อจิตรกรรมในอิตาลีมากกว่าอิทธิพลของจิตรกรรมอิตาลีที่มีต่อฟลานเดอส์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15[4] ตัวอย่างเช่นงาน "ฉากแท่นบูชาพอร์ตินาริ" ของฮือโค ฟัน เดอร์คุส ที่มีบทบาทสำคัญในการแนะนำให้จิตรกรฟลอเรนซ์ได้เห็นแนวการเขียนจากทางยุโรปตอนเหนือ จิตรกรเช่นอันโตเนลโล ดา เมสสินาอาจจะได้รับอิทธิพลของจิตรกรเนเธอร์แลนด์เมื่อได้ไปทำงานที่ซิซิลี, เนเปิลส์ และต่อมาเวนิส แต่จิตรกรสมัยเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกมิได้ไม่มีความกระทบกระเทือนจากความเปลี่ยนแปลงทางศิลปะจากทางใต้ของเทือกเขาแอลป์มากนัก เช่นยัน ฟัน ไอก์ผู้อาจจะเดินทางไปอิตาลีราวปี ค.ศ. 1426 ถึงปี ค.ศ. 1428 การเดินทางที่มีผลต่องานเขียน "ฉากแท่นบูชาเกนต์" และความสำคัญของเมืองทางนานาชาติเช่นบรูชหมายถึงทั้งการเผยแพร่งานจิตรกรรมและการรับอิทธิพลจากต่างประเทศที่ทะลักเข้ามาด้วย[4][5]

ศิลปะคริสต์ศาสนา—การตกแต่งวัดหรือการเขียนฉากแท่นบูชาสำหรับคริสต์ศาสนสถานหรือสำหรับการสักการะส่วนตัวเป็นต้น—ยังเป็นหัวเรื่องของการเขียนภาพที่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายทั้งในสมัยเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกและสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี แต่บทบาทของเรอเนสซองซ์มนุษย์นิยมไม่มีอิทธิพลมากทางยุโรปตอนเหนือเท่ากับในอิตาลี อิทธิพลของภายในท้องถิ่นเช่นเดโวติโอ โมเดอร์นา (Devotio Moderna) มีอิทธิพลที่เห็นได้ชัดกว่าและมีอิทธิพลต่อหัวเรื่องที่วาดและการวางภาพในงานเขียนต่าง ๆ ตัวอย่างเช่นการเน้นความทรมานของพระเยซูซึ่งเป็นหัวเรื่องที่นิยมกันมากกว่า

เช่นเดียวกับฟลอเรนซ์ที่การธนาคารและการค้านำมาซึ่งการจ้างงานเขียนส่วนตัว พ่อค้าที่มั่งคั่งว่าจ้างงานเขียนทางศาสนาสำหรับการสักการะส่วนตัวที่มักจะรวมภาพของตัวเองและครอบครัวภายในภาพที่เรียกว่าภาพเหมือนผู้อุทิศ และภาพเหมือนตนเองที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา นอกจากนั้นการที่มีราชสำนักเบอร์กันดีของผู้ปกครองเบอร์กันดีเนเธอร์แลนด์อยู่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาชีพการเป็นช่างเขียนประจำสำนักรุ่งเรืองขึ้น นอกจากนั้นจิตรกรก็ยังรู้ฐานะของตนเองในสังคมว่าเป็นที่นับถือและเริ่มลงชื่อในภาพเขียนบ่อยขึ้น, วาดภาพเหมือนตนเอง และกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงด้วยความสามารถที่มาจากการเป็นจิตรกรเท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่ศิลปะทางยุโรปตอนเหนือในยุคนี้ต่างจากในอิตาลีคืออิทธิพลของศิลปะกรีกโรมันที่มีน้อยกว่าจนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จึงได้เข้ามาอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงทางสถาปัตยกรรม, ประติมากรรม และปรัชญาในอิตาลีมิได้เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ ความเปลี่ยนแปลงในเนเธอร์แลนด์จำกัดอยู่แต่เพียงจิตรกรรม[1] สถาปัตยกรรมกอทิกยังเป็นที่นิยมกันจนตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 16

บรูชลดความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางของศิลปะราว ค.ศ. 1500 ขณะที่ความสำคัญแอนต์เวิร์ปเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่จิตรกรเรียกว่าจิตรกรแมนเนอริสต์แอนต์เวิร์ป แม้ว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ทราบนามและมีบทบาทระหว่างประมาณ ค.ศ. 1500 ถึง ค.ศ. 1530 แต่ก็เป็นกลุ่มที่ทำให้จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกสิ้นสุดลงและเริ่มศิลปะยุคต่อไป ที่เรียกว่าเป็นนักแมนเนอริสต์แอนต์เวิร์ปก็เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากอิตาลี แม้ว่าจะใช้อิทธิพลอิตาลีในงานเขียนแต่ก็ยังได้ชื่อว่ามีลักษณะกอทิกกระเส็นกระสายตามธรรมเนียมการเขียนในคริสต์ศตวรรษก่อนหน้านั้น[6]

จิตรกร[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Janson, H.W. Janson's History of Art: Western Tradition. 7th rev. ed.,New York: Prentice Hall. 2006 ISBN 0-13-193455-4
  2. To Giorgio Vasari, for example, all northern painters were "fiamminghi", or "Flemmings".
  3. Hans Vlieghe ("Flemish Art, Does It Really Exist?," in Simiolus: Netherlands Quarterly for the History of Art, vol. 26, 1998, pp. 187-200) points to recent instances where institutions in the Wallonia French-speaking parts of Belgium have refused to loan painters to exhibitions labeled "Flemish".
  4. 4.0 4.1 The north to south-only direction of influence arose in the scholarship of Max Friedländer and was affirmed by Panofsky; see Lisa Deam, "Flemish versus Netherlandish: A Discourse of Nationalism," in Renaissance Quarterly, vol. 51, no. 1 (Spring, 1998), pp. 1-33. Also noted (pp. 28–29) is the increased interest by art historians in demonstrating the importance of Italian art on Early Netherlandish painters.
  5. Penny Howell Jolly, "Jan van Eyck's Italian Pilgrimage: A Miraculous Florentine Annunciation and the Ghent Altarpiece," Zeitschrift für Kunstgeschichte, vol. 61, no. 3 (1998), pp. 369-394.
  6. Brink, Peter van den, Kristin Lohse Belkin, and Nico van Hout. ExtravagAnt!: A Forgotten Chapter of Antwerp Painting, 1500-1538: Catalogue. Antwerp: Koninklijk Museum voor Schone Kunsten, 2005: This was the language of Mannerism popularised by Walter Friedlaender in his book Mannerism and anti-mannerism in Italian painting, one of the first attempts to define Mannerism.

ดูเพิ่ม[แก้]

ระเบียงภาพ[แก้]