ศิลปะดัตช์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ศิลปะดัตช์
"งานแต่งงานชาวบ้าน" (ค.ศ. 1567-1568)
โดยปีเตอร์ เบรอเคิล (ผู้พ่อ)
จิตรกรสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของเนเธอร์แลนด์
ประวัติศาสตร์ของจิตรกรรม
ของเนเธอร์แลนด์และฟลานเดอส์
เนเธอร์แลนด์เริ่มแรก  (ค.ศ. 1400-1500)
เรอแนซ็องส์แบบดัตช์และฟลานเดอส์  (ค.ศ. 1500-84)
ยุคทองของเนเธอร์แลนด์  (ค.ศ. 1584-1702)
บาโรกแบบฟลานเดอส์  (ค.ศ. 1585-1700)
รายชื่อจิตรกรชาวดัตช์
รายชื่อจิตรกรชาวฟลานเดอส์

ศิลปะดัตช์ (อังกฤษ: Dutch art) เป็นการบรรยายประวัติศาสตร์ทัศนศิลป์ของเนเธอร์แลนด์หลังจากสหพันธ์จังหวัดแยกจากฟลานเดอส์มาเป็นสาธารณรัฐเนเธอร์แลนด์ที่รวมทั้งงานเขียนของสมัยเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก, ยุคทองของเนเธอร์แลนด์, จิตรกรรมยุคเนเธอร์แลนด์ตอนต้น และจิตรกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20

สมัยเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก[แก้]

"ยุคเนเธอร์แลนด์ตอนต้น" เป็นจิตรกรรมที่รุ่งเรืองระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนเหนือโดยเฉพาะในบริเวณเมืองบรูชและเกนต์ เริ่มในช่วงเวลาเดียวกับที่ยัน ฟัน ไอก์เริ่มอาชีพเรื่อยมาจนถึงงานเขียนโดยคาเรล ฟาน มานเดอร์ (Karel van Mander) เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 และจบลงด้วยจิตรกรรมที่เขียนโดยเคราร์ด ดาฟิด (Gerard David) ราวค.ศ. 1520

สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา[แก้]

"สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา" เป็นจิตรกรรมที่รุ่งเรืองในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นศิลปะของกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ (Low Countries) ที่โต้ตอบศิลปะยุคเรอเนสซองซ์อิตาลี ศิลปินกลุ่มนี้เริ่มจากจิตรกรแมนเนอริสต์อันท์เวิร์พ และฮีเยโรนีมึส โบสเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษจนถึงปลายสมัยจิตรกรแมนเนอริสต์ เช่นฟรันส์ ฟลอริส (Frans Floris) และคาเรล ฟาน มานเดอร์ (Karel van Mander) ในตอนปลาย ซึ่งเป็นศิลปะที่วิวัฒนาการมาจากการเขียนแบบใหม่ในอิตาลีผสมลักษณะการเขียนแบบท้องถิ่นในเนเธอร์แลนด์ของจิตรกรยุคเนเธอร์แลนด์ตอนต้น อันท์เวิร์พกลายเป็นเมืองศูนย์กลางของศิลปะในบริเวณนั้น ศิลปินเช่นยาน มาบิวส์ (Jan Mabuse), มาร์เต็น ฟาน ฮีมสเคิร์ค (Maarten van Heemskerck), ฟรันส์ ฟลอริส (Frans Floris) ต่างก็มีบทบาทในการนำแบบการวาดของอิตาลีเข้ามาผสมกับลักษณะการเขียนของตนเอง นอกจากนั้นจิตรกรเฟล็มมิชและเนเธอร์แลนด์ก็ยังมีบทบาทในการริเริ่มหัวข้อการวาดใหม่ที่กลายมาเป็นที่นิยมกันเช่นจิตรกรรมภูมิทัศน์ และจิตรกรรมชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่นงานของโยอาคิม พาติเนร์ (Joachim Patinir) ที่มีบทบาทสำคัญในการวิวัฒนาการการเขียนจิตรกรรมภูมิทัศน์ ขณะเดียวกับที่ปิเอเตอร์ บรูเกล (ผู้พ่อ) และ เปียเตอร์ เอิร์ตเซ็น (Pieter Aertsen) ช่วยทำให้จิตรกรรมชีวิตประจำวันเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย

ยุคทองของเนเธอร์แลนด์[แก้]

"อาหารเช้ากับกุ้งมังกร" โดยวิลเล็ม เคลสซูน เฮดา (คริสต์ศตวรรษที่ 17)

"ยุคทองของเนเธอร์แลนด์" เป็นสมัยของการเขียนภาพที่รุ่เรืองที่สุดสมัยหนึ่งของจิตรกรรมตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในช่วงนี้มีภาพเขียนออกมาเป็นจำนวนมากจนกระทั่งทำให้ราคาของภาพเขียนตกลงไปมาก ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1620 จิตรกรรมของเนเธอร์แลนด์มีลักษณะที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากศิลปะบาโรกที่เป็นลักษณะการเขียนแบบเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ในฟลานเดอส์ที่ไม่ไกลนัก มาเป็นการเขียนที่เป็นความจริงมากขึ้นและมีความคำนึงถึงความเป็นจริงในสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ประเภทของจิตรกรรมที่เขียนกันก็ได้แก่จิตรกรรมประวัติศาสตร์, ภาพเหมือน, จิตรกรรมภูมิทัศน์, จิตรกรรมภูมิทัศน์เมือง, ภาพนิ่ง และภาพชีวิตประจำวัน ในการวาดภาพสี่อย่างหลังจิตรกรชาวเนเธอร์แลนด์สร้างลักษณะที่เด่นมากจนกลายเป็นผู้นำของจิตรกรรมประเภทนี้ต่อมาอีกถึงสองศตวรรษ นอกจากนั้นภาพเขียนของเนเธอร์แลนด์ก็มักจะเป็นภาพเขียนที่แฝงคำสอน แต่ยุคทองมิได้ฟื้นตัวขึ้นหลังจากการรุกรานของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1671 แต่ก็มิได้สิ้นสุดลงจนกระทั่งปี ค.ศ. 1710

จิตรกรชาวเนเธอร์แลนด์โดยเฉพาะทางตอนเหนือพยายามกระตุ้นอารมณ์ของผู้ชมภาพโดยการทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกใกล้ชิดอย่างลึกซึ้งราวกับเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมเหตุการณ์ภายในภาพ

อุปมานิทัศน์ก็เป็นอีกหัวเรื่องหนึ่งที่เป็นนิยมเขียนกัน ซึ่งเป็นภาพที่ใช้สัญลักษณ์ในการสื่อความหมายของภาพ นอกจากนั้นก็เป็นภาพชีวิตประจำวันที่ดูเผินๆ ก็เป็นเพียงภาพที่แสดงกิจการต่างๆ ในชีวิตประจำวันแต่อันที่จริงแล้วเป็นภาพที่มักจะเขียนจากสุภาษิตเนเธอร์แลนด์หรือวลีที่รู้จักกันเพื่อที่จะเป็นการสื่อความหมายทางจริยธรรม ซึ่งบางครั้งก็ยากที่จะตีความหมายในปัจจุบัน

การเขียนภาพเหมือนก็รุ่งเรืองมากในเนเธอร์แลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ภาพเหมือนมากมายเป็นงานที่จ้างโดยผู้ที่มีฐานะดี นอกจากนั้นก็ยังนิยมการเขียนภาพเหมือนกลุ่มที่มักจะเป็นการจ้างจากสมาคมต่างๆ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล หรือผู้มีตำแหน่งที่ที่นับถือของชุมชน ภาพเขียนกลุ่มส่วนใหญ่จะจ่ายโดยแต่ละบุคคลในภาพ จำนวนที่จ่ายก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งในภาพ ที่อาจจะตั้งแต่หัวถึงเท้าด้านหน้าภาพหรือเพียงใบหน้าข้างหลังภาพ แต่บางครั้งก็จะเฉลี่ยกันจ่ายซึ่งอาจจะทำให้เป็นปัญหาในการวางภาพว่าใครจะเด่นกว่าใคร

คริสต์ศตวรรษที่ 19[แก้]

"The Dam, Amsterdam" (ราว ค.ศ . 1895) โดยจอร์จ เฮ็นดริค ไบรท์เนอร์

ตระกูลการเขียนแบบเฮก (Hague School) เริ่มขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่รวมทั้งโยเซฟ อิสราเอลส์ (Jozef Israëls) และเฮนดริค วิลเล็ม เมสดาก (Hendrik Willem Mesdag) การเขียนของยาโคป มอริส (Jacob Maris) แสดงให้เห็นถึงภูมิทัศน์ที่สว่างสดใสแต่อ้างว้างของเนเธอร์แลนด์ที่ฟิลลีป ซิลเค็นกล่าวว่าไม่มีจิตรกรผู้ใดที่ "สามารถแสดงถึงผลของบรรยากาศที่อาบด้วยอากาศและแสงท่ามกลางสายหมอกเบาบาง ...และขอบฟ้าที่ใกลออกไปที่พร่าด้วยด้วยหมอก หรือบรรยากาศทึมในภาพ แต่ก็เรืองด้วยบรรยากาศที่เป็นเนเธอร์แลนด์"

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นสมัยของศิลปะอิมเพรสชันนิสม์อัมสเตอร์ดัม ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ฝรั่งเศส เป็นสมัยที่จิตรกรแสดงปฏิกิริยาของความรู้สึกทางอารมณ์ต่อสิ่งที่เห็นบนผืนผ้าใบด้วยพู่กัน ศิลปินมักจะเน้นการวาดสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันและภาพชีวิตในเมือง

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อัมสเตอร์ดัมกลายเป็นศูนย์กลางของศิลปะและวรรณกรรม จิตรกรสำคัญของอิมเพรสชันนิสม์อัมสเตอร์ดัมรวมทั้งจอร์จ เฮ็นดริค ไบรท์เนอร์ (George Hendrik Breitner), วิลเล็ม ซวาร์ต (Willem de Zwart), ไอแซ็ค อิสราเอลส์ (Isaac Israëls) และยัน โตโรป (Jan Toorop)

จอร์จ เฮ็นดริค ไบรท์เนอร์เป็นผู้นำการเขียนแบบสัจจะนิยมมาสู่เนเธอร์แลนด์ที่ทำให้เป็นที่ตื่นเต้นกันทั่วไปที่คล้ายคลึงกับกุสตาฟ คอร์แบท์ (Gustave Courbet) และเอดวด มาเนท์ ของฝรั่งเศส ไบรท์เนอร์เป็นผู้มีความสามารถในการเขียนภูมิทัศน์เมืองที่เป็นภาพเช่นไม้ที่กองพะเนินที่ท่าเรือ, การก่อสร้างและรื้อถอนบ้านกลางเมือง, รถรางลากด้วยม้าบน หรือคลองเวลาฝนตก ภาพในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไบรท์เนอร์ก็มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในเนเธอร์แลนด์ที่จะเห็นได้จากงานแสดงภาพเขียนย้อนหลังในอัมสเตอร์ดัมในปี ค.ศ. 1901 และถ้าอากาศในอัมสเตอร์ดัมมีฝนตกและมัวซัวชาวอัมสเตอร์ดัมก็มักจะกระซิบกันว่า "Echt Breitnerweer" (อย่างกับบรรยากาศของไบรท์เนอร์)

คริสต์ศตวรรษที่ 20[แก้]

ราวระหว่างปี ค.ศ. 1905 ถึงปี ค.ศ. 1910 ลัทธิผสานจุดสีที่ใช้โดยยาน สลุยเตอร์ส (Jan Sluyters), ปีต โมนดรียาน (Piet Mondriaen) และลีดอ เกสเตล (Leo Gestel) ก็เป็นที่นิยมทั่วไป ระหว่างปี ค.ศ. 1911 ถึง ค.ศ. 1914 ขบวนการศิลปะต่างๆ ก็หลั่งไหลกันเข้ามาในเนเธอร์แลนด์ ที่รวมทั้งบาศก์นิยม, อนาคตนิยม และ การแสดงออกทางอารมณ์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ลัทธิเดสตีเจล (De Stijl) ก็ถูกนำเข้ามาโดยทีโอ ฟาน เดิสเบิร์ก (Theo van Doesburg) และปีต โมนดรียาน (Piet Mondriaen) ที่เผยแพร่ศิลปะบริสุทธิ์ที่ใช้แต่เส้นนอนและเส้นยืนและสีหลักเท่านั้น

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ จิตรกรจากเนเธอร์แลนด์

ระเบียงภาพ[แก้]

ยุคเนเธอร์แลนด์ตอนต้น[แก้]

ยุคทองของเนเธอร์แลนด์[แก้]

ยุคเรอเนสซองซ์ของเนเธอร์แลนด์และเฟล็มมิช[แก้]

คริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20[แก้]