จิงโจ้ (เทพปกรณัม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิตรกรรมจิงโจ้

จิงโจ้ เป็นสัตว์ในจินตนาการชนิดหนึ่งของไทย มีรูปร่างหน้าตาอย่างมนุษย์แต่มีปีกและตีนอย่างนก คล้ายอรหันและกินรี โดยชื่อ จิงโจ้ นี้ เป็นชื่อนกขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ร้องเสียง จี-โจ้ จี-โจ้ เมื่อร้องก็จะโยกหัวและตัวไปมา แลดูยงโย่ยงหยก[1][2] ปรากฏในพระราชนิพนธ์ อิเหนา ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ความว่า[3][4]

กระลุมพูจับกระลำพักพ้อ จิงโจ้จับจิงจ้อแล้วส่งเสียง

ด้วยลักษณะของนกจิงโจ้นี้ ชาวไทยจึงนำไปจินตนาการเป็นสัตว์พิเศษขึ้นมา[2] ปรากฏภาพจิงโจ้โล้สำเภาที่บานหน้าต่างภายในอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นภาพลายรดน้ำสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพหมากำลังเห่าตัวประหลาดคือตัวจิงโจ้ที่เกาะหัวเรือสำเภา จะตกแหล่ไม่ตกแหล่[4] จากภาพนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า "การที่เอาคำเด็กร้องเล่นมาเขียนเป็นรูปภาพที่วัดพระเชตุพนคงเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นแน่ และเมื่อเขียนรูปภาพแล้วคงได้ทอดพระเนตร มิใช่รูปเขียนตามอำเภอใจช่าง ที่ช่างเขียนรูปจิงโจ้หน้าเป็นมนุษย์ ตีนเป็นนกนั้น ต้องมีอะไรเป็นหลักฐานว่า รูปร่างจิงโจ้เป็นเช่นนั้น"[2] เพราะช่างเขียนทราบว่าจิงโจ้เป็นนก หากจะวาดเป็นนก ก็จะขัดกับบทร้องเพลง ที่ระบุว่าจิงโจ้สามารถดำผุดดำว่ายในน้ำได้ จึงวาดให้จิงโจ้มีความเป็นมนุษย์มากกว่านก[4] บ้างอธิบายว่าเป็น "คนประหลาด" หรือ "สัตว์ประหลาด"[5]

จิงโจ้ปรากฏในบทเพลงกล่อมเด็กในสมัยก่อน ตามอย่างบทร้องโดยราชบัณฑิตยสภา ความว่า[2]

จิงเอ๋ยจิงโจ้ มาโล้สำเภา
หมาในไล่เห่า จิงโจ้ตกน้ำ
หมาในไล่ซ้ำ จิงโจ้ดำหนี
เอากล้วยสองหวี รับขวัญจิงโจ้

หรือตามอย่างบทร้องใน ฉันท์เยาวพจน์ ของเปโมรา ความว่า[4][6]

๏ จิงโจ้เอย มาโล้สำเภา หมาไล่เห่า
จิงโจ้ตกน้ำ หมาไล่ซ้ำ จิงโจ้ดำหนี
ได้กล้วยสองหวี รับขวัญจิงโจ้ โห่ฮิ้ว ฯ

ส่วนภาพจิงโจ้โล้สำเภาที่บานหน้าต่างด้านล่างภายในอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ของเดิมตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถูกลบทิ้งเมื่อ พ.ศ. 2525[7]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการตั้งโขลนเป็นทหารหญิง ก็ทรงเรียกว่าจิงโจ้[5] ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวไทยรู้จักแกงการู (สมัยนั้นเรียกว่า กังกูลู) สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องชนิดหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย จึงเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า "จิงโจ้" ด้วยเป็นสัตว์แปลก มักยืนยงโย่ยงหยก ตั้งแต่ พ.ศ. 2404–2439 เป็นต้นมา ปรากฏการใช้ชื่อ "จิงโจ้" สำหรับ "แกงการู" ในพจนานุกรม ศริพจน์ภาษาไทย์ ของบาทหลวงฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว แก้ไขเพิ่มเติมโดยบาทหลวงเวย์ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2439[8] ดังคำกราบทูลของพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 ความว่า "ข้าพเจ้าสืบได้ความมาอย่างนี้ จิ้งโจ้ เดิมเป็นชื่อนก คือ นกจีโจ้ โดยที่นกอย่างนี้มีอาการโยกไปย้ายมาไม่อยู่นิ่ง ไปเข้ากับคำว่า จิ้ง และ จี้ ในภาษาไทยใหญ่และไทยย้อย แปลว่า โคลง จึงเอาลักษณะนั้นมาตั้งให้ตัวแกงกะรู..."[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. "จิงโจ้ (๓)". ราชบัณฑิตยสภา. 29 มีนาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "จิงโจ้ (๔)". ราชบัณฑิตยสภา. 30 มีนาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "จิงจ้อ". ราชบัณฑิตยสภา. 25 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 เมฆา วิรุฬหก (16 มีนาคม 2562). ""จิงโจ้" ภาษาไทยแต่เดิมหมายถึงนก และสัตว์ประหลาดหัวเป็นคนตัวเป็นนก". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 กิเลน ประลองเชิง (17 มกราคม 2562). "เรื่องของจิงโจ้". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. เอนก นาวิกมูล. เจ้านาย ขุนนาง. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2555, หน้า 302
  7. เอนก นาวิกมูล. เจ้านาย ขุนนาง. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2555, หน้า 278
  8. เอนก นาวิกมูล (22 ตุลาคม 2562). "คนไทยเห็น "จิงโจ้" ครั้งแรกเมื่อใด และทำไมไทยถึงเรียก "จิงโจ้"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "kangaroo-จิงโจ้". ราชบัณฑิตยสภา. 29 สิงหาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)