จดหมายเหตุแห่งความน่าสะพรึงกลัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จดหมายเหตุ
แห่งความน่าสะพรึงกลัว *
  ความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโก
ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ยุติธรรมในอาคารศาลยุติธรรมสูงสุด
ซึ่งเป็นที่เก็บต้นฉบับจดหมายเหตุ
ที่เก็บรักษาพิพิธภัณฑ์ยุติธรรม ศูนย์เอกสารและจดหมายเหตุเพื่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งปารากวัย
ประเทศ ปารากวัย
ภูมิภาค **ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน
อ้างอิง2008-51
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2552
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีความทรงจำแห่งโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

จดหมายเหตุแห่งความน่าสะพรึงกลัว (สเปน: Archivos del Terror) เป็นชื่อที่ใช้เรียกเอกสารชุดหนึ่งซึ่งบันทึกกิจกรรมผิดกฎหมายบางอย่างที่ดำเนินการโดยกองกำลังตำรวจลับของอัลเฟรโด เอสโตรสเนร์ อดีตประธานาธิบดีและผู้เผด็จการปารากวัยจนถึง พ.ศ. 2532 เอกสารชุดนี้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2535 โดยมาร์ติน อัลมาดา ทนายความและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และโฆเซ อากุสติน เฟร์นันเดซ ผู้พิพากษา ในสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในเมืองลัมเบเร[1] ย่านชานกรุงอาซุนซีออน เมืองหลวงของประเทศปารากวัย มีความพยายามนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ดำเนินคดีกับเอากุสโต ปิโนเช ดำเนินคดีสิทธิมนุษยชนในประเทศชิลีและอาร์เจนตินา และพิสูจน์การมีอยู่ของปฏิบัติการคอนดอร์[2]

ภาพรวม[แก้]

เฟร์นันเดซและอัลมาดากำลังค้นหาแฟ้มข้อมูลเกี่ยวกับอัลมาดา (ซึ่งเคยเป็นนักโทษการเมืองในสมัยเอสโตรเนร์) ในสถานีตำรวจที่ลัมเบเร[3] แต่พวกเขากลับพบเอกสารสำคัญที่บรรยายชะตากรรมของชาวลาตินอเมริกาหลายพันคนที่ถูกลักพาตัว ทรมาน และสังหารอย่างลับ ๆ โดยฝ่ายรักษาความมั่นคงของประเทศชิลี, โบลิเวีย, บราซิล, ปารากวัย, อาร์เจนตินา และอุรุกวัยด้วยความร่วมมือจากสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ของสหรัฐ การดำเนินการนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม "ปฏิบัติการคอนดอร์"

"จดหมายเหตุแห่งความน่าสะพรึงกลัว" ระบุรายการบุคคล 50,000 คนที่ถูกสังหาร, 30,000 คนที่หายตัวไป และ 400,000 คนที่ถูกจำคุก[3][4] เอกสารชุดนี้ยังเปิดเผยว่าประเทศอื่น ๆ เช่น โคลอมเบีย, เปรู, เวเนซุเอลา ให้ความร่วมมือในระดับต่าง ๆ ด้วยการจัดหาข้อมูลข่าวกรองตามที่ได้รับการร้องขอจากฝ่ายรักษาความมั่นคงของประเทศในภูมิภาคกรวยใต้ ประเทศเหล่านี้บางประเทศได้ใช้ส่วนหนึ่งของจดหมายเหตุ (ซึ่งขณะนี้เก็บรักษาอยู่ที่ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งปารากวัย) เพื่อดำเนินคดีกับอดีตนายทหารหลายคน บัลตาซาร์ การ์ซอน ผู้พิพากษาชาวสเปน ได้พยายามฟ้องร้องปิโนเชโดยใช้หลักฐานจากจดหมายเหตุเหล่านั้น

"[เอกสารเหล่านี้] เป็นกองภูเขาที่น่าอัปยศของคำโกหกซึ่งเอสโตรสเนร์ใช้ขู่กรรโชกชาวปารากวัยอยู่นานถึง 40 ปี" อัลมาดากล่าว[1] เขาต้องการให้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขึ้นทะเบียน "จดหมายเหตุแห่งความน่าสะพรึงกลัว" เป็นแหล่งทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ เนื่องจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อรักษาและปกป้องเอกสาร

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2543 คณะผู้แทนจากยูเนสโกคณะหนึ่งไปเยือนกรุงอาซุนซีออนหลังจากทางการปารากวัยขอความช่วยเหลือในการเก็บแฟ้มเอกสารเหล่านี้ไว้ในทะเบียนความทรงจำแห่งโลก ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของแผนการที่มุ่งปกป้องและส่งเสริมมรดกเอกสารของมนุษยชาติ เพื่อทำให้มั่นใจว่าเอกสารเหล่านั้นได้รับเก็บรักษาและพร้อมสำหรับการสืบค้น

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Paraguay's archive of terror". By Mike Ceaser. March 11, 2002. BBC.
  2. "How Paraguay's 'Archive of Terror' put Operation Condor in focus". By Simon Watts. December 22, 2012. BBC.
  3. 3.0 3.1 Los Archivos del Horror del Operativo Cóndor by Stella Calloni, on Nizkor's website (สเปน)
  4. 1992: Archives of Terror Discovered[ลิงก์เสีย]. National Geographic. Retrieved August 26, 2015.