ความรุนแรงต่อสตรีในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความรุนแรงต่อสตรีในประเทศไทย รวมถึงความรุนแรงในครอบครัว การข่มขืน การค้าประเวณี และการฆาตกรรม ความรุนแรงต่อสตรีส่งผลกระทบต่อบุคคลและครอบครัวในระยะยาว ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ความเชื่อดั้งเดิมทางเพศและค่านิยม รวมถึงการปฏิบัติทางวัฒนธรรมในประเทศไทย เป็นตัวกำหนดและทำให้ความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทยยังคงมีอยู่[1]

ประเภทของความรุนแรง[แก้]

ความรุนแรงภายใน[แก้]

ในปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุขไทยรายงานกรณีความรุนแรงในครอบครัวจำนวน 31,866 คดี[2] องค์การอนามัยโลกระบุว่าความรุนแรงในครอบครัวนั้น รวมถึงความสัมพันธ์ของคู่นอนที่มีการล่วงละเมิดทางอารมณ์ ร่างกาย และ/หรือการล่วงละเมิดทางเพศด้วย[2] จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2548 พบว่า 1 ใน 6 ของผู้หญิงไทยที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่รักต่างเพศนั้น เคยมีประสบการณ์หรือพบกับความรุนแรงในครอบครัวตลอดช่วงชีวิตของตน[2] การศึกษาในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งสำรวจผู้หญิงไทยในภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยผ่านการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย พบว่าความรุนแรงในครอบครัวมีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ ทางจิตใจ ร่างกาย และทางเพศ อีกทั้งร้อยละของสตรีไทยที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัวในการศึกษานี้สูงกว่า 2.9% อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวมีคำถามเกี่ยวกับความรุนแรงของคู่นอนเพียงข้อเดียว ต่างจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกที่มีคำถามหลายข้อ[3] อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้สรุปได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาร้ายแรง และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สังคมไทยควรได้รับการแก้ไข เนื่องจากพบว่าผลกระทบของความรุนแรงในครอบครัวส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของสตรีไทยและขยายวงกว้างออกไปนอกขอบเขตของสุขภาพ

รายได้ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ลดลงของผู้หญิงไทยจากความสัมพันธ์ และอำนาจในการตัดสินใจในความสัมพันธ์นั้น เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของโอกาสเกิดความรุนแรงในครอบครัว[1]

ความรุนแรงทางด้านจิตใจและร่างกาย[แก้]

ผลการสำรวจขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2548 พบว่า 60-68% ของผู้หญิงไทยที่เผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวนั้น เคยประสบกับความรุนแรงทางจิตใจ ความรุนแรงเหล่านี้รวมถึงการถูกดูถูกหรือทำให้รู้สึกแย่ ถูกทำให้อับอายหรือดูแคลน และถูกขู่ทำร้าย[3] นอกจากนี้ในการสำรวจเดียวกัน สตรีไทย 52-65% ที่เผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว ระบุว่าเคยประสบกับความรุนแรงทางกาย การกระทำรุนแรงเหล่านี้รวมถึงการตบ, ขว้าง, ผลัก, ชก, เตะ, ลาก, ทุบตี, เผา หรือขู่ว่าจะใช้อาวุธ[3]

เรื่องเพศ[แก้]

ผลสำรวจในปี 2548 พบว่าผู้หญิงไทย 62-63% ที่เคยประสบกับความรุนแรงในครอบครัวนั้นประสบกับความรุนแรงทางเพศด้วย การกระทำเหล่านี้รวมถึงการถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์, การมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากความกลัว และการถูกบังคับทำกิจกรรมทางเพศที่ทำให้เสื่อมเสียหรืออับอาย[3] ในปี พ.ศ. 2560 การศึกษาที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมสำหรับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในมนุษย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าความรุนแรงทางจิตใจและร่างกายนั้นแพร่หลายมากกว่าความรุนแรงทางเพศ ความแตกต่างของผลลัพธ์ระหว่างปี 2548 และ 2560 อาจเนื่องมาจากนโยบายและการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวที่เปิดตัวในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการศึกษา ในปี พ.ศ. 2550 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ได้เปลี่ยนภาษาว่าบุคคลใดที่กฎหมายถือว่าเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศได้ จากเดิมที่ระบุว่า "บุคคลใดก็ตามที่ร่วมประเวณีกับผู้หญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของตน โดยขู่เข็ญเธอหรือใช้ความรุนแรง... จะต้องระวางโทษถึงจำคุก" ได้แก้ไขโดยตัดวลี "กับผู้หญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของตน" เพื่อให้ครอบคลุมกรณีที่เหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศหรือการล่วงละเมิดทางเพศซึ่งผู้ข่มขืนเป็นสามีของตนตามกฎหมาย [2] และต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา โดยเพิ่มโทษแก่ผู้ข่มขืนกระทำชำเรา ไม่ว่าเหยื่อจะเป็นเพศใดก็ตาม ให้มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต[4]

การข่มขืน[แก้]

จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2560 มีคดีข่มขืน 2,535 คดี แม้จะต่ำกว่าตัวเลข 3,240 คดีที่รายงานเมื่อสองปีก่อนหน้านั้น แต่ก็มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากจากคดีข่มขืน 2,109 คดีที่รายงานในปี พ.ศ. 2559 ในความพยายามที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศและลดสถิติการข่มขืนนั้น กองบังคับการปราบปรามได้ประณามผู้ข่มขืนในประเทศไทยว่าเป็น "ศัตรูสาธารณะอันดับ 1"[5] ตามสถิติการข่มขืนในประเทศไทยโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงโดยผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 พล.ต.ต. จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการกองปราบปรามในขณะนั้น รายงานว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รายงานการข่มขืนมีความหลากหลายมากขึ้น จิรภพกล่าวถึงเหยื่อที่ถูกข่มขืนหลายรายที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ และบางคดีกระทำโดยพระสงฆ์[5] ไพศาล ลิขิตปรีชากุล กล่าวว่าสาเหตุหนึ่งผู้หญิงเลสเบี้ยนจำนวนหนึ่งในประเทศไทยถูกข่มขืนนั้น เป็นเพราะเพื่อ "แก้ไข" รสนิยมทางเพศ[6]

ผลกระทบ[แก้]

บุคคล[แก้]

ในปี 2560 สตรีจำนวน 29% ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวรายงานว่าพวกเธอต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอันเป็นผลมาจากความรุนแรงในครอบครัว, 26.1% ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์หลังจากทะเลาะ/โต้เถียงกับคู่ของตน, 46.7% ของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวในประเทศไทยรายงานว่าได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย การบาดเจ็บเหล่านี้รวมถึงบาดแผล/ถูกกัด (15.9%) รอยขีดข่วน/ฟกช้ำ (74.8%) เคล็ดขัดยอก (56.1%) แผลไหม้/บาดลึก (6.5%) แก้วหูแตกหรือบาดเจ็บที่ดวงตา (11.2%) และกระดูก/ฟันหัก ( 6.5%) ผลกระทบของความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิงในประเทศไทยมีมากกว่าการบาดเจ็บทางร่างกาย ร้อยละ 61% ของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวรายงานว่าพวกเธอไม่มีสมาธิในการทำงานหลังจากมีประสบการณ์กับความรุนแรงในครอบครัว ร้อยละ 12.2 ระบุว่าต้องลางานหนึ่งวัน ร้อยละ 23.9 ขาดความมั่นใจและรู้สึกนับถือตนเองต่ำ ร้อยละ 12.2 ระบุว่าไม่ไปทำงานเพราะอับอาย และร้อยละ 9.5 ระบุว่าคู่ของตนสะกดรอยตามขณะอยู่ที่ทำงาน[2]

ครอบครัว[แก้]

ในปี 2560 ผู้หญิง 49.6% ที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัวรายงานว่าบุตรของเธอพบเห็นความรุนแรง ผู้หญิงเหล่านี้แสดงความวิตกกังวลว่าลูกของพวกเขาจะซึมซับเหตุดังกล่าว และทำให้สืบทอดความรุนแรงในครอบครัวต่อเนื่องไปตลอดชีวิต[2]

ปัจจัยที่ทำให้ความรุนแรงต่อสตรีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง[แก้]

ความอนุรักษนิยมทางเพศ[แก้]

บทบาททางเพศแบบดั้งเดิมในสังคม และระบบปิตาธิปไตยที่สร้างและส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงต่อสตรีในประเทศไทย ปัจจัยสำคัญสองแหล่งคือศาสนาพุทธแบบไทยและค่านิยมแบบครอบครัวไทยดั้งเดิม[1]

ศาสนาพุทธแบบไทย[แก้]

ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาทางการของประเทศไทย แต่ 93% ของประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือโรงเรียนพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทและปกป้องศาสนาพุทธจากความเสื่อมเสียทุกรูปแบบ[7] ในศาสนาพุทธแบบไทย ผู้หญิงมีความด้อยกว่าผู้ชาย บทบาทสำคัญของสตรีในศาสนาพุทธแบบไทยคือการให้การสนับสนุนพระสงฆ์ซึ่งมักจะเป็นผู้ชาย และกิจกรรมต่าง ๆ ของวัด ควบคู่ไปกับการถวายสังฆทาน อันเป็นหนทางเดียวที่สตรีจะได้รับบุญทางศาสนา "กรรมล่าง" ของผู้หญิงทำให้พวกเธอต้องทนทุกข์ทรมานกับชีวิตที่ต้องอดทนเพื่อจะได้เกิดใหม่เป็นผู้ชายในชาติหน้า สตรีในประเทศไทยที่เคยประสบกับความรุนแรงในครอบครัวมักได้รับคำแนะนำจากพระสงฆ์ให้อดทนและมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้กระทำความผิด เนื่องจากความทุกข์ยากของเหยื่อนั้นเป็นผลมาจากกรรมชั่วจากชาติปางก่อน[1]

ค่านิยมครอบครัวไทย[แก้]

ในครอบครัวไทยดั้งเดิม สามีมีหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวและเจ้าบ้าน ภรรยาต้องประพฤติตนให้อ่อนโยน บริสุทธิ์ เชื่อฟังและอยู่ใต้บังคับบัญชาของสามี บทบาทเหล่านี้สามารถย้อนไปถึงกฎหมายในศตวรรษที่ 18 และ 19 ในประเทศไทยที่ยอมรับภรรยาเป็นทรัพย์สินของสามี ซึ่งอาจถูกลงโทษทางร่างกายหรือขายให้ผู้อื่นได้[1]

ค่านิยมของครอบครัวไทยดั้งเดิมเน้นการแบ่งแยกระหว่างการแสดงออกทางสาธารณะและเรื่องส่วนบุคคล ขนบธรรมเนียมของไทยทำให้ความขัดแย้งและปัญหาภายในครอบครัวเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเปิดเผยต่อบุคคลอื่น เพื่อรักษาเกียรติของวงศ์ตระกูล สิ่งนี้ยังส่งผลให้ครอบครัวต้องซ่อนการแสดงความรู้สึกและความคิดต่อผู้อื่น[1]

ละครโทรทัศน์ไทย[แก้]

การข่มขืนและความรุนแรงทางเพศรูปแบบอื่น ๆ ปรากฎในละครไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบหลักของความบันเทิงทางโทรทัศน์ในประเทศในช่วงไพรม์ไทม์ ความรุนแรงทางเพศมักถูกพรรณนาในละครว่าเป็นการกระทำที่สมควรแก่ผู้หญิงที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในละครประเภท "แก้แค้น" ความรุนแรงทางเพศในละครมักถูกทำให้ชอบธรรมในการแสดง ซึ่งเป็นผลมาจากกรรมไม่ดีและการลงโทษทางสังคมตามเพศ อีกทั้งบทละครที่มีฉากดังกล่าว มักชี้นำว่าการกระทำดังกล่าวเป็นชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของสตรีเหล่านั้น[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Xiaohe Xu; Kerley, Kent R.; Sirisunyaluck, Bangon (November 2010). "Understanding Gender and Domestic Violence From a Sample of Married Women in Urban Thailand". Journal of Family Issues. 32 (6): 791–819. doi:10.1177/0192513x10386306. ISSN 0192-513X.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 M, Chuemchit; S, Chernkwanma; R, Somrongthong; Dl, Spitzer (2018-09-01). "Thai women's experiences of and responses to domestic violence". International Journal of Women's Health. 10: 557–565. doi:10.2147/IJWH.S172870. ISSN 1179-1411. PMC 6166756. PMID 30310331.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Chuemchit, Montakarn; Chernkwanma, Suttharuethai; Rugkua, Rewat; Daengthern, Laddawan; Abdullakasim, Pajaree; Wieringa, Saskia E. (2018-07-01). "Prevalence of Intimate Partner Violence in Thailand". Journal of Family Violence. 33 (5): 315–323. doi:10.1007/s10896-018-9960-9. ISSN 1573-2851. PMC 5986850. PMID 29904232.
  4. "ราชกิจจาฯ เผยแพร่พระราชบัญญัติ โทษข่มขืน-กระทำชำเรา สูงสุดประหารชีวิต". workpointTODAY.
  5. 5.0 5.1 Bangkok Post Public Company Limited. "Rapists get 'No.1 enemy' tag". www.bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 2019-11-09.
  6. Bangkok Post Public Company Limited. "We need to fight homophobia at home". www.bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 2019-11-09.
  7. "The Dangerous Buddhist Card in Thailand's New Constitution". thediplomat.com. สืบค้นเมื่อ 2019-11-10.
  8. Townsend, Rebecca (October 2016). "Prisoner of love: sexual violence on Thai television". Critical Asian Studies. 48 (4): 579–596. doi:10.1080/14672715.2016.1231011. ISSN 1467-2715.