คลองในไก่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองในไก่หรือคลองมะขามเรียงอยู่บริเวณด้านขวาบนเกาะเมือง ขนานไปกับแม่น้ำป่าสักทางทิศตะวันออก

คลองในไก่, คลองนายก่าย หรือ คลองมะขามเรียง เป็นแนวคลองขุดโบราณบนเกาะเมืองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชื่อมคลองมหาไชยทางทิศเหนือกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ ถือเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมระหว่างเกาะเมืองไปสู่นอกเกาะเมือง และเป็นคลองที่มีขนาดยาวที่สุดในเกาะเมือง

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

คลองได้ชื่อว่า "นายก่าย" คำว่า นายก่าย หรือในไก่ ก็ว่าตั้งตามชื่อชาวจีนคนหนึ่งที่เป็นหัวหน้าขุดคลอง[1] ภายหลังเรียกเพี้ยนเป็น "ในไก่"[2]

ส่วนชื่อ "คลองมะขามเรียง" ที่เป็นชื่อนิยมนั้น เกิดขึ้นจากการพัฒนาคลองในไก่ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีการตัดถนนเลียบคลอง และปลูกต้นมะขามเรียงรายด้วยจึงได้ชื่อนี้มา[3]

ประวัติ[แก้]

ช่วงต้นอาณาจักรอยุธยา ได้มีชาวจีนเข้ามาตั้งชุมชนนอกเกาะเมือง ได้แก่บริเวณแหลมบางกะจะ คลองสวนพลู และปากน้ำแม่เบี้ย จนประชาคมเริ่มขยายตัวขึ้น ผู้คนจึงหลั่งไหลข้ามมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะเมืองบริเวณหลังป้อมเพชร กลายเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ ดังสังเกตได้จากโบราณสถาน วัดร้าง สุสาน และโบราณวัตถุจำนวนมากเรียงรายตามฝั่งคลอง[3] ในช่วงเวลานี้ได้มีการก่อตั้งกรมท่าซ้าย มีขุนนางตำแหน่งออกญาโชฎึกราชเศรษฐี เป็นผู้ปกครองชาวเอเชียจากบูรพาทิศ อันได้แก่ จีน ญี่ปุ่น รีวกีว ญวน และฟอร์โมซา โดยอยู่ภายใต้การปกครองของออกญาศรีธรรมราช เสนาบดีพระคลังสินค้า ด้วยเหตุนี้จึงมีการขุดคลองในไก่ขึ้น เพื่อเป็นเส้นทางสัญจรระหว่างชุมชนชาวจีนกับชุมชนอื่น ๆ ในเกาะเมือง[3] ชาวจีนที่อาศัยแถบคลองในไก่นี้ส่วนใหญ่เป็นฮกเกี้ยนซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นผู้ดี[4] และชาวจีนกลุ่มดังกล่าวนี้ก็มีส่วนร่วมกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในการต่อสู้ศึกและฟื้นฟูอาณาจักรในเวลาต่อมาด้วยมองว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา[3]

ในอดีตย่านในไก่ถือเป็นย่านการค้าขนาดใหญ่ที่สำคัญของชาวจีนในอยุธยา มีทั้งตลาดใหญ่และตลาดน้อยตั้งอยู่ริมสองฝั่งคลองในไก่ ถือเป็นชุมชนจีนประจำเมือง (China Town) ของอยุธยา แต่ปัจจุบันตลาดทั้งสองแห่งนั้นไม่มีแล้ว[5][6] และยังมีความสำคัญอีกอย่างด้วยเป็นที่ตั้งของเคหสถานเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษและพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระบุไว้เพียงว่าอยู่บริเวณวัดสุวรรณดารารามไปจนถึงป้อมเพชรและคลองในไก่[5][7][8] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงสืบเชื้อสายฮกเกี้ยนจากชุมชนวัดสุวรรณดารารามฝั่งตะวันออกของคลองในไก่นี้[4]

คลองในไก่ได้รับการพัฒนาในช่วงรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ที่มีการตัดถนนเลียบคลองและปลูกต้นมะขามเรียงราย และเรียกถนนสายนี้ว่า "ถนนคลองมะขามเรียง" และถูกไปเรียกเป็นชื่อคลองด้วยว่า "คลองมะขามเรียง"[3] ปัจจุบันคลองในไก่และคลองฉะไกรใหญ่ถือเป็นสองคลองบนเกาะเมืองที่สามารถรอดพ้นการบุกรุกหรือถมที่จากราษฎรไปได้[9]

ลักษณะ[แก้]

คลองมีลักษณะตรงทอดยาวในแนวเหนือใต้เช่นเดียวกับคลองอื่น ๆ ทิศเหนือทะลุคลองมหาไชยที่สามารถต่อไปถึงแม่น้ำลพบุรีหรือแม่น้ำป่าสักได้ ส่วนทิศใต้ทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมเพชร ถือเป็นคลองขุดที่มีขนาดยาวที่สุดในเกาะเมือง[3] ทิศตะวันตกมีคลองบางเอียนแยกออกไป และมีคลองอีกสายหนึ่งเชื่อมคลองในไก่กับคลองประตูจีน[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. ระยับศรี กาญจนะวงศ์. ประวัติศาสตร์อยุธยา ถนนป่าตองและคลองในไก่. พระนครศรีอยุธยา : สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, 2544
  2. "วัดหอระฆัง วัดร้างโบราณ ริมคลองมะขามเรียง พระนครศรีอยุธยา". ภารกิจเที่ยววัด. 15 มิถุนายน 2557. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559. หน้า 28-29
  4. 4.0 4.1 กำพล จำปาพันธ์ (9 เมษายน 2557). "เคารพและเข้าใจประวัติศาสตร์อโยธยา-อยุธยา หยุดรื้อสุสานจีนที่วัดพนัญเชิง". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 "สำรวจ"อยุธยา" ป้อมเพชร-วัดสุวรรณฯ "บ้านเดิม"รัชกาลที่ 1". มติชนรายวัน. 6 เมษายน 2559. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. สุจิตต์ วงษ์เทศ (17 กุมภาพันธ์ 2559). "China Town ยุคอยุธยา ถูกทำลาย เพราะไทยไม่มีประวัติศาสตร์สังคม". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. สุจิตต์ วงษ์เทศ (7 เมษายน 2559). "วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา ย่านเคหสถานเดิม ร.1". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. พรรณราย เรือนอินทร์ (7 เมษายน 2559). "จาก ป้อมเพชร ถึง วัดระฆังฯ "นิวาสสถานเดิม" รัชกาลที่ 1". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน (8 พฤศจิกายน 2558). "อยุธยา (อยู่) กับน้ำ ฟื้นคูคลองเมืองมรดกโลก". อิศรา. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)