ป้อมเพชร
ป้อมเพชร | |
ที่ตั้ง | ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย |
---|---|
ประเภท | ป้อมปราการ |
ส่วนหนึ่งของ | กำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา |
ความเป็นมา | |
ผู้สร้าง | สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช |
สร้าง | พ.ศ. 2123 |
ละทิ้ง | พ.ศ. 2310 |
สมัย | อยุธยา |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ผู้ขุดค้น | กรมศิลปากร |
สภาพ | ซากเหลือจากการรื้อถอน |
ผู้บริหารจัดการ | กรมศิลปากร |
การเปิดให้เข้าชม | ทุกวัน 09.00-19.00 น. |
สถาปัตยกรรม | |
รูปแบบสถาปัตยกรรม | อยุธยา |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | ป้อมเพชร |
ขึ้นเมื่อ | 18 มีนาคม พ.ศ. 2484 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา |
เลขอ้างอิง | 0000399 |
ป้อมเพชร เป็นป้อมที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา ในตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่บริเวณบางกะจะ จุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สายคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี (ปัจจุบัน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา) ป้อมเพชร เป็นป้อมสำคัญที่สุดในบรรดา 29 ป้อม ที่ในปัจจุบันหลงเหลืออยู่ 2 ป้อม[1] ทำหน้าที่ป้องกันข้าศึก ที่มาทางน้ำตรงมุมพระนคร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา พ.ศ. 2123
กรุงศรีอยุธยา สถาปนาเป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ. 1893 กำแพงเมืองและป้อมเมื่อเริ่มสร้างนั้นทำจากไม้ ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ขยายขอบเขตราชธานีไปถึงตลิ่งแม่น้ำ จึงได้มีการสร้างกำแพงด้วยอิฐและศิลาแลงขึ้น โดยใช้อิฐก่ออยู่บนคานไม้ ที่ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับอยู่ด้านล่าง ป้อมเพชรก่อด้วยอิฐและศิลาแลง หนา 14 เมตร มีเชิงเทินใบเสมารวม 6.50 เมตร มีช่องปืนใหญ่ 8 ช่อง ที่ก่อเป็นรูปโค้งมนครึ่งวงกลม ลักษณะรูปทรงป้อม เป็นแบบ 6 เหลี่ยม ยื่นออกไปจากแนวกำแพงเมือง
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม บรรยายถึงป้อมเพชรไว้ว่า "ป้อมปืนใหญ่ก่อด้วยศิลาแลงมั่งคงแข็งแรง สูง 3 วา 2 ศอก ป้อมนี้สูงกว่ากำแพงกรุง 2 ศอก มีชานชาลารอบป้อมกว้าง 3 วา มีกำแพงแก้วล้อมรอบชานป้อม มีประตูช่องกุฎข้างซ้ายป้อมประตู 1 ข้างขวาป้อมประตู 1 ประตูทั้งสองนั้นเดินออกตามชานป้อมใหญ่ได้รอบป้อม มีปืนแซกตามช่อง 8 กระบอก ชั้นล่างปืนใหญ่รางเกวียนบันจุทุกช่อง 16 กระบอก ป้อมใหญ่นี้มีชื่อ ป้อมเพชร ตั้งอยู่ตรงแม่น้ำตะลาดบางกระจะ"[2] ป้อมเพชรมีรูปร่างเหมือนหัวสำเภา คนแต่ก่อนเรียกย่านหัวสาระภา บริเวณนี้ยังเป็นย่านการค้าของชาวจีนตั้งแต่ป้อมเพชร มีตลาดใหญ่ (ย่านในไก่) ต่อเนื่องตลาดน้อย จนถึงวัดสุวรรณดาราราม (วัดทอง) ยังเป็นที่ตั้งหลักแหล่งเดิมของรัชกาลที่ 1 มีบรรพชนชื่อทอง[3]
หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ป้อมเพชรยังคงเป็นด่านปราการสำคัญของเมือง พอถึงสมัยรัชกาลที่ 1 สร้างราชธานีแห่งใหม่ที่กรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้รื้อป้อม กำแพง นำอิฐเหล่านั้นมาสร้างเมืองใหม่ แต่ยังคงเหลือป้อมเพชรไว้ เพราะป้อมเพชรสร้างด้วยศิลาแลง จึงรื้อถอนลำบาก พระยาโบราณราชธานินทร์อธิบายไว้ว่า "จึงยังคงเหลืออยู่แต่ป้อมเพชร์กับป้อมประตูข้าวเปลือกข้างวัดท่าทราย แลเศษกำแพงที่หน้าวัดญาณเสนแห่งหนึ่ง เศษกำแพงมีประตูช่องกุฏิ์ที่ข้างวัดจีนตรงวัดพนัญเชิงข้ามแห่งหนึ่งเท่านั้น ตามสันเชิงเทินรากกำแพงที่รื้ออิฐไปราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำก็ถือเอาเป็นที่หลังบ้านของตนทั่วกัน"[4]
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล ณ ป้อมเพชร์ ให้แก่ พระสมุทบุรานุรักษ์ (ขำ) ขณะประทับแรมที่อ่างศิลา พ.ศ. 2456 ด้วยบรรพบุรุษของพระสมุทบุรานุรักษ์ มีถิ่นฐานอยู่บริเวณป้อมเพชร[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เมื่อบุพเพอาละวาด ประวัติศาสตร์จึงมีชีวิต
- ↑ ออกแบบสุดอลัง! ป้อมเพชร บุพเพสันนิวาส บ้านเดิม ร.1 ต้นกำเนิดสกุลดัง
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ : ท่าเรือนานาชาติ ย่านการค้า ยุคอยุธยา
- ↑ ป้อมเพชร ปราการปกป้องชาวอยุธยาที่ยังเหลืออยู่
- ↑ "ป้อมเพชร"ปราการป้องศึกเข้า"พระนคร"สมัยกรุงศรีอยุธยา ต้นกำเนิด "สกุล"ดัง[ลิงก์เสีย]