คลองวัดกุฎิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คลองวัดกุฎิ [วัดกุด] เป็นแนวคลองสายหนึ่งทางใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของวัดกุฎิ วัดสนามไชย และวัดไชยวัฒนาราม ในอดีตเป็นเส้นทางคมนาคมของชาวบ้าน แต่ปัจจุบันแปรสภาพเป็นร่องน้ำขนาดเล็กไม่สามารถใช้สัญจรได้[1]

ประวัติ[แก้]

คลองวัดกุฎิ ตั้งชื่อตามวัดกุฎิเป็นศาสนสถานที่อยู่ลึกจากปากคลองราว 100 เมตร[1] ซึ่งปัจจุบันเหลือสภาพเป็นโคกอิฐและแวดล้อมด้วยบ้านเรือนที่ปลูกบุกรุกพื้นที่วัดในอดีต โดยวัดดังกล่าวปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ว่าวัดดังกล่าวเป็นสถานที่ปลงศพมารดาของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) ซึ่งพิธีปลงศพนั้นมีข้าราชการฝ่ายพลเรือนไปร่วมงานกันมาก จนสมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงแคลงพระทัยและคิดที่จะกำจัดเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เสีย ครั้นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ทราบความดังนั้นก็น้อยเนื้อต่ำใจที่สู้อุตส่าห์ถวายความจงรักภักดีมาตลอด จึงได้ประกาศว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏก็จะทำตามรับสั่ง ฝ่ายขุนนางที่นิยมชมชอบในเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็เข้าร่วมในการรัฐประหารนั้นด้วย หลังประชุมเพลิงศพมารดาแล้ว ก็ยกขบวนเรือจากวัดกุฎิพร้อมด้วยขุนนางและทหารกว่า 3,000 คนขึ้นบกที่ประตูไชยใต้เกาะเมืองบริเวณปากคลองฉะไกรใหญ่ ซุ่มพลแถวตะแลงแกงก่อนเคลื่อนพลยึดพระราชอำนาจสมเด็จพระเชษฐาธิราชที่พระราชวังหลวง แล้วสถาปนาพระอาทิตยวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์แทน แต่ที่สุดเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็ปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในปี พ.ศ. 2172[1][2]

คลองวัดกุฎิเริ่มต้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมืองตัดเข้าทุ่งประเชดและทุ่งปากกรานอันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งประมงพื้นบ้านในอดีต[3] จึงสันนิษฐานว่าคลองนี้คงเป็นเส้นทางคมนาคมของชาวบ้านเพื่อเข้าไปยังทุ่งทั้งสองอันเป็นพื้นที่ชั้นในของคลอง[1] จากการสำรวจของกรมศิลปากรเมื่อหลายปีก่อนพบว่าคลองกว้าง 5 เมตร ลึก 2 เมตร และยาว 120 เมตร แต่ก็ใกล้สิ้นสภาพคลองแล้ว เพราะคลองถูกปกคลุมด้วยวัชพืชแล้ว[1]

จากการสำรวจของปวัตร์ นวะมะรัตน ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2553 พบว่าคลองสิ้นสภาพไปแล้ว เหลือร่องรอยของคลองคือปากคลองที่กลายเป็นอู่จอดเรือของราษฎร และอีกจุดคือแนวคลองที่เล็กมาก ลักษณะเป็นร่องน้ำขนาดเล็กที่ตื้นและรกชัฏ[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 ปวัตร์ นวะมะรัตน. "วัดกุฎ (กุฎิ)". ศิลปวัฒนธรรม. 31 : 5 มีนาคม 2553, หน้า 48-49
  2. กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559. หน้า 130
  3. กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559. หน้า 34-36