ข้ามไปเนื้อหา

คลองฟูนันเตโช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองฟูนันเตโช
แผนที่แนวเส้นทางคลอง
ประเทศ กัมพูชา
พิกัด11°26′28″N 105°11′19″E / 11.441030°N 105.188714°E / 11.441030; 105.188714
ข้อมูลจำเพาะ
ความยาว180 km (110 ไมล์)
ความลึกเรือสูงสุด4.7 เมตร (15 ฟุต)
ประตูกั้นน้ำ3 แห่ง
สถานะกำลังก่อสร้าง
ประวัติ
หัวหน้าวิศวกรไชนาโรดแอนด์บริดจ์คอร์เปอเรชัน
เริ่มก่อสร้าง5 สิงหาคม พ.ศ. 2567; อีก 10 วัน (2567-08-05)
ข้อมูลภูมิศาสตร์
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้
จุดเริ่มต้นเปรกตาแก้ว แม่น้ำโขง
จุดสิ้นสุดอ่าวไทย
พิกัดต้นทาง11°26′28″N 105°11′19″E / 11.441030°N 105.188714°E / 11.441030; 105.188714

คลองฟูนันเตโช[1] (อังกฤษ: Funan Techo Canal;[2] เขมร: ព្រែកជីកហ្វូណនតេជោ) ชื่ออย่างเป็นทางการคือ โครงการระบบขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์โตนเลบาสัก[1] (อังกฤษ: Tonle Bassac Navigation Road and Logistics System Project) เป็นคลองความยาว 180 กิโลเมตรที่มีการเสนอให้ขุดในประเทศกัมพูชา เชื่อมต่อท่าเรือพนมเปญกับจังหวัดแกบและอ่าวไทย

ประวัติ

[แก้]

คลองฟูนันเตโชเป็นแนวความคิดที่ได้รับการเสนอขึ้นในสมัยของรัฐบาลของสมเด็จฮุน เซน และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีกัมพูชาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566[1]

โครงการดังกล่าวได้รับการสานต่อในรัฐบาลสมัยต่อมา ซึ่งฮุน มาเนต ลูกชายของฮุน เซน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยปรับสัดสวนการลงทุนซึ่งจากเดิมเป็นการลงทุนโดยบริษัทต่างชาติทั้งหมด มาเป็นเงินลงทุนร้อยละ 51 จากรัฐบาลกัมพูชา ประชาชนชาวกัมพูชาทุกคนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกันผ่านบริษัทของรัฐบาลซึ่งดำเนินการท่าเรือพระสีหนุและท่าเรือพนมเปญ[1]

สำหรับความหมายของชื่อคลองฟูนันเตโชนั้นมาจากคำว่า ฟูนัน คืออาณาจักรฟูนานที่เป็นอาณาจักรโบราณของขอมที่มีอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 มีศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ในเวียดนามปัจจุบัน และคำว่า เตโช คือการสื่อถึงอำนาจและความยิ่งใหญ่ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุไว้ว่าคลองดังกล่าวเคยมีการขุดใช้งานอยู่จริงในอดีต หากศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมและหลักฐานต่าง ๆ จะพบหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมได้ สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญของกัมพูชาที่ระบุในการศึกษาในอดีตว่าคลองดังกล่าวเคยมีอยู่จริงในอดีต[1]

เส้นทาง

[แก้]

คลองฟูนันเตโชจะเริ่มต้นที่แปรกตาแก้วของแม่น้ำโขง ผ่านเปรกตาเอกของแม่น้ำบาสัก และสุดท้ายก็ไหลรวมกับเปรกตาฮิงของแม่น้ำบาสัก[3] ในอำเภอเกาะทอม[4] เริ่มต้นจากจังหวัดกันดาล จังหวัดตาแก้ว จังหวัดกำปอด และสิ้นสุดที่จังหวัดแกบ[1] คลองจะช่วยเชื่อมต่อพนมเปญโดยตรงกับท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวของประเทศในเมืองพระสีหนุและท่าเรือใหม่ในกำปอด[5]

การก่อสร้าง

[แก้]

แผนปัจจุบันประกอบด้วยการสร้างประตูกั้นน้ำ 3 แห่ง พร้อมสะพาน 11 แห่ง คลองจะมีความกว้าง 100 เมตร ขนาดสองทิศทาง มีความลึก 5.4 เมตร มีร่องน้ำสำหรับเดินเรือลึก 4.7 เมตร (15 ฟุต)[6] รองรับเรือได้มากถึง 3,000 เดดเวทตัน โดยตั้งเป้าแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2571 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[7]

โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนทั้งหมดจากไชนาโรดแอนด์บริดจ์คอร์เปอเรชัน (China Road and Bridge Corporation: CRBC)[8] ซึ่งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 กำลังทำงานเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ[9] โครงการนี้จะได้รับการพัฒนาภายใต้สัญญารูปแบบการลงทุนก่อสร้าง ดำเนินงานเพื่อจัดเก็บผลประโยชน์ตามระยะเวลาที่กำหนด แลกกับการถ่ายโอนสินทรัพย์ดังกล่าวให้แก่รัฐหลังจากสิ้นสุดอายุของสัมปทาน (Build-Operate-Transfer: BOT)[10] รายงานอย่างไม่เป็นทางการของสื่อจีนระบุว่าอายุสัมปทานอาจยาวถึง 40–50 ปี[1]

กัมพูชามีกำหนดการที่จะวางศิลาฤกษ์เริ่มโครงการในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่เกาะเพชร โดยจัดการเฉลิมฉลองด้วยพลุและงานคอนเสิร์ตอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้น[11] วันนั้นเป็นวันเดียวกันกับวันเกิดของสมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี และบิดาของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน[1] โดยเริ่มมีการขุดร่องน้ำและปรับพื้นที่ในเปรกตาแก้วเพื่อรองรับพิธีเปิดในวันดังกล่าว[6] เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 แต่ชาวบ้านในพื้นที่เพิ่งมาทราบว่าจะมีการขุดเมื่อเครื่องจักรเริ่มทำงานแล้วโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า[11]

ประโยชน์

[แก้]

ปัจจุบันกัมพูชาพึ่งพาท่าเรือเวียดนามสูงมาก โดยเฉพาะท่าเรือก๊ายแม้ป คลองใหม่จะช่วยลดการพึ่งพาท่าเรือนี้ลงอย่างมาก[12] และช่วยเพิ่มเส้นทางเดินเรือให้กับกัมพูชาโดยไม่ต้องพึ่งพาการเข้าออกผ่านประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามซึ่งปัจจุบันพึ่งพามากถึงร้อยละ 33[1] รวมถึงสร้างรายได้จากค่าผ่านทางในการใช้เส้นทางสัญจรขนส่งสินค้า และสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยตามแนวริมคลอง ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น เชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมภายในประเทศ

นอกจากนี้รัฐบาลกัมพูชายังวางแผนที่จะกำหนดพื้นที่ทั้งสองฝั่งของคลองให้เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่[6]

ข้อกังวล

[แก้]
แผนที่ภูมิศาสตร์ของกัมพูชา

ประชาชนในพื้นที่แนวก่อสร้างคลองฟูนันเตโชมีข้อกังวลเกี่ยวกับมาตรการชดเชยและเยียวยาของรัฐบาล เนื่องจากมีความไม่แน่นอน ขาดการให้ข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งบางส่วนมาทราบข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์ว่าจะมีการเยียวยาและการเริ่มโครงการ[6]

ด้านภูมิรัฐศาสตร์

[แก้]

ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการขุดคลองของบริษัทซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจรวมถึงการลงทุนของประเทศจีน ว่าอาจส่งผลให้ประเทศจีนมีข้ออ้างในการนำกำลังทางเรือและกำลังทหารอื่น ๆ เข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้นตลอดช่วงเวลาของโครงการคือประมาณ 4 ปี[6] โดยมีความกังวลว่าโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง แต่สมเด็จฮุน เซน ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน[11] โดยเฉพาะด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งชาติตะวันตกและสหรัฐให้ความสนใจว่าอาจจะเป็นการพยายามเพิ่มอิทธิพลของจีนในพื้นที่ ก่อนหน้านี้มีการก่อสร้างฐานทัพเรือเรียมและมีการนำเรือรบของจีนมาวางกำลังในพื้นที่อ่าวไทย[1]

เดวิด ฮัตต์ นักข่าวและนักวิจัยของสถาบันเอเชียศึกษาแห่งยุโรปกลาง (Central European Institute of Asian Studies: CEIAS) ให้ความเห็นผ่านเว็บไซต์เดอะดิโพลแมต มองว่าข้อกังวลด้านการทหารต่อคลองฟูนันเตโชนั้นดูเกินความจริงไป หากจะมองว่าคลองดังกล่าวถือเป็นภัยต่อความมั่นคงทางทหารของประเทศเวียดนาม และให้ความเห็นว่าหากกัมพูชาเปิดทางให้กองทัพจีนใช้น่านน้ำภายในในการโจมตีเวียดนามนั้นง่ายกว่าหากใช้การโจมตีทางบกผ่านโครงสร้างพื้นฐานคือถนนและรถไฟที่จีนเป็นผู้สร้างในการรุกรานเวียดนาม[1]

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เคยแสดงความคิดเห็นต่อคลองฟูนันเตโชว่าจะทำให้กัมพูชามีบทบาทมากขึ้นในอ่าวไทย และทำให้ไทยอาจจะเกิดปัญหาในฐานะประเทศที่มีบทบาทสูงในอ่าวไทยอยู่ก่อนหน้านี้ และแสดงความกังวลว่าหากโครงการดังกล่าวสำเร็จไปได้ด้วยดีคลองนี้อาจจะดักเส้นทางเรือสินค้าให้ไม่จำเป็นต้องเข้ามาถึงอ่าวไทยตอนในของไทยเพื่อเทียบท่าเรือของไทย เช่น ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) รวมถึงส่งผลกระทบต่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกซึ่งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย และหากไทยตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวช้าอาจจะส่งผลเสียต่อประเทศไทย[11]

ด้านสิ่งแวดล้อม

[แก้]

หลายภาคส่วนกังวลการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของแม่น้ำโขง ที่ถือเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่มีปริมาณปลาที่ถูกจับนับเป็น 1 ใน 4 ของปลาน้ำจืดทั่วโลก[6] ขณะที่ประเทศเวียดนามยังได้แสดงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากคลองดังกล่าวเช่นกัน[13] โดยเฉพาะระดับน้ำซึ่งส่งผลต่อการปลูกข้าวในประเทศเวียดนาม รวมถึงคลองดังกล่าวจะทำให้เวียดนามสูญเสียรายได้จากการผ่านเข้าออกของเรือสินค้ากัมพูชาในคลองของเวียดนาม[6]

หากยึดตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 (1995 Mekong Agreement) มีการระบุว่าหากจะทำโครงการที่ส่งผลกระทบต่อการไหลของแม่น้ำโขง จะต้องได้รับการประเมินทางเทคนิคจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) รวมถึงต้องรับฟังข้อมูลจากประเทศสมาชิก และต้องผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากับคณะกรรมาธิการ แต่เอกสารที่แจ้งโครงการนี้ต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่าโครงการดังกล่าวดำเนินการในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง (แม่น้ำบาสัก) ทำให้เป็นการเลี่ยงบาลีในการนำโครงการเข้าสู่คณะกรรมาธิการและเริ่มการก่อสร้างโดยไม่ผ่านการตรวจสอบทางเทคนิคและกระบวนการอื่น ๆ ที่อาจจะถูกเปลี่ยนแปลงหากเสนอเข้ากรรมาธิการแม่น้ำโขง และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการศึกษาความเป็นไปได้ของคลองฟูนันเตโช ถึงแม้จะมีการร้องขอไปอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับในเดือนสิงหาคมและตุลาคม พ.ศ. 2566[1]

ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีซุน จันทอล ระบุเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ว่ากัมพูชาได้แจ้งโครงการต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแล้ว แต่ไม่ได้ขอคำปรึกษาและการหารือกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเกี่ยวกับโครงการนี้ และพร้อมให้ข้อมูลหากคณะกรรมาธิการร้องขอข้อมูล แต่ถูกโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามตอบโต้ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ว่าข้อมูลของคลองฟูนันเตโชนั้นไม่เพียงพอในการประเมินระดับผลกระทบของโครงการ[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 "วิเคราะห์ปมร้อน 'คลองฟูนันเตโช' เมกะโปรเจกต์เชื่อมพนมเปญ-อ่าวไทย ที่อาจสะเทือนเศรษฐกิจไทย-เวียดนาม". THE STANDARD. 2024-06-16.
  2. "Tonle Bassac-Kep Waterway and Logistics Initiative named "Prek Chek Funan Techo Project", costs US$1.7B". Construction & Property News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-05-19. สืบค้นเมื่อ 2024-04-10.
  3. "'กัมพูชาขุดคลองฟูนันเตโชจะทำให้ระบบนิเวศตะวันตกเสีย' - Vietnam.vn". 2024-04-22.
  4. "Tonle Bassac-Kep Waterway and Logistics Initiative named "Prek Chek Funan Techo Project", costs US$1.7B". Construction & Property News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-05-19. สืบค้นเมื่อ 2024-04-10.
  5. "Why is Vietnam Worried About Cambodia's Mekong Canal Project?". thediplomat.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-04-10.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 ""กัมพูชา" เตรียมขุดคลองฟูนัน เตโช ใช้งบฯ 1,700 ล้านดอลลาร์". Thai PBS.
  7. Rim, Sokvy (2024-03-11). "BRI's Funan Techo Canal could steer Cambodia away from Vietnam and towards China, Politics News - ThinkChina". www.thinkchina.sg (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-04-10.
  8. "Why Cambodia's Funan Techo Canal Project is Worrying Vietnam". Vietnam Briefing News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2024-04-09. สืบค้นเมื่อ 2024-04-10.
  9. "Cambodia to divert Mekong trade via China-built canal, vexing Vietnam". Nikkei Asia (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2024-04-10.
  10. Sereyrath, Sok (2023-12-27). "Techo Funan Canal Project to be Developed under BOT Contract". Cambodian People's Party-វិមាន៧មករា (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-04-19.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 "In Pics : สื่อนอกเปิดภาพแรก "โครงการคลองฟูนันเตโช" กำลังเริ่มขุดจากแม่น้ำโขงผ่ากลาง "กัมพูชา" ไหลลงอ่าวไทย". mgronline.com. สืบค้นเมื่อ 2024-07-24.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "Funan Techo Canal Development: Shifting Economic Currents in Southeast Asia". Construction & Property News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2024-03-15. สืบค้นเมื่อ 2024-04-10.
  13. "Cambodia to divert Mekong trade via China-built canal, vexing Vietnam". Nikkei Asia (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2024-04-10.