คนโด อิซามิ
คนโด อิซามิ | |
---|---|
近藤 勇 | |
คนโด อิซามิ (ค.ศ. 1834–1868) | |
หัวหน้ากลุ่มชินเซ็งงูมิ | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1863 – ค.ศ. 1868 | |
ก่อนหน้า | ไม่มี (เป็นหัวหน้ากลุ่มร่วมกับเซริซาวะ คาโมและนิอิมิ นิชิกิเป็นเวลาสั้น ๆ ช่วงก่อตั้ง) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | มิยางาวะ คัตสึโงโร 09 พฤศจิกายน ค.ศ. 1834 หมู่บ้านคามิอิชิฮาระ จังหวัดมูซาชิ ประเทศญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | พฤษภาคม 17, 1868 ลานประหารอิตาบาชิ เขตอิตาบาชิ กรุงเอโดะ ประเทศญี่ปุ่น | (33 ปี)
สาเหตุการเสียชีวิต | การตัดศีรษะ |
ที่ไว้ศพ | ร่าง: วัดรีวเง็นจิ โอซาวะ มิตากะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศีรษะ: วัดโฮโซจิ อากาซากิ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น |
เชื้อชาติ | ญี่ปุ่น |
คู่อาศัย | มิยูกิ โอโกะ |
คู่สมรส | มัตสึอิ ซึเนะ (สมรส 1860–1868) |
บุตร |
|
บุพการี |
|
ญาติ | คนโด ชูซูเกะ (บิดบุญธรรม) คนโด ฟูเดะ (มารดาบุญธรรม) คนโด อิซาตาโร (หลานชาย) |
ความสัมพันธ์ | มิยางาวะ ริเอะ (พี่สาว) มิยางาวะ โอโตโงโร (พี่ชาย) มิยางาวะ โซเบ (พี่ชาย) คนโด ยูโงโร (หลานชาย) |
เป็นที่รู้จักจาก | หัวหน้ากลุ่มชินเซ็งงูมิ |
ชื่ออื่น | ชิมาซากิ คัตสึตะ ชิมาซากิ อิซามิ ฟูจิวาระ โนะ โยชิตาเกะ |
นามแฝง | โอกูโบะ สึโยชิ โอกูโบะ ยามาโตะ |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | รัฐบาลเอโดะ |
สังกัด | โรชิงูมิ (เดิม) มิบูโรชิงูมิ (เดิม) ชินเซ็งงูมิ |
ประจำการ | ค.ศ. 1863–1868 |
ยศ | วากาโดชิโยริ |
บังคับบัญชา | มิบูโรชิงูมิ (เดิม) ชินเซ็งงูมิ |
ผ่านศึก | กรณีอิเกดายะ กรณีคิมมง สงครามโบชิง |
คนโด อิซามิ (ญี่ปุ่น: 近藤勇; โรมาจิ: Kondō Isami 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1834 - 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1868) เป็นซามูไรและข้าราชการชาวญี่ปุ่นในช่วงปลายยุคเอโดะ มีชื่อเสียงในฐานะของหัวหน้ากลุ่มซามูไรชินเซ็งงูมิ ซึ่งเป็นกลุ่มซามูไรหัวรุนแรงที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ
ภูมิหลัง
[แก้]คนโด อิซามิ มีชื่อจริงเมื่อแรกเกิดว่า "คัตสึโงะโร" เป็นบุตรของมิยางาวะ ฮิซาจิโร[1] ชาวนาผู้มีถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านคามิ-อิชิฮาระ ในแคว้นมูซาชิ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เมืองโจฟุ จังหวัดโตเกียว[2] เขามีพี่ชายอยู่ 2 คน คนโตชื่อโอโตจิโร (音次郎; ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโอโตโงโร 音五郎) คนรองชื่อคุเมโซ (粂蔵; ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโซเบ 惣兵衛)[3] คัตสึโงโรเริ่มฝึกหัดวิชาดาบที่โรงฝึกชิเอคัง ซึ่งเป็นโรงฝึกหลักของเพลงดาบสายเท็นเน็นริชินรีว เมื่อ ค.ศ. 1848[4]
ในวัยหนุ่มนั้นคัตสึโงโรถูกกล่าวขวัญถึงจากความเป็นผู้รักการอ่าน เขาชอบอ่านเรื่องโรนินทั้งสี่สิบเจ็ดและพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊กมากเป็นพิเศษ[5] ชื่อเสียงของคัตสึโงโรเป็นที่กล่าวขวัญอย่างยิ่งจากความเป็นผู้คงแก่เรียน ความสามารถในการกำราบโจรที่พยายามเข้ามาปล้นบ้านของครอบครัวเขา และการได้รับความดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากคนโด ชูซูเกะ ผู้สืบทอดเพลงดาบเท็นเน็นริชินรีวรุ่นที่ 3[6] ชูซูเกะไม่รอช้าที่จะรับเด็กหนุ่มคัตสึโงโรเป็นลูกบุญธรรมในปี ค.ศ. 1849 และได้เปลี่ยนชื่อของเด็กหนุ่มคนนั้นเป็น "ชิมาซากิ คัตสึตะ" (島崎勝太)[7] ตามบันทึกของอดีตศาลเจ้าโงซุ-เท็นโนชะ (牛頭天王社 - ปัจจุบันเรียกว่า ศาลเจ้าฮิโนยาซากะ 日野八坂神社) ชื่อของคัตสึตะได้ถูกบันทึกไว้ด้วยชื่อเต็มและชื่อเรียกทั่วไปว่า "ชิมาซากิ อิซามิ ฟูจิวะระ (โนะ) โยชิตาเกะ" เอกสารดังกล่าวบันทึกในปี ค.ศ. 1858 จึงกล่าวได้ว่าคัตสึตะมีชื่อว่าอิซามิอย่างน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1858[8]
อิซามิแต่งงานกับโอสึเนะผู้เป็นภรรยาเมื่อ ค.ศ. 1860[9] การแต่งงานดังกล่าวสร้างประโยชน์ให้แก่คนโดอย่างยิ่ง เนื่องจากโอสึเนะนั้นเป็นบุตรสาวของมัตซูอิ ยาโซโงโร (松井八十五郎) หนึ่งในซามูไรผู้ขึ้นตรงต่อตระกูลชิมิซะ-โทกูงาวะ [10] ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1861[11] อิซามิได้รับสืบทอดตำแหน่งผู้สืบทอด (宗家四代目 "โซเกะ โนะ ยนได") เพลงดาบเท็นเน็นริชินรีว รุ่นที่ 4 ได้รับนาม "คนโด อิซามิ" อย่างเป็นทางการ และได้เป็นผู้ดูแลโรงฝึกดาบชิเอคัง[12] ในปีต่อมาคนโดก็ได้บุตรสาวชื่อ "ทามาโกะ" (1862–1886) [13] เขามีหลานตาในภายหลังเพียงคนเดียวชื่อ "คนโด ฮิซาตาโร" ซึ่งได้เสียชีวิตในการรบระหว่างสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น[14]
กล่าวกันว่าคนโดมีดาบคาตานะประจำกายชื่อว่า "โคเต็ตสึ" (虎徹) ซึ่งตีขึ้นโดยนางาโซเนะ โคเต็ตสึ ช่างตีดาบผู้มีชื่อเสียงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 อย่างไรก็ตาม ฐานะความเป็นเจ้าของดาบโคเต็ตสึเล่มนั้นของคนโดยังคงเป็นที่ถกเถียงอย่างมาก กล่าวตามปึกเอกสารเกี่ยวกับช่างทำดาบโคเท็ตสึของยาสุ คิซึ ดาบของคนโดนั้นแท้จริงแล้วอาจตีขึ้นโดยมินาโมโตะ โนะ คิโยมาโระ ช่างดาบผู้มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยเดียวกับคนโด[15]
แม้ว่าคนโดจะไม่เคยทำงานใดๆ ให้แก่รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะเลย ก่อนที่เขาจะก่อตั้งกลุ่มชินเซ็นงูมิขึ้น แต่ครั้งหนึ่งคนโดก็เคยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นครูฝึกอยู่ในสถาบันโคบุโชะในปี ค.ศ. 1862 [16] สถาบันโคบุโชะแห่งนี้เป็นโรงเรียนฝึกหัดวิชาการทหารโดยเฉพาะ สำหรับฝึกหัดการทหารในขั้นต้นแก่บรรดาผู้จงรักภักดีต่อโชกุน รัฐบาลโชกุนได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1855 เพื่อปฏิรูปการทหารหลังจากการมาเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกของนายพลเรือเพอร์รีด้วยเรือดำ[17]
ยุคชินเซ็นงูมิ
[แก้]ในปี ค.ศ. 1863 รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะได้รวบรวมกลุ่มโรนินหรือซามูไรไร้นายขึ้นเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อเป็นหน่วยคุ้มกันโชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ ในช่วงที่พำนักในนครหลวงเกียวโต[18] คอนโดได้เข้าร่วมในองค์กรนี้ภายใต้ชื่อกลุ่ม "โรชิงูมิ" พร้อมกับฮิจิกาตะ โทชิโซ ผู้เป็นเพื่อนสนิท และเหล่าสมาชิกของสำนักดาบชิเอคังอีกหลายคน คือ ยามานามิ เคซูเกะ, โอกิตะ โซจิ, ฮาราดะ ซาโนซูเกะ, นางากูระ ชิมปาจิ, โทโด เฮซูเกะ, และอิโนอูเอะ เก็มซาบูโร ภายหลังเมื่อคิโยกาวะ ฮาจิโร ผู้นำกลุ่มโรชิงูมิโดยพฤตินัย ได้เปิดเผยเป้าประสงค์ที่แท้จริงว่าต้องการรวบรวมผู้คนเป็นกำลังสนับสนุนพระจักรพรรดิ คนโด, ฮิจิกาตะ, เซริซาวะ คาโม (อดีตผู้ติดตามของเจ้าแคว้นมิโตะ), และผู้คนอีกจำนวนไม่มาก จึงอยู่ที่เกียวโตและตั้งกลุ่มของตนเองแทนในชื่อกลุ่ม "มิบูโรชิงูมิ"[19] ซึ่งรับคำสั่งโดยตรงในการปฏิบัติงานจากรัฐบาลโชกุน[20] โดยมีมัตซึไดระ คาตาโมริ ไดเมียวแห่งแคว้นไอสึ เป็นผู้ควบคุมดูแลบุคคลเหล่านี้ กลุ่มมิบูโรชิงูมิได้รับหน้าที่ให้เป็นตำรวจพิเศษรักษาพระนครเกียวโต[21]
ในเหตุการณ์ "คินมง โนะ เซเฮ็ง" หรือการรัฐประหารในวันที่ 18 สิงหาคมของปีนั้น กลุ่มของคนโดได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ชินเซ็งงูมิ"[22] และเป็นที่รู้จักทั่วไปจากการเข้าทำการจับกุมกลุ่มผู้ขับไล่ชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่งในเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ ค.ศ. 1864 ซึ่งคดีดังกล่าวถูกเรียกขานในชื่อ "คดีร้านอิเกดะ" (อิเกยาดาจิเค็ง) [23]
วันที่ 10 เดือน 7 ทางจันทรคติ ค.ศ. 1867[24] คนโดพร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มชินเซ็งงูมิทั้งหมด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นฮาตาโมโตะ หรือซามูไรที่ขึ้นตรงต่อโชกุน[25]
สงครามโบะชิงและมรณกรรม
[แก้]หลังสิ้นสุดยุทธการโทบะ-ฟูชิมิในเดือนมกราคม ค.ศ. 1868 คนโดได้กลับมาที่นครเอโดะ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "วากาโดชิโยริ" (ตำแหน่งนี้อาจแปลความหมายได้ว่า "ผู้อาวุโสชั้นผู้น้อย" - "Junior Elders) อันก่อให้เกิดความแตกแยกภายในการบริหารงานของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะอย่างรวดเร็ว[26] กองกำลังของเขาได้ทำการสู้รบกับกองกำลังที่ถูกส่งมาจากราชสำนักของพระจักรพรรดิอีกหลายครั้ง แต่กลับประสบความพ่ายแพ้ในหลายสมรภูมิ ทั้งในการรบที่เมืองคัตซึนูมะ และที่เมืองนางาเรยามะ คนโดถูกกองทัพฝ่ายในพระนามจักรพรรดิเมจิจับเป็นเชลย และได้ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะในวันที่ 17 เดือน 5 ตามจันทรคติ ปี ค.ศ. 1868[27]
ตามบันทึกของทานิ ทาเตกิ คนโดถูกไต่สวนถึงคดีการลอบสังหารซากาโมโตะ เรียวมะ ซามูไรชาวแคว้นโทซะผู้มีบทบาทในการเจรจาให้ฝ่ายโชกุนยอมถวายอำนาจคืนแก่พระจักรพรรดิ แต่คนโดปฏิเสธความเกี่ยวข้องของตนเองและชินเซ็งงูมิในคดีนี้ ก่อนที่จะถูกประหารชีวิตจากคดีดังกล่าวในที่สุด แม้หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1870 อิมาอิ โนบูโอะ อดีตสมาชิกกลุ่มมิมาวาริงูมิ จะสารภาพว่าตนเป็นผู้ก่อคดีลอบสังหารซากาโมโตะ เรียวมะ แต่ทานิก็ค้านว่าคนโดไม่ได้ถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ ในคดีนี้ จะอย่างไรก็ดี แม้จะมีการสันนิษฐานจากหลากหลายทฤษฎีอันเป็นที่ยอมรับ แต่การจะหาว่าใครเป็นผู้บงการตัวจริงในคดีนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ลึกลับและยังไม่มีข้อสรุปมาจนถึงทุกวันนี้
สุสานของคนโดปรากฏอยู่หลายแห่ง โดยมากเชื่อว่าสุสานแห่งแรกของคนโดถูกสร้างขึ้นที่วัดเท็นเนจิ (天寧寺) ในแคว้นไอสึ โดยฮิจิกาตะ โทชิโซ[28] กล่าวกันว่าฮิจิกาตะซึ่งเพิ่งฟื้นตัวจากการบาดเจ็บที่เท้าในยุทธการอุซึโนะมิยะ เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาโดยส่วนตัวในการเตรียมการและจัดสร้างสถานที่แห่งนี้[28] ส่วนนาม "คังเท็นอินเด็นจุนจูเซงิไดโคจิ" (貫天院殿純忠誠義大居士) ซึ่งเป็นนามหลังเสียชีวิตของคนโด เชื่อว่าตั้งให้โดยมัตสึไดระ คาตาโมะริ[28]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ Ōishi Manabu 大石学, Shinsengumi: saigo no bushi no jitsuzō 新選組: 最後の武士の実像. (Tokyo: Chuōkōron-shinsha, 2004), p. 21
- ↑ Kojima Masataka 小島政孝. Shinsengumi yowa 新選組余話. (Tokyo: Kojima-Shiryōkan 小島資料館, 1991), p.10
- ↑ Ōishi, p. 22
- ↑ Shinsengumi dai zenshi 新選組大全史. (Tokyo; Shin Jinbutsu Oraisha, 2003) p.27; Ōishi, p. 22.
- ↑ Kojima, p.14
- ↑ Shinsengumi dai zenshi, p.27
- ↑ Kojima, p.95-96.
- ↑ Ōishi, p. 22.
- ↑ Shinsengumi dai zenshi, p.35
- ↑ Ōishi, p. 24.
- ↑ ตรงกับวันที่ 27 เดือน 8 ศักราชบุงคีว ปีที่ 1 เมื่อนับตามปฏิทินจันทรคติของญี่ปุ่น ดูที่ Ōishi, p. 24.
- ↑ Shinsengumi dai zenshi, p.27; Ōishi, p. 24.
- ↑ Shinsengumi dai zenshi, p.36; Ōishi, p. 24.
- ↑ Romulus Hillsborough. Shinsengumi: The Shogun's Last Samurai Corps. (North Clarendon: Tuttle Publishing, 2005), p. 183
- ↑ Yasu Kizu, Swordsmith Nagasone Kotetsu Okisato (Hollywood: W.M. Hawley Publications, 1990), p. 9
- ↑ "Kondō Hijikata to Okita no Shinsengumi" 近藤・土方・沖田の新選組. Rekishi Dokuhon, December 2004, p.62.
- ↑ G. Cameron Hurst III. Armed martial arts of Japan. (New Haven: Yale University Press, 1998), pp. 148-152.
- ↑ Shinsengumi dai zenshi, p.38
- ↑ Kojima, p. 39-40
- ↑ Yamakawa Hiroshi 山川浩. Kyōto Shugoshoku Shimatsu 京都守護職始末. ed. Tōyama Shigeki (Tokyo: Heibonsha, 1966), p. 87
- ↑ Shinsengumi dai zenshi, p.45
- ↑ Shinsengumi dai zenshi, p.52-53
- ↑ Shinsengumi dai zenshi, p.56-59
- ↑ June 10, 1867 by the lunar calendar. See Ōishi, p. 160.
- ↑ Ōishi, p. 160.
- ↑ 近藤勇 KONDO
- ↑ Kojima, p.91
- ↑ 28.0 28.1 28.2 "天寧寺「近藤勇の墓」". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-05. สืบค้นเมื่อ 2011-08-12.
อ้างอิง
[แก้]- Hurst, G. Cameron III. Armed martial arts of Japan. New Haven: Yale University Press, 1998.
- Kikuchi Akira 菊池明. Shinsengumi 101 no Nazo 新選
組101の謎. Tokyo: Shin Jinbutsu Oraisha, 2000.
- Kojima Masataka 小島政孝. Shinsengumi yowa 新選組余話. Tokyo: Kojima-Shiryōkan 小島資料館, 1991
- Ōishi Manabu 大石学. Shinsengumi: saigo no bushi no jitsuzō 新選組: 最後の武士の実像. Tokyo: Chūōkōron-shinsha, 2004.
- Yasu Kizu. Swordsmith Nagasone Kotetsu Okisato. Hollywood: W.M. Hawley Publications, 1990.
- "Kondō Hijikata to Okita no Shinsengumi" 近藤・土方・沖田の新選組. Rekishi Dokuhon, December 2004.
- Shinsengumi dai zenshi 新選組大全史. Tokyo; Shin Jinbutsu Oraisha, 2003. ISBN 4404030657
- Shinsengumi Jiten 新選組事典. Tokyo: Shin Jinbutsu Oraisha, 1978.