คงกระพัน
คงกระพัน เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง สันนิษฐานว่ามีที่มาจากคำว่า "กระบัล" ในภาษามลายู แปลว่า "คงทนต่อศัสตราวุธ" ดังที่มีสำนวนว่า "อยู่ยงคงกระพันฟันแทงไม่เข้า" วิชาคงกระพันชาตรีจึงหมายถึง "วิชาที่ทำให้ร่างกายสามารถทนทานต่อคมอาวุธทั้งหลายได้" สมัยโบราณเป็นวิชาที่ชายไทยเล่าเรียนกันมาก เนื่องจากต้องมีหน้าที่เป็นทหารออกรบป้องกันราชอาณาจักร และการรบในสมัยโบราณเป็นการรบแบบประชิดตัว จึงจำเป็นต้องเล่าเรียนคาถาอาคมที่จะช่วยปกป้องตนเองให้ปลอดภัยจากคมหอกคมดาบ ความเชื่อเรื่องอยู่ยงคงกระพันของไทยโบราณมีหลายวิธี อาทิ พกพาเครื่องราง บริกรรมคาถาอาคม สักยันต์ เสกอาหารกิน เสกน้ำมันทาตัว เป็นต้น
คงกระพันจะต่างจากชาตรี กล่าวคือ คงกระพันจะเป็นการทำให้เนื้อหนังร่างกายคงทนต่ออาวุธตลอดจนวัตถุต่างๆ ที่มาทำร้าย แต่หากอาวุธนั้นมีอันตรายมากหรือมีน้ำหนักมากก็อาจทำให้เจ็บปวดสาหัสหรืออวัยวะภายในบอบช้ำได้ ส่วนชาตรีจะเป็นวิชาที่ป้องกันคมอาวุธด้วย และทำให้ผู้ถูกทำร้ายไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด เป็นวิชาที่ทำให้ตัวเบาและวัตถุสิ่งของที่มากระทบตัวเบาไปหมด แม้เป็นของแข็งอย่างหินทุ่มมาทำร้ายก็เชื่อว่าจะรู้สึกเหมือนถูกทุบด้วยหมอนนุ่นเท่านั้น วิชาในหมวดชาตรีที่รู้จักกันดีคือ วิชาเก้าเฮ ของสำนักวัดพระญาติการาม อยุธยา ซึ่งใช้นิ้วมือชักยันต์ลงไปบนส่วนต่างๆ ของร่างกาย วิชาในหมวดเดียวกับคงกระพันคือ ชาตรี แคล้วคลาด และ มหาอุด ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางจิตในวิธีต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายจากศัสตราวุธ
ผู้ศึกษาเล่าเรียนวิชาอยู่ยงคงกระพัน จะต้องปฏิบัติตนตามข้อห้ามของวิชาที่ได้รับการสั่งสอนมาอย่างเคร่งครัด เป็นต้นว่า ต้องสวดมนต์ไหว้พระรำลึกคุณพระรัตนตรัยเป็นนิตย์ ต้องหมั่นปลุกตัวด้วยคาถาสม่ำเสมอ ห้ามผิดลูกเมียเขา ห้ามมุดลอดในที่ไม่สมควร ห้ามถ่มน้ำลายลงที่สกปรก ห้ามด่าบุพการี บางทีก็ห้ามกินอาหารหลายชนิด เช่น หัวปลี บวบ น้ำเต้า ห้ามกินของเหลือเดน ห้ามกินของงานศพ ห้ามเปิดปากเวลาถ่ายหนักถ่ายเบา ฯลฯ กล่าวโดยสรุปคือต้องถือศีล สำรวมกาย วาจา ใจ และต้องปฏิบัติสมาธิภาวนาอีกด้วย ในอดีตผู้ที่เชื่อ และเล่าเรียนคาถาอาคมมักถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเชื่อว่าหากปฏิบัติไม่ได้ความอยู่ยงคงกระพันจะเสื่อมคลายไป ปัจจุบันความเชื่อเช่นนี้ก็ยังพอมีปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง
อ้างอิง
[แก้]- เทพย์ สาริกบุตร. วิชาคงกระพันชาตรี. กรุงเทพฯ : เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2533.