วัดพระญาติการาม
วัดพระญาติการาม | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดพระญาติ |
ที่ตั้ง | ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพระญาติการาม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระญาติ เดิมเรียก วัดพบญาติ เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใน ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดพระญาติการามเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เนื่องจากมีพระเกจิอาจารย์หลายองค์ เช่น หลวงพ่อกลั่น หลวงพ่ออั้น หลวงพ่อเภา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดนี้ คือ พระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถซึ่งสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา[1] นอกจากนี้ยังมีเจ้าแม่กวนอิมปางเสวยสุข อยู่ในวัดนี้ด้วย
ประวัติวัดพระญาติการามและพระเกจิอาจารย์
[แก้]วัดพระญาติการาม เดิมเรียกว่า วัดพบญาติ โดยมีตำนานเล่าว่า มีหมู่บ้านหนึ่งที่หญิงสาวจะมีผิวพรรณหน้าตาดี เมื่อความทราบถึงพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์จึงเสด็จมาหมู่บ้านแห่งนี้และได้ขอรับบุตรสาวของชาวบ้านไปอุปถัมภ์ เมื่อหญิงสาวผู้นั้นจะเข้าไปยังพระราชวัง พวกญาติของหญิงสาวได้ไปรอพบเพื่อร่ำลา จนเมื่อหญิงสาวผู้นั้นได้เป็นมเหสีแล้ว จึงเสด็จฯ มาเยี่ยมญาติในหมู่บ้านเดิมและโปรดฯ ให้สร้างวัดขึ้นบริเวณที่ญาติ ๆ มารอพบ และตั้งชื่อว่า "วัดพบญาติ" และเปลี่ยนเป็น "วัดพระญาติการาม" ในเวลาต่อมา [2]
หลวงพ่อกลั่น ได้ฉายาว่า ธมฺมโชติ ซึ่งหมายความว่า เป็นผู้สร้างในทางธรรมหรือเจริญรุ่งเรืองในธรรม พระคณาจารย์ดังผู้ทรงคุณในอดีต มีลูกศิษย์ลูกหามาก ตลอดจนบุคคลทั่วไปให้ความเคารพศรัทธา ความเขมขลังศักดิ์สิทธิ์ พระเวทย์พุทธาคมขลัง ได้รับการกล่าวขานเป็นตำนานมาถึงปัจจุบัน แม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม เห็นได้จากวัตถุมงคลต่างๆที่ท่านได้ปลุกเสกไว้ ล้วนเป็นที่แสวงหามีราคาแพง เฉพาะอย่างยิ่งเหรียญรุ่นแรก ปี 2469 จัดเป็นเหรียญหลักยอดนิยมของวงการนานมาแล้ว
ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2390 ตรงกับปีมะแม ณ ตำบลอรัญญิก อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน เป็นบุตรของ นายอินและนางชั้น เป็นบุตรคนโตในจำนวนทั้งหมด 3 คน ในวัยเด็กชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ทำให้ท่านเป็นคนมี่บุคลิคเข้งแข็งเด็ดเดียว
ประมาณปี พ.ศ. 2417 อายุ 27 ปี ได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดประดู่ทรงธรรม มีพระญาณไตรโลก(สะอาด) เจ้าคณะใหญ่อยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูกุศลธรรมธาดา วัดขุนญวน และพระอธิการชื่น วัดพระญาติ เป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ตามลำดับ พำนักจำพรรษาที่วัดประดู่ทรงธรรม ศึกษาพระธรรมวินัย และเล่าเรียนสรรพวิทยาการหลายแขนง วัดประดู่ทรงธรรม เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่โบราณ และครั้งอดีตเป็นสำนักตักศิลาสำคัญแห่งหนึ่ง ต่อมายังเป็นวัดที่เก็บรวบรวมตำรับตำรา สรรพวิทยาการต่างๆเอาไว้มากมาย เห็นได้จากประวัติพระคณาจารย์ดังในพื้นที่ภาคกลางล้วนมีประวัติกล่าวอ้างถึง ได้ศึกษาวิชาจากตำราของวัดประดู่ทรงธรรมที่ตกทอดมา
กล่าวได้ว่าวัดแห่งนี้เป็นตักศิลาแห่งวิชาการแขนงต่างๆอย่างแท้จริง ท่านได้ศึกษาจากตำรับตำราต่างๆเหล่านั้น ทั้งได้รับคำแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติมจากครูบาอาจารย์ จนเชี่ยวชาญในสรรพศาสตร์ สามารถดูแลรักษาตนได้ เริ่มออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นการฝึกจิตเจริญภาวนา ป่าเขาลำเนาไพรในยุคนั้นเต็มไปด้วยภยันตรายต่างๆนานา ทั้งโรคร้าย สัตว์ร้าย ผู้รอดปลอดภัยกลับมาถือว่าไม่ธรรมดา
คราหนึ่งหลังจากท่านกลับจากธุดงค์ ผ่านมาถึงบริเวณวัดพระญาติเป็นเวลาพลบค่ำ พิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่สงบเหมาะแก่การปฏิบัตธรรมจึงได้ปักกลด รุ่งเช้าศรัทธาชาวบ้านมาทำบุญตักบาตร เห็นท่านเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติงดงาม เกิดความเลื่อมใสศรัทธา พร้อมใจกันอาราธนานิมนต์ให้ท่านพำนักจำพรรษายังพระอารามแห่งนี้ เรื่อยมากระทั่งมรณภาพ
หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ครองตนด้วยความสมถะ ชอบสันโดด มีเมตตาต่อเหล่าสรรพสัตว์ และญาติโยมพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั่วไป ท่านได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 รวมสิริอายุ 87 ปี 60 พรรษา[3]
วัตถุมงคลที่มีชื่อของวัดพระญาติการาม
[แก้]ตะกรุด ผ้ายันต์ และเหรียญ
ด้วยในปี พ.ศ. 2464-2465 หลวงพ่อกลั่นเห็นว่าพระอุโบสถหลังเก่าชำรุดทรุดโทรมและคับแคบ จึงรื้อและสร้างใหม่จนแล้วเสร็จ แต่ไม่นานพระอุโบสถเกิดการทรุด แตกร้าวทั้งหลัง หลวงพ่ออั้น วัดพระญาติการาม ได้ปรึกษาพระภิกษุภายในวัด เพื่อหาทุนทรัพย์มาบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควรสร้างเหรียญขึ้นมาเพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้บริจาคทรัพย์ นำความไปเรียนต่อหลวงพ่อกลั่น ท่านไม่อนุญาต
เหรียญรุ่นแรก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2469 เพื่อมอบแก่ผู้บริจาคปัจจัยสมทบทุนในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ
กระทั่งปี พ.ศ. 2469 จึงตัดสินใจสร้างเหรียญขึ้นมารุ่นหนึ่ง ถือเป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อกลั่น เพื่อหาทุนทรัพย์ในการบูรณะพระอุโบสถ ปัจจุบันเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูง เป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคีเหรียญยอดนิยม
ในการสร้างปี พ.ศ. 2469 เหรียญหลวงพ่อกลั่นเนื้อพิเศษ
- เนื้อเงินหน้าทอง ประมาณ 12 เหรียญ
- เนื้อเงินหน้านาก ประมาณ 25 เหรียญ
- เนื้อเงินประมาณ 100 เหรียญ
- เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง + เนื้อทองแดง ประมาณ 3,000 เหรียญ
ในสมัยนั้นมีการจัดให้ทำบุญให้เช่าและแจกตามจำนวนเงินที่มีผู้ร่วมทอดกฐิน คือ
- เนื้อเงินหน้าทองทำบุญ 15 บาท ได้รับ 1 เหรียญ
- เนื้อเงินหน้านากทำบุญ 10 บาท ได้รับ 1 เหรียญ
- เนื้อเงินล้วนทำบุญ 5 บาท ได้รับ 1 เหรียญ
- เนื้อทองแดง ทำบุญ 1 บาท ได้รับ 1 เหรียญ เงินทำบุญทั้งหมดนำไปซ่อมแซมอุโบสถ
- เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง และเหรียญลงยาไม่ได้บันทึกไว้
สำหรับจำนวนการสร้างเหรียญแต่ละชนิดนั้น มีอยู่ในบันทึกวัดพระญาติการาม โดยหลวงพ่ออั้น เจ้าอาวาสองค์ถัดมา ซึ่งหลวงพ่ออั้นเป็น ผู้ดำเนินการจัดสร้างให้หลวงพ่อกลั่นปลุกเสก ประกอบด้วย
- พิมพ์ขอเบ็ต หรือ พิมพ์นิยม มีเนื้อเงิน - เนื้อนาก - หน้าทองคำ - เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง และเนื้อทองแดง
- พิมพ์เสี้ยนตอง เนื้อทองแดง
- พิมพ์หลังเรียบ เนื้อทองแดง[4]
ลักษณะรูปวัตถุมงคล
[แก้]-
เหรียญหลวงพ่อกลั่น พ.ศ. 2469 พิมพ์ขอเบ็ด เนื้อเงินหน้าทอง
-
เหรียญหลวงพ่อกลั่น พ.ศ. 2469 พิมพ์ขอเบ็ด เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง
-
เหรียญหลวงพ่อกลั่น พ.ศ. 2469 พิมพ์ขอเบ็ด เนื้อทองแดง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ไหว้พระ 9 วัด พระนครศรีอยุธยา
- ↑ "วัดพระญาติการาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-01. สืบค้นเมื่อ 2010-08-13.
- ↑ "หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-20. สืบค้นเมื่อ 2011-01-02.
- ↑ แทน ท่าพระจันทร์ ข่าวสด