กิจกรรมบำบัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กิจกรรมบำบัด (อังกฤษ: Occupational Therapy) เป็นวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีโดยอาศัยกิจกรรมเป็นสื่อ เป้าหมายเบื้องต้นของกิจกรรมบำบัด คือ การส่งเสริมให้บุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ผู้พิการทางกาย เด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการหรือการเรียนรู้ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุ ฯลฯ สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มความสามารถ ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดจะต้องอาศัยความรู้หลาย ๆ ด้าน เพื่อช่วยลดข้อจำกัดทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคมของบุคคลเหล่านั้น อีกทั้งยังอาจต้องช่วยปรับ/ให้คำแนะนำในการปรับสภาพแวดล้อม เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มศักยภาพ ผู้ประกอบวิชาชีพกิจกรรมบำบัด ต้องสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ สาขากิจกรรมบำบัดก่อน จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้

กิจกรรมบำบัดในประเทศไทย[แก้]

วิชาชีพกิจกรรมบำบัดเริ่มมีครั้งแรกในประเทศไทย ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โดยในระยะแรกงานทางกิจกรรมบำบัดจะเน้นหนักไปในการใช้กิจกรรมตามบริบทท้องถิ่นและงานอาชีพในการรักษาคนไข้จิตเวชที่อยู่ในโรงพยาบาล ต่อมา ได้มีการขยายขอบเขตงานไปยังผู้ที่มีปัญหาทางด้านร่างกายที่ โรงพยาบาลศิริราช ในระยะแรกนี้ วิชาชีพกิจกรรมบำบัด ถูกเรียกว่า อาชีวบำบัด เนื่องจากมีการนำงานอาชีพมาใช้ในการรักษาค่อนข้างมาก

หลังจากนั้น ได้มีการเตรียมการเปิดโรงเรียนอาชีวบำบัดขึ้นในประเทศไทย ที่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนายแพทย์ เทอดชัย ชีวะเกตุ ทางมหาวิทยาลัยได้จัดส่งนักกายภาพบำบัด และ พยาบาล จำนวน 6 คนเพื่อไปศึกษาและฝึกปฏิบัติด้านกิจกรรมบำบัดยังประเทศเยอรมนี และประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงการเตรียมตั้งภาควิชานี้เอง ได้มีการพิจารณา คำว่า อาชีวบำบัด นั้น อาจไม่ครอบคลุมถึงบทบาทของนักกิจกรรมบำบัดทั้งหมด จึงได้เริ่มมีการใช้คำว่า กิจกรรมบำบัด ขึ้น และ ภาควิชากิจกรรมบำบัดก่อตั้งขึ้นและเริ่มรับนักศึกษากิจกรรมบำบัดรุ่นแรกเข้าศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ต่อมาหลักสูตรกิจกรรมบำบัดได้เปิดขึ้นเป็นแห่งที่สองที่สาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเริ่มเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา พ.ศ. 2551

บทบาทนักกิจกรรมบำบัด[แก้]

นักกิจกรรมบำบัดทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความบกพร่องหรือพิการทางร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้ และการพัฒนาเด็ก โดยใช้กระบวนการประเมิน การบำบัดฟื้นฟู การส่งเสริม การป้องกัน ด้วยสื่อ เทคนิค และวิธีการทางกิจกรรมบำบัด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและทักษะความสามารถของการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การดูแลตนเอง การศึกษา การทำงาน การใช้เวลาว่าง การพักผ่อน และการเข้าสังคม ตาม

มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขากิจกรรมบำบัดเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2545 ซึ่งปรับปรุงเป็นฉบับที่ 4 พ.ศ. 2556 ในปัจจุบัน

"กิจกรรมบำบัด" หมายความว่า การกระทำเกี่ยวกับความสามารถของบุคคลที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้และการพัฒนาเกี่ยวกับเด็ก โดยกระบวนการตรวจ ประเมิน ส่งเสริม ป้องกันบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เพื่อให้บุคคลดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพโดยการนำกิจกรรม วิธีการ และอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาเป็นวิธีการในการบำบัด

มาตรา ๑๑ ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขากิจกรรมบำบัดต้องมีความรู้ในวิชาชีพคือเป็นผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขากิจกรรมบำบัดจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขากิจกรรมบำบัดรับรอง และต้องสอบความรู้ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขากิจกรรมบำบัดกำหนด สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย ต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะสาขากิจกรรมบำบัดจากประเทศที่สำเร็จการศึกษาด้วย

นักกิจกรรมบำบัดจึงทำงานในสถานที่ที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั้งของราชการและเอกชน โรงพยาบาลทางจิตเวช โรงเรียนเด็กพิเศษ ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้กับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตตลอดทุกช่วงวัย

นักกิจกรรมบำบัดประเมินและออกแบบโปรแกรมที่มีลักษณะเฉพาะของผู้รับบริการ เน้นกรอบความคิดที่หลากหลายโดยครอบคลุมด้านบุคคล สิ่งแวดล้อม และการกระทำกิจกรรมที่มีเป้าหมาย มีคุณค่า และมีความสุข ตลอดจนการสร้างทักษะการจัดการตนเองในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดการความล้า การสงวนพลังงาน การจัดการความเครียด การจัดการกิจกรรมยามว่าง การฟื้นพลังชีวิต การพัฒนาทักษะทางจิตสังคม การพัฒนาทักษะทางการรู้คิด/ความคิดความเข้าใจ การพัฒนาทักษะชีวิต การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เป็นต้น รวมทั้งประเมินและประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์เสริม เครื่องดามมือ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม

อ้างอิง[แก้]

พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 เก็บถาวร 2017-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

มาตรฐานและแนวทางการประกอบโรคศิลปะทางวิชาชีพสาขากิจกรรมบำบัด เก็บถาวร 2017-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ศุภลักษณ์ เข็มทอง. กิจกรรมบำบัดพัฒนาชีวิต. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2551. ISBN 978-974-04-2782-7

Christiansen, CH, Baum, CM, Bass-Haugen, J. Occupational therapy: Performance, participation, and well-being (3rd ed.). Thorofare, NJ: SLACK Incorporated, 2005.

Roley SS, DeLany J V, Barrows CJ, Brownrigg S, DeLana H, Deanna IS, et al. Occupational therapy practice framework: Domain & process. Am J Occup Ther 2008; 62(6): 625-83.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]