การเสียชีวิตของแมฮ์ซอ แอมีนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แมฮ์ซอ แอมีนี
مهسا امینی
เกิด21 กันยายน ค.ศ. 1999(1999-09-21)
แซกเกซ ประเทศอิหร่าน
เสียชีวิต16 กันยายน ค.ศ. 2022(2022-09-16) (22 ปี)
เตหะราน ประเทศอิหร่าน
สาเหตุเสียชีวิตกะโหลกร้าวจากการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง[1][2][3]
สุสานแซกเกซ ประเทศอิหร่าน
ชื่ออื่น
  • ฌีนอ แอมีนี

ในวันที่ 16 กันยายน 2022 สตรีชาวอิหร่านวัย 22 ปี ชื่อ แมฮ์ซอ แอมีนี (เปอร์เซีย: مهسا امینی; Mahsa Amini) หรือ ฌีนอ แอมีนี (เปอร์เซีย: ژینا امینی; เคิร์ด: ژینا ئەمینی; Jina Amini หรือ Zhina Amini)[4] เสียชีวิตในเตหะราน ประเทศอิหร่าน ภายใต้สภาวะที่น่าสงสัย เป็นไปได้ว่ามาจากการทารุณกรรมโดยตำรวจ[5][6]

แอมีนีถูกจับกุมโดยสายตรวจชี้นำซึ่งเป็นหน่วยปราบปรามด้านศีลธรรมของหน่วยบังคับใช้กฎหมายแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านที่มีหน้าที่ตรวจตราการสวมฮิญาบในประเทศอิหร่านให้เป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐบาลอิหร่านกำหนด ตำรวจระบุว่าเธอเกิดหัวใจวายเฉียบพลันที่สถานีตำรวจ ล้มลงบนพื้น และเสียชีวิตหลังจากอยู่ในภาวะโคม่าได้สองวัน[7][8] อย่างไรก็ตาม ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่าเธอถูกทุบตีจนศีรษะของเธอชนเข้ากับรถตำรวจ แพทย์จำนวนหนึ่งเสนอว่าเธอเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่สมอง เมื่อสังเกตจากอาการของเธอในภาพถ่ายที่ปรากฏ ซึ่งแสดงให้เห็นเลือดออกทางตาและรอยฟกช้ำใต้ตา[9] และยังมีแฮ็กเกอร์ปล่อยของผลการสแกนสมองของเธอซึ่งแสดงให้เห็นรอยร้าวกระดูกกะโหลก, เลือดออก และการบวมน้ำของสมอง[1][10] นำไปสู่การลงความเห็นกันว่าเธอน่าจะเสียชีวิตจากเลือดออกในสมองและเส้นเลือดในสมองแตก[11]

การเสียชีวิตของแอมีนีนำไปสู่การประท้วงขนานใหญ่ทั่วประเทศและได้รับความสนใจจากนานาชาติรวมทั้งจากยูเอ็นเอชซีอาร์ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความรุนแรงต่อสตรีภายใต้สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน[12][13][14][15] ผู้นำประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และบุคคลมีชื่อเสียงจำนวนมากได้ออกมาแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ ประณาม และวิจารณ์สายตรวจชี้นำของอิหร่านว่ามีการปฏิบัติต่อสตรีอย่างรุนแรง และแสดงจุดยืนร่วมกับผู้ประท้วง[16] กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศคว่ำบาตรสายตรวจชี้นำและผู้บังคับบัญชาหน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยงานของอิหร่าน[17]

เพื่อเป็นการรับมือกับการประท้วง รัฐบาลอิหร่านได้พยายามสลายการชุมนุมประท้วงด้วยการใช้ปืนกระสุนยิงนกและลูกปืนโลหะ แก๊สน้ำตา และรถน้ำแรงดันสูง เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 36 คน ในวันที่ 23 กันยายน[18] นอกจากนี้ยังจำกัดการเข้าถึงแอปพลิเคชันจำนวนมาก เช่น อินสตาแกรมหรือวอตแซปส์ และยังจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อลดทอนความสามารถในการรวมกลุ่มและจัดการชุมนุมของผู้ประท้วง นี่อาจเป็นการตัดขาดอินเทอร์เน็ตครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงเมื่อปี 2019 ที่อินเทอร์เน็ตถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง[19]

การโจมตีผู้ชุมนุมได้นำไปสู่การที่ผู้ชุมนุมบุกทำลายสถานที่ราชการ, ฐานทัพของรัฐบาล, ศูนย์ศาสนา ยังมีการฉีกทำลายป้ายโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านอเมริกา, โปสเตอร์และรูปปั้นของผู้นำสูงสุด แอลี ฆอเมเนอี และอดีตผู้นำสูงสุด รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Mahsa Amini's medical scans show skull fractures caused by 'severe trauma': Report". english.alarabiya.net. Al Arabiya. 19 September 2022. สืบค้นเมื่อ 22 September 2022.
  2. Iran protests: Mahsa Amini's death puts morality police under spotlight, BBC News, 2022
  3. Iran’s protesters have had enough after Mahsa Amini’s death, Aljazeera, 2022
  4. "Zhina Amini goes into coma 2 hours after arrest" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 15 September 2022. สืบค้นเมื่อ 18 September 2022.
  5. "Iranian woman 'beaten' by police for 'improper hijab' dies after coma: State media". Al Arabiya. 16 September 2022. สืบค้นเมื่อ 16 September 2022.
  6. "IranWire Exclusive: Morality Patrol Beats a Woman into a Coma". iranwire.com. 15 September 2022. สืบค้นเมื่อ 18 September 2022.
  7. "Three killed in protests over Iranian woman Mahsa Amini's death in custody". cbc.ca. CBC.ca. 20 September 2022. สืบค้นเมื่อ 22 September 2022.
  8. "Arrest by hijab police leaves woman comatose". al-monitor.com. Al-Monitor. 15 September 2022. สืบค้นเมื่อ 22 September 2022.
  9. Iranian Medical Official Says Amini's Death Caused By Head Injury, Rejects Official Version, Radio Free Europe/Radio Liberty, 2022
  10. "Mahsa Amini's CT Scan Shows Skull Fractures Caused By Severe Blows". Iran International. 19 September 2022.
  11. Brase, Jörg (20 September 2022). "Irans Opposition hat vor allem eine Schwäche" [Above all, Iran's opposition has one weakness]. zdf.de (ภาษาเยอรมัน). ZDF. สืบค้นเมื่อ 22 September 2022.
  12. "نماد زن ایرانی در حکومت جهل و جنون آخوندی!" [The symbol of Iranian women in the rule of ignorance and insanity of Akhundi!]. iran-tc.com. สืบค้นเมื่อ 22 September 2022.
  13. "Mahsa Amini is Another Victim of the Islamic Republic's War on Women". iranhumanrights.org. 16 September 2022. สืบค้นเมื่อ 22 September 2022.
  14. Falor, Sanskriti (21 September 2022). "Why death of 22-year-old Mahsa Amini sparked protests in Iran". indianexpress.com. Indian Express Limited. สืบค้นเมื่อ 22 September 2022.
  15. "Mahsa Amini: Acting UN human rights chief urges impartial probe into death in Iran". OHCHR (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-09-23.
  16. "Condemnations Follow Death Of Young Woman in Iranian Police Custody". Iran International. สืบค้นเมื่อ 18 September 2022.
  17. Gottbrath, Laurin-Whitney (2022-09-22). "U.S. sanctions Iran's morality police over death of woman in custody". Axios (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-09-22.
  18. "At least 36 killed as Iran protests over Mahsa Amini's death rage: NGO". Al Arabiya News. 23 September 2022.
  19. Bonifacic, I. (21 September 2022). "Iran restricts access to WhatsApp and Instagram in response to Mahsa Amini protests". engadget.com. Engadget. สืบค้นเมื่อ 22 September 2022.