การเรียกชื่อสารเคมีตามระบบสต็อก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การเรียกชื่อสารเคมีระบบสต็อก (อังกฤษ: Stock nomenclature) เป็นระบบการเรียกชื่อสารอนินทรีย์ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศต่างๆทั่วโลก โดยระบบการเรียกชื่อนี้ถูกเสนอและพัฒนาขึ้นโดย อัลเฟรด สต็อก (Alfred Stock) นักเคมีชาวเยอรมันในปี ค.ศ. 1919 ในระบบสต็อกจะมีการระบุสถานะออกซิเดชันของธาตุบางชนิดหรือธาตุทั้งหมดโดยใช้ตัวเลขโรมันในวงเล็บ

ประวัติ[แก้]

อัลเฟรด สต็อก นักเคมีชาวเยอรมันผู้บุกเบิกในงานด้านเคมีของโบรอนและซิลิคอนไฮไดรด์ เขาที่รู้จักในทางเคมีศึกษา(chemical education) และการเรียกชื่อสาร (chemical nomenclature) สต็อกเป็นนักเคมีคนแรกที่เรียกสารประกอบไฮไดรด์ของโบรอนและซิลิคอนว่า โบเรน (borane) และ ไซเลน (silane) ตามลำดับ [1]

ในช่วงทศวรรษ 1900 โรเซนเฮม (Rosenheim) และ คอปเพล (Koppel) ได้เสนอระบบการอ่านชื่อสารเคมีโดยใช้เลขอารบิกในการบอกจำนวนอะตอมในสารประกอบธาตุคู่ (binary compounds) เช่น Fe2O3 อ่านว่า 2-ไอร์ออน 3-ออกไซด์ (2-iron 3-oxide)[2] จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1919 อัลเฟรด สต็อก ได้เสนอหลักการเรียกชื่อสารเคมีขึ้นใหม่ เรียกว่า ระบบสต็อก (Stock system)[3]

สต็อกเป็นนักเคมีคนแรกๆที่ศึกษาเรื่องการกำหนดสถานะออกซิเดชันของธาตุให้ชัดเจนอย่างจริงจัง ก่อนหน้านั้นการเรียกชื่อสารที่ประกอบด้วยธาตุที่มีสถานะออกซิเดชันหลายค่ายังเป็นการใช้คำลงท้ายชื่อไอออนบวกว่า -อัส (-ous) สำหรับอะตอมที่มีสถานะออกซิเดชันต่ำกว่า และใช้คำลงท้ายว่า -อิก (-ic) สำหรับอะตอมที่มีสถานะออกซิเดชันสูงกว่า ซึ่งระบบเดิมนี้มีข้อจำกัดที่ใช่อ่านชื่อได้สำหรับธาตุที่มีสถานะออกซิเดชันได้สองค่าเท่านั้น

วิธีการเรียกชื่อสารเคมีตามระบบสต็อก[แก้]

หลักการโดยทั่วไป[แก้]

สำหรับระบบที่สต็อกเสนอขึ้นใหม่จะใช้เลขโรมันในวงเล็บระบุสถานะออกซิเดชันของธาตุอะตอมกลาง (ดังตารางข้างล่าง) ซึ่งระบบนี้ สหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ (IUPAC) ได้ให้การยอมรับเป็นหนึ่งในวิธีเรียกชื่อสารเคมีสากล[4] อย่างไรก็ตาม การเขียนตัวเลขโรมันเพื่อระบุสถานะออกซิเดชันจะใช้กับสารประกอบของธาตุที่มีสถานะออกซิเดชันได้หลายค่าเท่านั้น

สูตร ชื่อตามระบบเดิม ชื่อตามระบบสต็อก ชื่อตามระบบ IUPAC[5]
แบบใช้ประจุ แบบปริมาณสัมพันธ์ แบบระบุสถานะออกซิเดชัน
PCl3 ฟอสฟอรัสคลอไรด์
Phosphorous chloride
ฟอสฟอรัส(III) คลอไรด์
Phosphorus(III) chloride
ฟอสฟอรัส(+3) คลอไรด์
Phosphorus(+3) chloride
ฟอสฟอรัสไตรคลอไรด์
Phosphorus trichloride
ฟอสฟอรัส(III) คลอไรด์
Phosphorus(V) chloride
PCl5 ฟอสฟอริกคลอไรด์
Phosphoric chloride
ฟอสฟอรัส(V) คลอไรด์
Phosphorus(V) chloride
ฟอสฟอรัส(+5) คลอไรด์
Phosphorus(+5) chloride
ฟอสฟอรัสเพนตะคลอไรด์
Phosphorus pentachloride
ฟอสฟอรัส(V) คลอไรด์
Phosphorus(V) chloride
FeCl2 เฟอร์รัสคลอไรด์
Ferrous chloride
ไอร์ออน(II) คลอไรด์
Iron(II) chloride
ไอร์ออน(+2) คลอไรด์
Iron(+2) chloride
ไอร์ออนไดคลอไรด์
Iron dichloride
ไอร์ออน(II) คลอไรด์
Iron(II) chloride
FeCl3 เฟอร์รัสคลอไรด์
Ferrous chloride
ไอร์ออน(III) คลอไรด์
Iron(III) chloride
ไอร์ออน(+3) คลอไรด์
Iron(+3) chloride

ไอร์ออนไตรคลอไรด์
Iron trichloride
ไอร์ออน(III) คลอไรด์
Iron(III) chloride

หลักการเขียนและอ่านออกเสียง[แก้]

การเขียนชื่อ[แก้]

สารประกอบทั่วไป[แก้]

การเขียนระบุสถานะออกซิเดชันจะใช้ตัวเลขโรมันในวงเล็บ[6] โดยเขียนชิดกับชื่อธาตุ เช่น

  • FeCl2 ให้เขียน ไอร์ออน(II) คลอไรด์ ไม่เขียน ไอร์ออน (II) คลอไรด์
  • [Co(NH3)6]Cl3 ให้เขียน เฮกซะแอมมีนโคบอลต์(III) คลอไรด์ ไม่เขียน เฮกซะแอมมีนโคบอลต์ (III) คลอไรด์ เป็นต้น

เนื่องจากไม่มีเลขศูนย์ในตัวเลขโรมัน หากสถานะออกซิเดชันเป็น 0 จะใช้ตัวเลขอารบิก 0 แสดงสถานะออกซิเดชัน

  • K4[Ni(CN)4] ชื่อว่า โพแทสเซียม เตตระไซยาโนนิเกเลต(0) เป็นต้น
สารประกอบสถานะออกซิเดชันผสม[แก้]

สำหรับสารประกอบที่อะตอมที่มีสถานะออกซิเดชันหลายค่ามีสถานะออกซิเดชันผสม ให้ใช้เครื่องหมาย จุลภาค (,) คั่นกลางโดยเขียนเลขโรมันเรียงลำดับจากน้อยไปหามากโดยไม่เว้นเวรรค เขียนในวงเล็กและเขียนชิดกับชื่อธาตุ เช่น

  • Co3O4 ชื่อว่า โคบอลต์(II,III) ออกไซด์
  • Sb2O4 ชื่อว่า แอนติโมนี(III,V) ออกไซด์ เป็นต้น

การอ่านออกเสียง[แก้]

การอ่านออกเสียงชื่อสารเคมีตามระบบสต็อก จะอ่านสถานะออกซิเดชันด้วยการนับจำนวนในภาษาอังกฤษโดยปกติ ได้แก่ 1, 2, 3, ... เป็น วัน, ทู, ทรี, ... ตัวอย่าง

  • ไอร์ออน(III) คลอไรด์ (Iron(III) chloride) อ่านออกเสียงว่า / ไอ-อ้อน-ทรี-คลอ-ราย /
  • คอปเปอร์(II) ซัลเฟต (Copper(II) sulphate) อ่านออกเสียงว่า / ค๊อบ-เป้อ-ทู-ซัน-เฝด / เป็นต้น

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. George B. Kauffman and Christian Klixbüll Jørgensen (1985), The origin and adoption of the Stock system, J. Chem. Educ.,62 (3), p 243.
  2. Robert C. Brasted (1958),Revised inorganic (Stock) nomenclature for the general chemistry student, J. Chem. Educ., 35 (3), p 136
  3. Stock, A. (1919), Einige Nomenklaturfragen der anorganischen Chemie. Angewandte Chemie, 32: 373–374.
  4. Richard M. Hartshorn, Karl-Heinz Hellwich, Andrey Yerin, Ture Damhus, Alan T. Hutton (2015), Brief guide to the nomenclature of inorganic chemistry, Pure and Applied Chemistry. 87, 9-10, 1039–1049
  5. N. G. Connelly, T. Damhus, R. M. Hartshorn (2005), Nomenclature of Inorganic Chemistry – IUPAC Recommendations 2005 (Red Book), A. T. Hutton (Eds.), Royal Society of Chemistry, Cambridge, U.K., ISBN 0-85404-438-8.
  6. W. C. Fernelius, Kurt Loening and Roy M. Adams (1972), Numbers in nomenclature, J. Chem. Educ., 49 (1), p 49