การเพิ่มอำนาจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การเพิ่มอำนาจ (empowerment) เป็นคำศัพท์ที่ใช้กล่าวถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ตลอดเวลาในอดีตไม่มีอำนาจ (powerless) แต่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในทางบริบทสังคม การเมือง ทำให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวสามารถมีอำนาจที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านของการเจรจาต่อรอง การตัดสินใจ และความสามารถในการกำหนดเส้นทางหรือวิถีชีวิตของตัวเอง คำว่าการเพิ่มอำนาจจึงมักใช้กับประชาชนหรือกลุ่มทางสังคมที่ไม่ได้รับสิทธิ เสรีภาพจากรัฐ หรือเป็นกลุ่มที่ถูกกดขี่ขูดรีดจากระบบเศรษฐกิจ และเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ไม่ว่าจะมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือการรวมตัวเคลื่อนไหวทางสังคม ทำให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีอำนาจมากยิ่งขึ้น หรือเป็นสาเหตุให้เกิดการเพิ่มอำนาจในการต่อสู้ต่อรองให้กลุ่มที่เคยไม่มีอำนาจดังกล่าว (Kurian, 2011: 504-505)[1]

อรรถาธิบาย[แก้]

“การเพิ่มอำนาจ” ในทางทฤษฎีหมายถึงการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง ที่ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากกลุ่มอำนาจเก่า ไปสู่กลุ่มอื่นๆ โดยอำนาจมีลักษณะที่กระจายตัวไปตามกลุ่มต่างๆมากยิ่งขึ้น (Budryte, 2011: 504)[2] คำอธิบายนี้จึงใช้กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในช่วงทศวรรษ 1970s หรือระหว่างยุคสงครามเย็น ที่เกิดตัวแสดงใหม่ทั้งจากฝั่งยุโรปและอเมริกา คือ ขบวนการทางสังคม (Social Movement) และพื้นที่ประชาสังคม (Civil Society) ที่ได้รับการเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับนโยบายของรัฐและการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ วิถีชีวิต อัตลักษณ์ และชุมชนของตนเอง การเพิ่มอำนาจจึงสามารถวิเคราะห์ได้ทั้งระดับจุลภาค (micro level) คือการหาว่าใครหรือองค์กรใดได้รับการเพิ่มอำนาจขึ้นบ้าง และการวิเคราะห์ระดับมหภาค (macro level) คือการมองโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ในทางปฏิบัติ งานของโบรห์แมน (Brohman, 1996: 201-225)[3] ได้ยกตัวอย่างว่า การเพิ่มอำนาจคือรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาทางเลือก (alternative development) ในการตอบสนองความต้องการ (needs) ของมนุษย์ ไม่ใช่เพียงการพัฒนาตัวเลขทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางเลือกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา จะต้องมีการเพิ่มอำนาจเพื่อให้ประชาชนมีความสามารถที่จะเลือกวิถีชีวิต และได้รับการตอบสนองหรือเข้าถึงความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี การเพิ่มอำนาจดังกล่าวอาจมองในเชิงวัตถุ เช่น การมอบสิทธิในการรักษาพยาบาล การมอบสิ่งของที่เป็นปัจจัยสี่ ฯลฯ หรือมองในเชิงนามธรรม เช่น การมอบเสรีภาพในการมีชีวิตอยู่ การมอบเสรีภาพในการชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องหาความเป็นธรรม ฯลฯ

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย[แก้]

ในสังคมไทย มีงานเขียนที่กล่าวถึง การเพิ่มอำนาจ ว่าหมายถึง การแบ่งอำนาจของบุคคลในส่วนของอำนาจการตัดสินใจไปมอบให้กับสมาชิก ซึ่งก่อนหน้านี้ อำนาจดังกล่าวเคยเป็นอำนาจที่ถูกสงวนไว้สำหรับผู้บริหาร การมอบอำนาจหรือเพิ่มอำนาจ สามารถแยกองค์ประกอบได้ดังนี้ (สุมาลี, 2555)[4]

  1. สมาชิกได้รับข้อมูลในการตัดสินใจ
  2. สมาชิกได้รับความรู้และทักษะในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย
  3. สมาชิกมีอำนาจในการตัดสินใจและการควบคุมตัวเอง
  4. สมาชิกเข้าใจความหมายและความสำคัญของอำนาจที่ได้เพิ่มมา
  5. สมาชิกได้รับรางวัลมากยิ่งขึ้น

ส่วนในพื้นที่ประชาสังคมของไทย มีตัวอย่างองค์กรที่ใช้คำว่าการเพิ่มอำนาจเป็นชื่อองค์กร เช่น มูลนิธิศักยภาพชุมชน (People's Empowerment Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ทำงานในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาของพี่น้องรากหญ้าในประเทศไทย มูลนิธิฯ ได้ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขานุการแก่องค์กรชุมชน (Community-based organization: CBO) ภารกิจของมูลนิธิฯ คือการสร้างกลไกที่ยั่งยืนแก่ปัจเจกบุคคล องค์กรระดับชุมชน พันธมิตรระดับรากหญ้า และการขับเคลื่อนของมวลชน เพื่อส่งเสริมศักยภาพเชิงองค์กรของเครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนในประเทศไทย และการมีส่วนร่วมโดยตรงระหว่างเครือข่ายและองค์กรระดับชุมชนต่างๆ โดยมุ่งหวังให้การขับเคลื่อนของภาคประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์ สันติภาพและประชาธิปไตยในประเทศไทย[5]

การเพิ่มอำนาจจึงเป็นคำที่มีความสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนที่มั่งมี (the haves) กับคนด้อยโอกาสอื่นๆ (the have-nots) เพื่อให้คนที่ด้อยโอกาสสามารถมีอำนาจในการต่อรองเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความสามารถในการกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองได้ การเพิ่มอำนาจจึงไม่ได้หมายถึงการมอบอำนาจไปให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจของทุกกลุ่มในสังคมแบบองค์รวม

แนวคิดการเพิ่มอำนาจอาจนำมาปรับใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาการทะเลาะวิวาทระหว่างนักศึกษาอาชีวะต่างสถาบันในสังคมไทย ที่มีการใช้ความรุนแรงจนขั้นเสียชีวิตหลายกรณี มีข้อมูลบ่งชี้ว่า นักศึกษาอาชีวะจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่รู้สึกว่าตนเองมีพลังมีอำนาจพอที่จะต่อต้านการชักจูงโดยรุ่นพี่และกลุ่มเพื่อน เพราะเกรงว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับ วิธีแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในสถาบันอาชีวะศึกษา อาจเริ่มด้วยการเพิ่มอำนาจให้พวกเขารู้สึกภูมิใจ มั่นใจ และรักตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมรอบตัวเขาปฏิเสธพวกเขามาตลอด หนังสือชื่อ เด็กน้อยโตเข้าหาแสง: ประสบการณ์ ‘คบเด็ก (เป็น) สร้างบ้าน (ได้) ของ ‘ป้ามล’ (ทิชา ณ นคร) สะท้อนปัญหาเรื่องวัยรุ่นขาดความรู้สึกว่าตนมี “อำนาจ” ได้เป็นอย่างดี

"วันที่เด็กยกพวกไปฆ่าคน สิ่งที่เขากลัวที่สุดไม่ใช่การฆ่าหรือการถูกฆ่า แต่พวกเขากลัวว่าพรุ่งนี้เขาจะยังมีเพื่อนหรือเปล่า เขาจะยังเป็นที่ยอมรับของเพื่อนหรือเปล่า สำหรับเขาแล้ว นี่คือคนกลุ่มสุดท้ายในโลกที่ยังยอมรับตัวตนและเห็นคุณค่าของเขา เพราะพ่อแม่พี่น้อง ครอบครัว ครู และเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนปฏิเสธตัวตนของเขา….มันไม่ใช่ความกลัวที่ดูโง่งมเข้าใจไม่ได้ แต่คำถามที่ต้องทบทวนก็คือ เราได้ให้ 'อะไร' กับเขาหรือยัง เพื่อให้เขามีความกล้าหาญ และมั่นใจในคุณค่าตัวเองจนมากพอจะบอกว่า "กูไม่ไปกับพวกมึงหรอก”…." ป้ามลยืนยันอย่างมั่นใจว่าเด็กที่ก่อคดีโทรมไม่ได้บ้าเซ็กซ์ เขาไม่ได้เป็นคนที่ถ้าไม่ได้เอาใครในค่ำคืนนั้นแล้วจะลงแดงตาย แต่ระหว่างที่ไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น ช่วงที่ยืนอยู่หว่างขาของผู้หญิงคนหนึ่ง ถ้าเขาไม่ทำ ก็แสดงว่าไม่ใช่พวกเดียวกัน ถ้าไม่ทำแล้วเพื่อนจะไม่คบ ไม่ยอมรับ ในที่สุดนอกจากจะเป็นผู้แพ้จากระบบการศึกษาเพราะเรียนไม่เก่งตาม 'มาตรฐาน' แล้ว เขายังเป็นผู้แพ้ในระบบความคิดตัดสินใจของตัวเอง” (มิลินทร์, 2555)[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Kurian, George Thomas et al. (2011). The Encyclopedia of Political Science. Washington, D.C.: CQ Press.
  2. Budryte, Dovile (2011). “Empowerment”. In George Thomas Kurian et al. The Encyclopedia of Political Science. Washington, D.C.: CQ Press.
  3. Brohman, John (1996). Popular Development: Rethinking the Theory and Practice of Development. Oxford: Blackwell.
  4. สุมาลี ทองดี (2555). “การมอบอำนาจ (Empowerment)”. เข้าถึงวันที่ 10 กันยายน 2555 ใน http://www.op.mahidol.ac.th/orga/file/EMPOWERMENT1.pdf.
  5. มูลนิธิศักยภาพชุมชน เข้าถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ใน http://www.peoplesempowerment.org/en/about-u/ เก็บถาวร 2018-08-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. มิลินทร์ (2555). เด็กน้อยโตเข้าหาแสง: ประสบการณ์ ‘คบเด็ก (เป็น) สร้างบ้าน (ได้) ของ ‘ป้ามล’ (ทิชา ณ นคร). กรุงเทพ: สวนเงินมีมา.