การปะทุของเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ พ.ศ. 2553

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การปะทุของเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ พ.ศ. 2553
ปล่องภูเขาไฟในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 2010
วันที่20 มีนาคม – 23 มิถุนายน ค.ศ. 2010
ประเภทการปะทุแบบสตรอมโบเลียน และวัลคาเนียน
สถานที่ไอซ์แลนด์
63°37′59″N 19°36′00″W / 63.633°N 19.6°W / 63.633; -19.6พิกัดภูมิศาสตร์: 63°37′59″N 19°36′00″W / 63.633°N 19.6°W / 63.633; -19.6
ระดับ4
ผลกระทบมีผลต่อการเดินทางกับอากาศยานอย่างมาก แต่มีผลต่อการเกษตรในไอซ์แลนด์เพียงเล็กน้อย
แผนที่แสดงที่เมฆเถ้าภูเขาไฟในวันที่ 14–25 เมษายน ค.ศ. 2010

การปะทุของเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ พ.ศ. 2553 เป็นชุดการระเบิดของภูเขาไฟซึ่งเกิดขึ้นที่เอยาฟยาตลาเยอคุตล์ ในประเทศไอซ์แลนด์ กิจกรรมแผ่นดินไหวได้เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2552 และนำไปสู่การปะทุของภูเขาไฟเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งมีการจัดดัชนีการระเบิดของภูเขาไฟ อยู่ที่ระดับ 1[1] การปะทุครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2553 และได้รบกวนการจราจรทางอากาศในทวีปยุโรปนับตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารนับล้านคน

ประวัติ[แก้]

ชาวบ้านท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวสังเกตการณ์ภูเขาไฟก่อนหน้าการปะทุ

ปลายปี พ.ศ. 2552 กิจกรรมแผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นรอบพื้นที่ภูเขาไฟเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ โดยมีแผ่นดินไหวขนาดย่อมหลายพันครั้ง (ส่วนใหญ่มีความรุนแรง 1-2 โมเมนต์-แมกนิจูด ลึกลงไป 7-10 กิโลเมตรใต้ภูเขาไฟ) [2] เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ชุดอุปกรณ์ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (GPS) ซึ่งสถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งไอซ์แลนด์ใช้ที่ทุ่งทอร์วัลต์เซรีในแถบเอยาฟเยิตล์ (ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 15 กิโลเมตรจากจุดที่มีการปะทุของภูเขาไฟครั้งล่าสุด[3]) ได้แสดงให้เห็นว่า เปลือกท้องถิ่นได้เคลื่อนไปทางทิศใต้ 3 เซนติเมตร โดยการเคลื่อน 1 เซนติเมตร ใช้เวลาภายใน 4 วัน ความผิดปกติของกิจกรรมแผ่นดินไหวครั้งนี้ประกอบกับการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วของแผ่นเปลือกโลกในพื้นที่ได้ให้หลักฐานแก่นักธรณีฟิสิกส์ว่า หินหนืด (magma) จากใต้แผ่นเปลือกโลกกำลังไหลเข้าสู่กะเปาะหินหนืด (magma chamber) ใต้ภูเขาไฟเอยาฟยาตลาเยอคุตล์

กิจกรรมแผ่นดินไหวดังกล่าวยังได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และนับตั้งแต่วันที่ 3-5 มีนาคม ได้เกิดแผ่นดินไหวเกือบ 3,000 ครั้งซึ่งตรวจวัดได้ที่จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวในภูเขาไฟ แผ่นดินไหวส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมาก (2 แมกนิจูด) จนไม่สามารถอ่านได้ว่าเป็นเครื่องแสดงถึงการปะทุของภูเขาไฟ แต่แผ่นดินไหวบางส่วนถูกตรวจพบได้ในเมืองใกล้เคียง[4] การปะทุคาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553 ระหว่างเวลา 22.30 ถึง 23.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ห่างจากธารน้ำแข็งในเนินลาดทางเหนือของช่องเขาฟิมม์เวอร์ดูเฮาลส์ไปทางทิศตะวันออกในระยะไม่กี่กิโลเมตร[5][6]

การปะทุครั้งแรก: 20 มีนาคม[แก้]

การปะทุเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

การปะทุเกิดขึ้นทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553 ณ ระบบภูเขาไฟเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ รายงานการพบเห็นครั้งแรกเกิดขึ้นราว 23:00 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช โดยกลุ่มเมฆสีแดงถูกพบเห็นที่ภูเขาไฟ การปะทุเป็นผลสืบเนื่องมาจากกิจกรรมแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงและการเปลี่ยนลักษณะในอัตราสูงในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้าการปะทุ ประกอบกับหินหนืดซึ่งเติมพลังให้กับภูเขาไฟ[7]

รอยแยก[แก้]

รอยแยกที่เกิดขึ้นมีความยาว 500 เมตรในแนวตะวันออกเฉียงเหนือไปยังตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีปล่องราว 10-12 ปล่องปล่อยลาวาซึ่งมีอุณหภูมิราว 1,000 องศาเซลเซียสพุ่งสูงขึ้นไปในอากาศกว่า 150 เมตร โดยลาวาเป็นหินบะซอลต์แอลคาไลโอลิวีน[8] ลาวาดังกล่าวค่อนข้างหนืด ทำให้การเคลื่อนของกระแสลาวาไปทางตะวันตกและตะวันออกของรอยแยกเกิดขึ้นได้ช้า การปะทุดังกล่าวจึงจัดเป็นการปะทุพ่น[9] รอยแยกแห่งใหม่เปิดออกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม โดยห่างจากรอยแยกแห่งแรกออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 200 เมตร มันมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย จากข้อมูลของนักธรณีฟิสิกส์ รอยแยกทั้งสองที่เกิดขึ้นนี้มาจากกะเปาะหินหนืดแห่งเดียวกัน ไม่มีกิจกรรมแผ่นดินไหวที่ผิดปกติเมื่อรอยแยกนี้ปรากฏขึ้น และไม่มีการขยายตัวของเปลือกโลกใด ๆ จากข้อมูลที่ได้จากเครื่องวัดการสั่นสะเทือนและเครื่องบันทึกจีพีเอสต่าง ๆ ซึ่งติดตั้งในพื้นที่ใกล้เคียง[10][11]

รอยแยกแห่งที่สองเมื่อมองจากทิศเหนือ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

สถานีเรดาร์ของสถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งไอซ์แลนด์ไม่ตรวจพบปริมาณเถ้าตกจากภูเขาไฟในปริมาณที่ตรวจวัดได้ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของการปะทุ[12] อย่างไรก็ตาม ระหว่างคืนวันที่ 22 มีนาคม มีรายงานเถ้าตกในหมู่บ้านฟลีโยตส์ฮลีท (ห่างจากจุดที่เกิดการปะทุออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 20-25 กิโลเมตร) และเมืองควอลส์เวอตลูร์ (ห่างจากจุดที่เกิดการปะทุออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 40 กิโลเมตร) ทำให้ยานพาหนะต่าง ๆ ถูกปกคลุมด้วยชั้นเถ้าภูเขาไฟสีเทา ราว 7.00 น. ของวันที่ 22 มีนาคม การระเบิดครั้งหนึ่งได้ส่งพวยเถ้าถ่านสูงขึ้นไปในอากาศถึง 4 กิโลเมตร[13] เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553 เกิดการปะทุไอน้ำขนาดเล็กขึ้น เมื่อหินหนืดร้อนออกมาสัมผัสกองหิมะซึ่งอยู่ใกล้เคียง ทำให้ปล่อยไอน้ำขึ้นไปถึงความสูง 7 กิโลเมตร และสามารถตรวจพบได้โดยเรดาร์ของสถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งไอซ์แลนด์ นับตั้งแต่นั้นมา การปะทุไอน้ำก็ได้เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง[14] และวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553 รอยแยกแห่งใหม่ก็ได้เปิดขึ้นบนภูเขาไฟ[15]

ผลกระทบต่อน้ำ[แก้]

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553 อุปกรณ์เครื่องวัดอัตราการไหลซึ่งตั้งอยู่ ณ แม่น้ำธารน้ำแข็งครอสเซาเริ่มต้นบันทึกการเพิ่มระดับของน้ำและอุณหภูมิของน้ำอย่างกะทันหัน โดยรวมแล้ว อุณหภูมิของน้ำเพิ่มขึ้น 6 องศาเซลเซียสในเวลาสองชั่วโมง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ในแม่น้ำครอสเซานับตั้งแต่เริ่มมีการตรวจวัดเป็นต้นมา ไม่นานนักหลังจากนั้น ระดับน้ำก็กลับคืนสู่ระดับปกติและอุณหภูมิของน้ำก็เริ่มลดลงด้วยเช่นกัน[16] เชื่อกันว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำมีความเกี่ยวข้องกับการปะทุของภูเขาไฟที่อยู่ใกล้เคียง และส่งผลกระทบต่อบางส่วนของบริเวณลุ่มน้ำครอสเซา อุณหภูมิของแม่น้ำฮรูเนาซึ่งไหลผ่านหุบเขาฮรูเนาร์กิล อันเป็นบริเวณที่บางส่วนของสายลาวาได้ไหลลงไป ก็มีการบันทึกโดยนักธรณีวิทยาว่ามีอุณหภูมิระหว่าง 50-60 องศาเซลเซียส ซึ่งบ่งชี้ว่าแม่น้ำลดความร้อนของลาวาที่อยู่ในหุบเขานั้น[17]

การวิเคราะห์[แก้]

ตัวอย่างของเถ้าภูเขาไฟที่เก็บได้จากบริเวณใกล้พื้นที่การปะทุแสดงถึงซิลิกาเข้มข้นร้อยละ 58 ซึ่งสูงกว่าในกระแสลาวาที่ไหลออกมา[18] ความเข้มข้นของฟลูออไรด์ละลายน้ำได้คิดเป็น 1 ใน 3 ของความเข้มข้นในการปะทุของภูเขาไฟเฮคลา โดยมีค่าเฉลี่ยของฟลูออไรด์อยู่ที่ 104 มิลลิกรัมต่อเถ้าหนึ่งกิโลกรัม เกษตรกรรมมีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ของไอซ์แลนด์อย่างมาก[19] และเกษตรกรใกล้กับภูเขาไฟได้รับคำเตือนมิให้สัตว์เลี้ยงดื่มน้ำจากลำธารหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ[20] เพราะฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูงสามารถส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อไตและตับในสัตว์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแกะ)[21]

การปะทุครั้งที่สอง: 14 เมษายน[แก้]

การปะทุครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2553 เอยาฟยาตลาเยอคุตล์ยังคงปะทุขึ้นอีกครั้งหลังจากหยุดชะงักไปชั่วระยะหนึ่ง การปะทุครั้งนี้เกิดขึ้นที่ตรงกลางของธารน้ำแข็ง ทำให้อุทกภัยที่เกิดจากน้ำแข็งละลายไหลทะลักลงสู่แม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งอยู่ทั้งสองด้านของภูเขาไฟ และประชาชน 800 คนต้องถูกอพยพจากพื้นที่ ถนนตามแม่น้ำมาร์คาร์ปลีโยตถูกทำลายในหลายพื้นที่[22]

ไม่เหมือนกับการปะทุครั้งก่อนหน้า การปะทุครั้งที่สองเกิดขึ้นที่ใต้น้ำแข็งของธารน้ำแข็ง น้ำเย็นซึ่งเกิดจากการละลายของน้ำแข็งได้ทำให้ลาวาเย็นลงอย่างรวดเร็วและทำให้ลาวาที่แข็งตัวนั้นแตกกลายเป็นแก้ว ทำให้เกิดอนุภาคแก้วขนาดเล็กซึ่งถูกนำพาไปในพวยเถ้าถ่าน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็ทำให้สายการบินที่ออกจากยุโรปและเข้ามายุโรปต้องปิดลงหลายวัน ประกอบกับขนาดของการปะทุ ซึ่งคาดกันว่ามีขนาดเป็น 10-20 เท่า ของการปะทุที่ฟิมม์เวอร์ดูเฮาลส์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ส่งผลให้เกิดพวยเถ้าถ่านซึ่งมีแก้วเจือปนในปริมาณสูงตกค้างในชั้นบรรยากาศระดับสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่ออากาศยาน[23]

ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553 การปะทุยังคงดำเนินต่อไป แต่การระเบิดลดลง โดยพวยเถ้าถ่านพุ่งขึ้นสูงขึ้นไปในอากาศ 5 กิโลเมตร ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 13 กิโลเมตร ของการปะทุครั้งที่ผ่านมา และไม่ขึ้นไปสูงพอที่ลมจะพัดพาไปทั่วทวีปยุโรป[24]

กลับสู่ภาวะสงบ[แก้]

ในเช้าวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 มุมมองจากกล้องเว็บแคมที่ติดตั้งบนเนินโทโรลฟ์สเฟตล์ (Þórólfsfell)[25] แสดงให้เห็นเพียงกลุ่มไอน้ำล้อมรอบด้วยหมอกควันสีฟ้าที่เกิดจากการปล่อยก๊าซกำมะถัน เนื่องจากมีเถ้าภูเขาไฟแห้งจำนวนมากบนพื้นดิน ลมพื้นผิวจึงพัดพา "ละอองเถ้า" ฟุ้งขึ้นบ่อย ๆ ซึ่งทำให้ทัศนวิสัยลดลงอย่างมาก และทำให้การสังเกตการณ์ภูเขาไฟด้วยกล้องเว็บแคมเป็นไปไม่ได้[26]

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ข้อมูลจากเครื่องบันทึกคลื่นไหวสะเทือนในพื้นที่ระบุว่าความถี่และความแรงของการสั่นสะเทือนของแผ่นดินลดลง แต่ยังคงดำเนินต่อไป[27]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 อาร์มันน์ เฮิสกืล์ดซอน (Ármann Höskuldsson) นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์โลกแห่งมหาวิทยาลัยไอซ์แลนด์ ระบุว่า การปะทุสิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางการ แม้ว่าบริเวณดังกล่าวจะยังมีความร้อนใต้พิภพอยู่ และอาจมีการปะทุขึ้นอีกครั้ง[28]

ผลกระทบ[แก้]

การประมาณของเมฆเถ้าเมื่อเวลา 18:00 น. UTC ของวันที่ 22 เมษายน การพยากรณ์ล่าสุดมีการอัปเดตที่ London Volcanic Ash Advisory Centre site (Met Office, สหราชอาณาจักร)

ผลกระทบของพวยเถ้าถ่านต่อการจราจรทางอากาศ[แก้]

เถ้าภูเขาไฟเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่ออากาศยาน[29] ตำแหน่งของพวยเถ้าถ่านในปัจจุบันขึ้นอยู่กับสภาพของการปะทุและลม

การจราจรทางอากาศได้รับผลกระทบอย่างหนักภายหลังการปะทุครั้งที่สอง ในขณะที่เถ้าภูเขาไฟบางส่วนได้ตกลงสู่พื้นที่ซึ่งไม่มีคนอาศัยอยู่ของไอซ์แลนด์ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกพัดพาไปโดยลมตะวันตก อันส่งผลให้มีการปิดนานฟ้าบริเวณกว้างขวางในทวีปยุโรป ควันและเถ้าจากการปะทุลดทัศนวิสัยของการนำทางด้วยภาพ และกองเศษหินซึ่งเล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นในเถ้าสามารถหลอมละลายในเครื่องยนต์หลอดของอากาศยาน ทำให้เครื่องยต์เสียหายและต้องปิดลง[23][29]

ผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว ต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Institute of Earth Sciences. ""Eruption in Eyjafjallajökull"". University of Iceland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 สิงหาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2010.
  2. Veðurstofa Íslands (5 มีนาคม 2010) "Jarðskjálftahrina undir Eyjafjallajökli". Veðurstofa Ísland (The Meteorological Institute of Iceland).
  3. Measurements made by using maps and measurement tools from Fasteignaskrá Íslandskort "Fasteignaskrá measurement tools". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 พฤษภาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2010.
  4. "Fyrsta háskastigi lýst yfir". Morgunblaðið.
  5. "Eldgosið á Fimmvörðuhálsi".
  6. Volcano Erupts Under Eyjafjallajökull Reykjavík Grapevine, 21 มีนาคม 2010
  7. Institute of Earth Sciences. Eruption in Eyjafjallajökull 20 March to present.
  8. Institute of Earth Sciences. Eruption in Eyjafjallajökull เก็บถาวร 30 มีนาคม 2010 ที่ National and University Library of Iceland.
  9. "Gossprungan um 1 km að lengd". Morgunblaðið.
  10. Veðurstofa Íslands "Ný gossprunga – skráð 01.04.2010 kl. 10:00". Veðurstofa Íslands (Icelandic Meteorological Office). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กรกฎาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2010.
  11. Morgunblaðið 1. เมษายน "Vel gekk að rýma gossvæðið". Morgunblaðið.
  12. "Eldgos í Eyjafjallajökli".
  13. "Tímabundinn kraftur í gosinu". Morgunblaðið.
  14. Ríkisútvarpið fréttavefur "Krafturinn ekki aukist". RÚV.
  15. Tom Robbins. "Iceland's erupting volcano | Travel". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2010.
  16. Meteorological Institute of Iceland: Eruption in Fimmvörðuháls mountain pass "Elsdgosið í Fimmvörðuhálsi". Veðurstofa Ísland.
  17. Morgunblaðið 29. มีนาคม "Mikill hiti í Hruná". Morgunblaðið.
  18. "Eruption in Eyjafjallajökull". Institute of Earth Sciences, University of Iceland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มีนาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2010.
  19. A report in Icelandic: Landbúnaður skiptir máli (transl. "Agriculture matters") says that 28% of the total workforce in agriculture are scattered throughout Southern Iceland. "Landbúnaður skiptir máli". Bændasamtök Íslands. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กรกฎาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2010.
  20. Morgunblaðið 23. มีนาคม 2010 "Ekki mikið af flúor í öskunni". Morgunblaðið.
  21. "Experimental Acute Sodium Fluoride Poisoning in Sheep: Renal, Hepatic, and Metabolic Effects". M. KESSABI, A. HAMLIRI, J. P. BRAUN and A. G. RICO: Département de Toxicologie, Pharmacie et Biochimie, Institut Agronomique et Vétérinaire Hassan II B.P. 6202, Rabat-Agdal, Maroc {dagger}Département de Biochimie et Biophysique, École Nationale Vétérinaire 23, chemin des Capelles, 31076 Toulouse, France. 1985.
  22. Robert Barr (15 เมษายน 2010). "Iceland's volcanic ash halts flights in northern Europe". BBC News. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2023.
  23. 23.0 23.1 "Iceland's volcanic ash halts flights across Europe | World news | guardian.co.uk". Guardian. 23 มกราคม 2008. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2010.
  24. Robert Booth, Dan Milmo, et. al. "Volcanic ash keeps flights across Europe grounded เก็บถาวร 2010-04-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", The Guardian, 16 เมษายน 2010
  25. "Eyjafjallajökull frá Hvolsvelli". eldgos.mila.is. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 เมษายน 2010.
  26. "Articles < Seismicity < Icelandic Meteorological office". En.vedur.is. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 พฤษภาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2010.
  27. "University of Iceland reports and scientists' quotes". Earthice.hi.is. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มีนาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2010.
  28. "Eruption in Iceland's Eyjafjallajökull Over". Iceland Review Online. 27 ตุลาคม 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2010. สืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010.
  29. 29.0 29.1 C. M. Riley, "Tephra " Michigan Technological University Geological & Mining, Engineering & Sciences, สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]