การตรวจตรา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยของกองทัพอากาศสหรัฐออกตรวจตราในช่วงสงครามอ่าว

การตรวจตรา[1] (อังกฤษ: patrol) คือกลุ่มของบุคคล เช่น เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ทหาร หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่ได้รับมอบหมายให้เฝ้าติดตามหรือรักษาความปลอดภัยพื้นที่เฉพาะทางภูมิศาสตร์

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

คำว่า "patrol" มาจากคำภาษาฝรั่งเศสว่า patrouiller ซึ่งมาจากคำภาษาฝรั่งเศสเก่าว่า patouiller แปลว่า "ลุยโคลน" ซึ่งแผลงมาจากคำว่า patte แปลว่า "อุ้งเท้า"

คำว่า "ตรวจตรา" เป็นคำกริยา หมายถึงการพิจารณาดูให้รอบคอบถี่ถ้วน[2]

คำว่า "ตรวจการณ์" และคำว่า "ตระเวน" เป็นคำกริยา ของคำว่าเที่ยวตรวจตรา ซึ่งเป็นหน้าที่ของข้าราชการโบราณในกรมพระนครบาล เช่น พลตระเวน[2]

คำว่า "สายตรวจ" เป็นคำนาม ไว้ใช้เรียกผู้ตรวจที่ดูแลความสงบเรียบร้อยหรือความถูกระเบียบเป็นย่าน ๆ ไป เช่น สายตรวจสรรพสามิตร ตำรวจสายตรวจ[2]

และคำว่า "ลาดตระเวน" เป็นคำกริยา หมายถึงการเที่ยวตรวจไปทั่วเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู เช่น หน่วยลาดตระเวน เครื่องบินออกลาดตระเวน ตำรวจทหารลาดตระเวนไปตามชายแดน[2]

ทางทหาร[แก้]

กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในประเทศเอริเทรียกำลังตรวจตราบริเวณพรมแดนเอริเทรียและเอธิโอเปีย

ในยุทธวิธีทางทหาร การตรวจตรา หรือการลาดตระเวน[ก] เป็นการจัดกำลังขนาดเล็กซึ่งแบ่งออกจากกำลังทางการทหาร ทั้งทางบก ทางทะเล หรือทางอาการ สำหรับจุดประสงค์ในการต่อสู้ (Combat) การลาดตระเวน (Reconnaissance) หรือทั้งสองจุดประสงค์ โดยภารกิจพื้นฐานของการลาดตระเวนคือการตรวจการณ์ไปตามเส้นทางเดิมที่รู้จักเพื่อตรวจสอบหาสิ่งที่น่าสนใจหรือสิ่งผิดปกติ หรือในภารกิจการลาดตระเวนต่อสู้ (การลาดตระเวนต่อสู้ของสหรัฐ) คือเพื่อค้นหาและต่อสู้กับศัตรู การลาดตระเวนอาจหมายถึงการใช้กองทหารม้าขนาดเล็กหรือหน่วยยานยนต์หุ้มเกราะ หรืออาจจะเพียงแค่หน่วย (troop) หรือระดับหมวด (platoon) มักจะประกอบไปด้วยตอน (section) หรือหมู่ (squad) ของหน่วยทหารม้า หรือยานรบหุ้มเกราะจำนวน 2 คัน (มักจะเป็นรถถัง)

การบังคับใช้กฎหมาย[แก้]

ในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ใช่ในทางการทหาร เจ้าหน้าที่สายตรวจ[ข] (patrol officers) คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ (หรือในหน่วยงานเอกชนคือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย) ที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจตราพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ถูกกำหนดไว้ ในกรณีนี้ การออกตรวจ หมายถึง การออกตรวจตรา นั่นคือการเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นระยะเพื่อตรวจสังเกตหรือป้องกันการละเมิดกฎหมายหรือการก่อปัญหาใด ๆ ก็ตาม

เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองเวสท์มิดแลนด์เดินตรวจตราในเมืองเวสต์บรอมมิช ประเทศอังกฤษ

เจ้าหน้าที่สายตรวจ เป็นตำรวจที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกพบเห็นบ่อยที่สุดในพื้นที่สาธารณะ หน้าที่ของพวกเขารวมไปจนถึงการถูกเรียกเพื่อขอความช่วยเหลือ การทำการจับกุม การไกล่เกลี่ยการทะเลาะวิวาท ปัญหาเกี่ยวกับใบสั่งจราจร การเข้าถึงพื้นที่ที่รับแจ้งเหตุอาชญากรรม การบังคับใช้กฎหมายจราจร การสืบสวนทางอาชญากรรม และการป้องกันอาชญากรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่สายตรวจมักจะเป็นผู้เผชิญเหตุคนแรกเมื่อเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตาม ซึ่งปฏิกิริยาของพวกเขามักจะส่งผลต่อชีวิตและความปลอดภัยของผู้ประสบเหตุนั้นและผลของการสืบสวนสอบสวนหลังจากนั้น ซึ่งการตรวจตรามักจะทำด้วยความใส่ใจเป็นอย่างยิ่งเพื่อทำให้ผู้คนในชุมชนรู้สึกปลอดภัยและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมวลชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ[3]

เจ้าหน้าที่สายตรวจ อาจตรวจตราด้วยการเดินเท้า ขี่ม้า หรือขับขี่จักรยานยนต์ตำรวจ หรือจักรยาน ขับรถตำรวจ ขับพาหนะทางน้ำของตำรวจ หรือขับอากาศยานของตำรวจ ขึ้นอยู่กับหน่วยที่พวกเขาสังกัดอยู่หรือยานพานหะที่หน่วยนั้นมี ซึ่งเจ้าหน้าที่สายตรวจอาจจะพกพาอาวุธหรือไม่พกพาอาวุธหรืออาจจะอยู่ในเครื่องแบบ จากการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเทมเปิลและกรมตำรวจฟิลาเดลเฟียในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2000 ระบบว่าการตรวจตราด้วยการเดินเท้าสามารถลดอาชญากรรมได้มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีอื่น ๆ[4]

การตรวจตราทั่วไป[แก้]

โรงเรียน[แก้]

ในโรงเรียนประถมบางแห่ง ใช้คำว่าผู้ตรวจตราสำหรับนักเรียนที่ได้รับเลือกให้ดูแลตรวจสอบความปลอดภัยในห้องเรียน หรือนักเรียนผู้ช่วยพนักงานรักษาความปลอดภัยในการข้ามถนน (Crossing guard) ที่คอยดูแลความปลอดภัยให้กับนักเรียนที่อยู่ใกล้กับถนน ซึ่งมีอีกคำที่ใช้เรียกพวกเขาคือ hall monitor

การลูกเสือ[แก้]

ในการลูกเสือ ระบบหมู่ (Patrol System)[5] คือลูกเสือจำนวน 6-8 นาย (ซึ่งมีสมาชิกเป็นเยาวชน) ภายใต้การนำของหนึ่งในพวกเขาที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหมู่ และได้รับการสนับสนุนจากรองหัวหน้าหมู่หรือผู้ช่วยหัวหน้าหมู่ ซึ่งนี่คือหน่วยพื้นฐานของกองลูกเสือ โดยระบบหมู่นั้นเป็นลักษณะเฉพาะของการลาดตระเวนที่มีความแตกต่างจากองค์กรอื่น ๆ เนื่องจากเป็นรูปแบบทางธรรมชาติของ แก๊งเด็ก เพื่อจุดประสงค์ในด้านการศึกษาเรียนรู้[6]

หมายเหตุ[แก้]

เนื่องจากความหมายในภาษาไทยมีการใช้ปะปนกันอยู่มากกับความหมายในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีการให้ความหมายที่ใกล้เคียงกันอย่างคำว่า reconnaissance หรือ scouting ที่แปลว่า การลาดตระเวน เช่นเดียวกัน แต่ในทางสากลแล้วมีการใช้งานอย่างบ่งชี้ที่แตกต่างกัน ซึ่งในประเทศไทยมีการให้ความหมายคำว่า patrol หลากหลาย ประกอบไปด้วย ตรวจตรา[1] ตรวจการณ์[ค] เฝ้าตรวจ[ค] สายตรวจ[ข] ตระเวน[ข] และ ลาดตระเวน[ก] ซึ่งคำว่า ตรวจตรา มีความหมายที่ครอบคลุมในทุกหมวดหมู่รวมถึงวิกิพีเดียไทยก็ใช้ความหมายใกล้เคียงกันในหน้า วิกิพีเดีย:ผู้ตรวจตรา

  1. 1.0 1.1 ในเอกสารของสถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง โรงเรียนเสนาธิการทหารบก มีการให้ความหมายคำว่า ลาดตระเวน เหมือนกัน ทั้งคำว่า Patrol (หน้า 2ง-4) และคำว่า Recon (หน้า 2-9)
  2. 2.0 2.1 2.2 ในเอกสารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุความหมายของคำว่า Patrol เอาไว้ 2 ความหมายคือ สายตรวจ ส่วนของชื่อกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (Patrol and Special Operation Division)[10] และบัญชีป้ายบริการในสถานีตำรวจ ส่วนของศูนย์ปฏิบัติการสายตรวจ (Patrol Operation Center)[11] และอีกความหมายคือ ตระเวน ในส่วนชื่อของ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (Border Patrol Police)
  3. 3.0 3.1 ในเอกสารและสื่อของกองทัพเรือไทย ให้ความหมายของ patrol ในชื่อยานพาหนะไว้ความหมายว่า ตรวจการณ์[7][8] และ เฝ้าตรวจ[9] เช่น เรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำ (Riverine Fast Patrol Boat) เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (Offshore Patrol Vessel) การเฝ้าตรวจเป็นจุด (Fix Station Patrol) การเฝ้าตรวจเป็นพื้นที่ (Area Patrol)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "PATROL แปลว่า - พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย". www.online-english-thai-dictionary.com.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 2554.
  3. "Basic Police Patrol Duties". Work - Chron.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2022-10-25.
  4. "The Philadelphia Foot Patrol Experiment | Public Health Law Research". 2011-06-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-18. สืบค้นเมื่อ 2022-10-25.
  5. "narissan : โฮมเพจ ครูต๊อก นริศสันต์ ลิศนันท์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พิมายวิทยา". www.pm.ac.th.
  6. Thurman, John (1950) The Patrol Leader's Handbook, The Boy Scouts Association, London (pp. 4-10)
  7. ระเบียบกองทัพเรือ ว่าด้วยการแบ่งประเภทของเรือหลวง (PDF). กองทัพเรือ. 2555.
  8. "กองเรือลำน้ำ - Detail History". www.riverine.navy.mi.th.
  9. การจัดการองค์ความรู้ กองเรือยามฝั่ง (PDF). กองทัพเรือ. 2561.
  10. ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 54 งานสารบรรณ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556 (PDF). สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. 2556.
  11. บัญชีป้ายบริการของสถานีตำรวจที่ต้องจัดทำเป็น 2 ภาษา (ไทย-อังกฤษ) (PDF). www.royalthaipolice.go.th.