ข้ามไปเนื้อหา

กามิลโล กามิลลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กามิลโล กามิลลี
Camillo Camilli
เกิดค.ศ. 1703
ใกล้วิเชนซา สาธารณรัฐเวนิส
เสียชีวิตค.ศ. 1754(1754-00-00) (50–51 ปี)
มันโตวา จักรวรรดิฮาพส์บวร์ค
มีชื่อเสียงจากช่างทำไวโอลิน

กามิลโล กามิลลี (อิตาลี: Camillo Camilli) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ กามิลลุส กามิลลี (ละติน: Camillus Camilli) (ค.ศ. 1703 – ป. 1754) เป็นนักออกแบบ สร้าง และซ่อมแซมเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายชาวเมืองมันโตวา จักรวรรดิฮาพส์บวร์ค (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิตาลี)

ประวัติ

[แก้]

กามิลลี และตอมมาโซ บาเลสตรีเอรี (Tommaso Balestrieri) เป็นผู้นำในการทำเครื่องสายของสกุลช่างมันโตวาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 กามิลลีเกิดใกล้เมืองวิเชนซา ในปี 1703 ไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับวัยเยาว์และการศึกษาของเขา แต่สันนิษฐานว่าตั้งแต่ปี 1731 เขาอาจได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจผลิตเครื่องดนตรีจากการทำงานกับ อันโตนีโอ ซานอตตี (Antonio Zanotti) ซึ่งเป็นศิษย์ของ จิโรลาโม อามาติ อิล เซกอนโด (Girolamo Amati II) แม้ว่าผลงานส่วนใหญ่ของเขาจะแสดงถึงการสืบทอดรูปแบบสกุลช่างของ ปิเอโตร กัวร์เนรี (Pietro Guarneri) หรือที่รู้จักในชื่อ "ปิเอโตร ดา มันโตวา" (Pietro da Mantova) ช่างทำเครื่องสายชาวเกรโมนา ผู้ซึ่งถือว่าเป็นผู้ก่อตั้งสกุลช่างทำเครื่องสายมันโตวา[1]

ผลงาน

[แก้]

ผลงานเครื่องสายของเขามีคุณค่ามากและได้รับการประเมินมูลค่าสูงมาก เขาเป็นช่างทำเครื่องสายที่ผลิตชิ้นงานจำนวนมาก มีไวโอลินจำนวนมากที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่วิโอลาหรือเชลโลไม่พบมากนัก

เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องสายของบาเลสตรีเอรี ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านเสียงที่หนักแน่น ไวโอลินของกามิลลีมีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยการใช้วัสดุที่คัดสรรเป็นอย่างดีและฝีมือการผลิตที่เป็นเลิศ เขามีแนวทางของตัวเองในการออกแบบส่วนหัวและช่องเสียง (f-hole) สีมีลักษณะเฉพาะคือสีส้ม-ทอง จากการเคลือบเงาสีอ่อนซึ่งเผยให้เห็นโครงสร้างของไม้ และมีแผ่นหน้าเครื่องที่โค้งสูงตามแบบฉบับเครื่องสายของกัวร์เนรี[2]

ไวโอลินของกามิลลีรุ่นปี 1737 มีคุณค่าเป็นพิเศษ โดยเป็นส่วนหนึ่งของชุดสะสมส่วนตัวของกุยโด ชิกี-ซาราชินี (Guido Chigi-Saracini) ขุนนางชาวเซียนา ผู้อุปถัมภ์ดนตรีและนักแต่งเพลง (ปัจจุบันไวโอลินเป็นสมบัติของสถาบันดนตรีชิเกียนา Accademia Musicale Chigiana) และเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นสำหรับวงเครื่องสายห้าชิ้น ควินเตตโต ชิเกียโน (Quintetto Chigiano)[3]

นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันที่ใช้ไวโอลินของกามิลลี เช่น อานาฮิต กูร์ติกยาน (Անահիտ Կուրտիկյան) ชาวอาร์มีเนีย นักไวโอลินลำดับที่สองของวง กริงก็อลช์ ควาร์เท็ทท์ (Gringolts Quartett) จากสวิตเซอร์แลนด์ ทำการแสดงโดยใช้ไวโอลินกามิลลีรุ่นปี 1733[4], เซฺว เหว่ย์ (薛伟) นักไวโอลินชาวจีน อดีตศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยดนตรีกลาง สาธารณรัฐประชาชนจีน ใช้ไวโอลินกามิลลีรุ่นปี 1736[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Camillus Camilli" (ภาษาอังกฤษ). Amati Instruments Limited. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2019.
  2. "Camillo Camilli, Violin maker (1703 – 1754)". Tarisio. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2019.
  3. "MICAT IN VERTICE, GRAN FINALE CON FERDINANDO TREMATORE CHE SUONERA' UN PREZIOSO VIOLINO DELLA COLLEZIONE CHIGI SARACINI" (ภาษาอิตาลี). Fondazione Accademia Chigiana. 16 มิถุนายน 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 กรกฎาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2019.
  4. "Gringolts Quartet - Anahit Kurtikyan". gringoltsquartet.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2019.
  5. "'เสียงไวโอลิน' จากศิลปินจีน แทนคำขอบคุณน้ำใจจากคนไทย". สำนักข่าวซินหัว. 1 กันยายน 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]