กะหล่ำดอกเจดีย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กะหล่ำดอกเจดีย์
กะหล่ำดอกเจดีย์ซึ่งมีรูปแบบคล้ายตนเอง
ชนิดBrassica oleracea
กลุ่มพันธุ์ปลูกBotrytis
สลัดที่มีส่วนผสมของกะหล่ำดอกเจดีย์ในเดนมาร์ก

กะหล่ำดอกเจดีย์ หรือ กะหล่ำเจดีย์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Brassica oleracea var. Botrytis) คือกะหล่ำดอกอิตาลีพันธุ์หนึ่ง (ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ว่าเป็นลูกผสมระหว่างกะหล่ำดอกกับบรอกโคลี) เมื่อเทียบกับกะหล่ำดอกแบบดั้งเดิม กะหล่ำพันธุ์นี้จะมีเนื้อสัมผัสแน่นกว่าและมีรสชาติละเอียดอ่อนกว่า แม้จะมีกะหล่ำดอกสีม่วงและสีเหลือง แต่ก็ไม่มีกะหล่ำดอกพันธุ์ใดที่มีรูปทรงเฉพาะตัวอย่างกะหล่ำดอกเจดีย์[1]

เริ่มมีการเพาะปลูกกะหล่ำดอกเจดีย์ในยุโรปอย่างน้อยตั้งแต่สมัยใหม่ตอนปลายซึ่งอาจจะเป็นที่อิตาลีในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อ ค.ศ. 1834 จูเซปเป โจอากีโน เบลลี กวีชาวอิตาลี กล่าวถึงผักชนิดนี้ในบทกวีบทหนึ่งเป็นภาษาอิตาลีถิ่นโรม (คนละภาษากับภาษาอิตาลีมาตรฐาน) จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกกะหล่ำพันธุ์นี้ว่า กะหล่ำดอกโรม หรือ บรอกโคลีโรม (อิตาลี: broccolo romanesco)[2]

เช่นเดียวกับผักชนิดอื่น ๆ ในวงศ์ผักกาด กะหล่ำดอกเจดีย์อุดมไปด้วยใยอาหารชนิดละลายน้ำและสารอาหารต่าง ๆ เช่น วิตามินซี วิตามินเค โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส กรดโฟลิก แคโรทีนอยด์ เป็นต้น[3] นิยมนำมารับประทานโดยต้มหรือนึ่งจนสุก แต่อาจรับประทานเป็นผักสดก็ได้[1]

ลักษณะที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของกะหล่ำดอกเจดีย์คือกระจุกดอกที่แตกตัวออกเป็นสาทิสรูป (แฟร็กทัล) จำนวนตาดอกที่ประกอบกันเป็นช่อดอกนั้นเป็นจำนวนฟีโบนัชชี[4] ผลการศึกษาล่าสุดชิ้นหนึ่งได้อธิบายถึงต้นกำเนิดทางพันธุกรรมของกะหล่ำพันธุ์นี้ ผู้วิจัยมีความเห็นว่ารูปลักษณ์และคุณสมบัติสาทิสรูปดังกล่าวน่าจะเกิดจากการถูกรบกวนภายในเครือข่ายควบคุมการแสดงออกของยีนที่รับผิดชอบการออกดอก ทำให้เนื้อเยื่อเจริญพัฒนาไปเป็นดอกไม่สำเร็จ แต่ก็ยังพยายามแตกตัวเป็นดอกต่อไปเรื่อย ๆ ในรูปแบบคล้ายตนเอง[5][6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "El romanesco". El Diario Montañes (ภาษาสเปน). 1 April 2017. สืบค้นเมื่อ 15 December 2018.
  2. Gil, Francisco (1 September 2016). "Romanesco, la geometría del brécol y la coliflor". La Región (ภาษาสเปน). สืบค้นเมื่อ 15 December 2018.
  3. Tufts Nutrition. "Tufts Nutrition Top 10". Tufts Nutrition Magazine. สืบค้นเมื่อ 26 February 2020.
  4. Ron Knott (30 October 2010). "Fibonacci Numbers and Nature". Ron Knott's Web Pages on Mathematics. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 November 2018.
  5. Azpeitia, Eugenio; Tichtinsky, Gabrielle; Masson, Marie Le; Serrano-Mislata, Antonio; Lucas, Jérémy; Gregis, Veronica; Gimenez, Carlos; Prunet, Nathanaël; Farcot, Etienne; Kater, Martin M.; Bradley, Desmond (2021-07-09). "Cauliflower fractal forms arise from perturbations of floral gene networks". Science (ภาษาอังกฤษ). 373 (6551): 192–197. doi:10.1126/science.abg5999. ISSN 0036-8075. PMID 34244409.
  6. Farcot, Etienne. "Why do cauliflowers look so odd? We've cracked the maths behind their 'fractal' shape". The Conversation (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-07-20.