ข้ามไปเนื้อหา

กองทุนรวม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กองทุนรวม (อังกฤษ: mutual fund) เป็นการรวบรวมเงินทุนจากนักลงทุนทั่วไป คนละเล็กคนละน้อย เพื่อรวมเป็นเงินก้อนขนาดใหญ่ แล้วนำเงินที่รวบรวมนั้นไปลงทุนตามที่ได้ตกลงกับนักลงทุน กองทุนที่รวบรวมเงินที่ได้นี้จะได้รับการบริหารจัดการจากบริษัทจัดการกองทุนซึ่งมีหน้าที่ลงทุนแทนนักลงทุนหรือผู้ถือหน่วยลงทุน และมีการจัดตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์เพิ่มขึ้นมาอีกซึ่งกฎหมายจะกำหนดเอาไว้ เพื่อคอยดูแลเงินกองทุนนั้นแทนนักลงทุนที่นำเงินมาลงทุน ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนล้ม ผู้ดูแลผลประโยชน์ก็จะชดเชยให้กับนักลงทุน หรือบริษัทจัดการกองทุนไม่ได้ทำตามหนังสือชี้ชวนผู้ดูแลผลประโยชน์ก็จะเอาผิดบริษัทจัดการกองทุนแทนผู้ถือหน่วยลงทุนได้เช่นกัน

กองทุนรวมมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทจัดการกองทุน ดังนั้นผลประกอบการหรือความน่าเชื่อถือของบริษัทจัดการกองทุนจึงไม่เป็นเครื่องชี้วัดถึงผลตอบแทนหรือเป็นหลักประกันของเงินลงทุนแต่อย่างใด

กองทุนรวมเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2520 โดยบลจ.เอ็มเอฟซี ภายใต้ชื่อกองทุนสินภิญโญ ด้วยขนาดกองทุน 100 ล้านบาทและมีอายุโครงการ 10 ปี

โครงสร้างของกองทุนรวม

[แก้]

ในการดำเนินกิจการจัดการลงทุน จะประกอบไปด้วย

นอกจากนี้ยังอาจมี

  • ตัวแทนที่เปิดรับซื้อขายหน่วยลงทุน
  • นายทะเบียนหน่วยลงทุน

การลงทุนในกองทุนรวม

[แก้]

บริษัทจัดการกองทุนจะออกหนังสือชี้ชวนให้แก่นักลงทุน เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจพิจารณาตัดสินใจก่อน จากนั้นบริษัทก็จะออกหน่วยลงทุน (unit trusts) มักจะออกขายราคาเริ่มต้นที่หน่วยละ 10 บาท ส่วนนักลงทุนที่สนใจในกองทุนรวมนั้นก็จะซื้อหน่วยลงทุนนั้นๆ และนักลงทุนก็ได้รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผล (dividend) หรืออาจจะได้ในรูป กำไรส่วนต่าง (capital gain) ดอกเบี้ยรับ ส่วนลดรับ ซึ่งผลตอบแทนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของการบริหารโดยบริษัทจัดการกองทุนและผู้จัดการกองทุน ว่าจะมีความสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนหรือผู้ถือหน่วยลงทุนได้มากน้อยเพียงใด

ประเภทของกองทุนรวม

[แก้]

แบ่งตามการรับซื้อ

[แก้]
  • กองทุนปิด (Close-end Mutual Fund) เป็นกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนเป็นจำนวนจำกัดขนาด และเวลาในการไถ่ถอนหรือขายคืนให้กับบริษัทจัดการกองทุนจะกำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนก่อนจำหน่ายไว้แล้ว และในระหว่างเวลาที่ถือหน่วยลงทุนจะไม่สามารถขายคืนได้จนกว่าจะครบกำหนด คือกำหนดวันหมดเวลาของหน่วยลงทุนซึ่งบริษัทจัดการกองทุนจะรับซื้อตามมูลค่าที่ครบกำหนดซึ่งอาจจะมากขึ้นหรือลดลงก็ได้ แต่บางครั้งกองทุนปิดก็สามารถทำการซื้อขายได้ตลอดถ้าบริษัทจัดการกองทุนนำกองทุนปิดที่ตนเองออกขายให้กับนักลงทุน ไปจดทะเบียนไว้ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนจะสามารถขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ซึ่งเป็นการเพิ่มสถาพคล่องให้กับผู้ถือหน่วยได้อีกทางหนึ่ง
  • กองทุนเปิด (Open-end Mutual Fund) เป็นกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้นักลงทุนเป็นไม่จำกัดขนาดและเวลาในการไถ่ถอน คือนักลงทุนสามารถที่จะซื้อหรือจะขายเมื่อไหร่ก็ได้และระยะเวลาของหน่วยลงทุนจะไม่มีกำหนด โดยไม่ต้องจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ สามารถซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์นั้นๆได้เลย

แบ่งตามนโยบายการลงทุน

[แก้]
  • กองทุนตราสารหนี้ (General fixed income fund) เป็นกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารหนี้ภาครัฐบาล และ ตราสารหนี้ภาคเอกชน เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ผลตอบแทนที่จะอยู่ในรูปดอกเบี้ยรับที่จะไปเพิ่มมูลค่าหน่ายลงทุนสุทธิ (Net Asset Value) หรือ (NAV) ให้สูงขึ้น
    • กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (Short-term fixed income fund) เป็นกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี
    • กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว (Long-term fixed income fund) เป็นกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวที่มีอายุมากกว่า 1 ปี สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะยาว
  • กองทุนตราสารทุน (Equity fund) เป็นกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในตราสารทุน ประเภทหุ้นสามัญ ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ผลตอบแทนที่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัทจัดการกองทุนว่าจะเป็นผลตอบแทนประเภทจ่ายเงินปันผล (dividend) หรือจากกำไรส่วนต่าง (capital gain)
  • กองทุนตลาดการเงิน (Money market fund) เป็นกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในตลาดการเงิน เช่นฝากธนาคารหรือนำไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ผลตอบแทนที่ได้จะอยู่ในรูปดอกเบี้ยรับซึ่งจะไปเพิ่มมูลค่าให้กับหน่วยลงทุนสุทธิ (Net Asset Value) หรือ (NAV) ราคาหน่วยลงทุนจะเพิ่มขึ้นนั้นเอง และมีลักษณะคล้ายๆกับกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นอีกด้วย แต่ที่ต่างกันคือ กองทุนตลาดการเงินจะเอาเงินบางส่วนไปฝากไว้กับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูงอีกด้วย
  • กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property fund) เป็นกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยการนำเงินที่ได้ไปเช่าในระยะยาว 20-30 ปี ในอาคารหรือที่ดินที่เป็นประโยชน์และผลตอบแทนที่ได้คือ ค่าเช่าจากการนำไปทำประโยชน์ ผู้ถือหน่วยจะได้รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผล (dividend) ในแต่ละปี แต่กองทุนนี้จะให้ผลตอบแทนในระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปกองทุนปิด และนำไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างสภาพคล่องให้แก่ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนและเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ต้องการซื้อหน่วยลงทุนได้อีกด้วย ทั้งนี้รูปแบบการลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มี 2 ประเภท[1]
    • กองทุนอสังหาริมทรัพย์แบบมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ (Freehold) คือกองทุนรวมเป็นเจ้าของในตัวทรัพย์สินโดยตรง เป็นการซื้อขาด กองทุนสามารถรับค่าเช่าได้เต็มที่ สามารถขายตึกได้ และจะไม่มีวันหมดความเป็นเจ้าของในตัวทรัพย์สิน จนกว่ากองทุนจะขายทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้อื่น
    • กองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (Leasehold) คือ กองทุนจะได้รับสิทธิในการหารายได้จากทรัพย์สินนั้นๆ ในระยะยาวผ่านสัญญาเช่า ซื่งจะมีระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญา หรือเรียกว่าการ "เซ้ง" นั่นเอง
  • กองทุนทองคำ (Gold fund) เป็นกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในทองคำ ซึ่งผู้ที่ถือหน่วยจะไม่ได้ถือทองคำจริงๆ แต่จะถือในรูปหน่วยลงทุนซึ่งผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนทองคำคือมูลค่าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอยู่ในรูปกำไรส่วนต่าง (capital gain)
  • กองทุนน้ำมัน (Oil fund) เป็นกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ ผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนน้ำมันคือส่วนต่างมูลค่าของสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบที่เปลี่ยนแปลง
  • กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign investment fund) หรือ (FIF) เป็นกองทุนที่จะนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศทั้งใน ตลาดเงิน ตลาดทุน ทองคำ หรือ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผลตอบแทนที่ได้จะต้องนำมาคำนวณในอัตราแลกเปลี่ยนอีกต่อหนึ่งด้วย ซึ่งผลกำไรอาจจะเท่าทุนก็เป็นได้ถ้าขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมาชดเชยกำไรที่ได้ ดังนั้นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศอาจมีข้อเสียจากความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็มีผลดีก็คือเป็นการกระจายการลงทุนออกไปนอกประเทศ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจภายในประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
  • กองทุนแบบผสม (Flexible Fund) เป็นกองทุนที่ลงทุนแบบผสมผสาน โดยจะกำหนดให้ลงทุนในตราสารทุนไม่เกินกว่าร้อยละ 65 แต่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ที่เหลือนำไปลงทุนในตราสารอื่นได้ตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้จัดการกองทุน
  • กองทุนผสมแบบยืดหยุ่น (Balance Fund) เป็นกองทุนที่ลงทุนแบบผสมผสานเช่นเดียวกันกองทุนแบบผสม แต่ไม่ได้กำหนดของเขตการลงทุนในตราสารทุนหรือตราสารหนี้ในสัดส่วนเท่าใด การแบ่งสัดส่วนการลงทุนขึ้นอยู่กับผู้จัดการกองทุน
  • กองทุนอิงดัชนี (Index Fund) เป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุน แต่จะให้น้ำหนักการลงทุนให้เท่ากับดัชนี นั้นๆ หรือเหนือกว่า ส่วนใหญ่จะอ้างอิงกับ SET50index บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ 50 อันดับแรกในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งวัดกันที่ขนาดมูลค่าบริษัทจดทะเบียนในตลาด หรือ Market cap ซึ่งการลงทุนในดัชนี SET50index นี้ส่วนใหญ่มุ่งที่จะชนะตลาดในระยะยาว ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้จัดการกองทุนนั้นๆ ผลตอบแทนที่ได้คือกำไรส่วนต่างราคา (capital gain)
  • กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) หรือ (RMF) เป็นกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการเลี้ยงชีพของผู้ถือหน่วยลงทุน ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนจะได้รับคืนตอนอายุ 60 ปี แต่กองทุนนี้จะได้รับสิทธิ์พิเศษในการลดหย่อนภาษี
  • กองทุนหุ้นระยะยาว (Long term Equity Fund) หรื่อ (LTF) กองทุนรวมตราสารแห่งทุนที่นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนไปลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า65% ของ NAV และต้องถืออย่างน้อย 5 ปีถึงจะไถ่ถอนคืนได้ แต่กองทุนก็ได้รับสิทธิ์เหมือน (RMF) ในการลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน
  • กองทุนประเภทกำหนดผลตอบแทน (Target Fund) เป็นกองทุนประเภทกำหนดผลตอบแทนและระยะเวลาชัดเจนเป็นรูปแบบกองทุนปิดอาจลงทุนในกองทุนน้ำมัน กองทุนทองคำ หรือกองทุนต่างประเทศก็ได้
  • กองทุน ETF (Exchange Traded Fund) คือ กองทุนเปิดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และซื้อขายสะดวกเหมือนหุ้น เสียค่าบริหารจัดการต่ำกว่ากองทุนอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากกองทุนอิงดัชนี (Index Fund) อย่างเห็นได้ชัด และสามารถอ้างอิงดัชนีได้หลายประเภท เช่น ดัชนีราคาหลักทรัพย์ ดัชนีราคาตราสารหนี้ ดัชนีราคาทองคำ
  • กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of funds) คือกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีกทีนึง โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ข้อดีของกองทุนรวมหน่วยลงทุนคือ กระจายการลงทุนไปในหลายกองทุนรวมภายใต้การจัดการของหลายผู้จัดการกองทุนและหลายบริษัทจัดการ จึงเป็นการกระจายความเสี่ยงที่กว้างขวางกว่ากองทุนรวมทั่วไป ข้อเสียของกองทุนรวมหน่วยลงทุนคือมีค่าธรรมเนียมในการจัดการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซ้ำซ้อน
  • กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือ IFF เป็นกองทุนรวมที่ระดมทุนจากประชาชนเพื่อลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้แก่ ระบบขนส่งทางราง ไฟฟ้า ประปา ถนน ทางพิเศษหรือทางสัมปทาน ท่าอากาศยานหรือสนามบิน ท่าเรือน้าลึก โทรคมนาคม พลังงานทางเลือก ระบบบริหารจัดการน้าหรือการชลประทาน และระบบป้องกันภัยธรรมชาติ [2]

ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวม

[แก้]
  • กำไรส่วนต่างราคาซื้อขาย (Capital Gain) กำไรของการลงทุนในกองทุนเปิดส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษี
  • เงินปันผล (Dividend) กำไรส่วนนี้ต้องเสียภาษีเงินได้
  • การขายคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ (Auto Redemption) กำไรส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษี

ความเสี่ยงเกิดจากผลตอบแทนที่ได้รับนั้นน้อยกว่าที่คาดหวัง หรือ อาจถึงขั้นขาดทุนเลยก็เป็นได้ ซึ่งความเสี่ยงนี้นักลงทุนต้องมีการยอมรับล่วงหน้าแล้วว่า การลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ ยิ่งผลตอบแทนมากความเสียงก็ยิ่งมาก ผลตอบแทนน้อยความเสี่ยงก็น้อยตาม ดังนั้นใครที่ต้องการผลตอบแทนมากก็แสดงว่าสามารถที่จะยอมรับความเสี่ยงได้มากเช่นกัน ซึ่งความเสียงเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง สถาวะเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน ความผิดพลาดของบริษัทจัดการกองทุน หรือความเสี่ยงจากความไม่รู้ของนักลงทุนก็ถือว่าเป็นความเสียง ซึ่งเราสามารถแบ่งความเสียงได้ดังนี้

เกิดจากการที่มูลค่าของหลักทรัพย์ในตราสารทุน เช่น หุ้น มีมูลค่าลดต่ำลง

เกิดจากการที่มูลค่าของดอกเบี้ยที่จะได้รับ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ลดลง หรือ ผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้

บทบาทของกองทุนรวมที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ

[แก้]

กองทุนรวมเปรียบเสมือนเครื่องมือในการรวบรวมเงินออมจากนักลงทุน นำไปกระจายเข้าสู่ระบบแก่ผู้ที่ต้องการทุนหรือหน่วยธุรกิจ เมื่อนำไปลงทุน ซึ่งการลงทุนนี้เป็นส่วนสำคัญในทางเศรษฐศาสตร์ โดยเป็นตัวแปรหนึ่งในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ (GDP) การลงทุนที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลให้มีการจ้างงานเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจทำให้มีการกระจายรายได้ หน่วยธุรกิจที่ลงทุนจะช่วยในการกระจายทรัพยากรทีมีจำกัดไปสู่ระบบเศรษฐกิจอีกด้วย ฉะนั้นกองทุนรวมจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง เพราะเงินที่นำเข้าสู่ระบบผ่านกองทุนรวมนี้ จะทำให้เกิด การลงทุน การจ้างงาน และ การบริโภคที่สูงขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

กองทุนรวม เหมาะกับนักลงทุนประเภทใด

[แก้]
  • นักลงทุนที่รับความเสี่ยงความผันผวนราคาหุ้นที่กองทุนไปลงทุนได้
  • นักลงทุนที่สามารถลงทุนระยะกลางหรือยาวได้ เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าระยะสั้น
  • นักลงทุนที่ต้องการสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี
  • นักลงทุนที่ต้องการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก
  • นักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลาย

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]