กลีบ มหิธร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กลีบ มหิธร

เกิดกลีบ บางยี่ขัน
24 ธันวาคม พ.ศ. 2419
ตำบลสำราญราษฎร์
เสียชีวิต3 เมษายน พ.ศ. 2504 (84 ปี)
คู่สมรสเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)
บิดามารดาหมื่นนรารักษ์ (ปิ่น บางยี่ขัน)
หุ่น สนธิรัตน์

ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร (สกุลเดิม: บางยี่ขัน; 24 ธันวาคม พ.ศ. 2419 – 3 เมษายน พ.ศ. 2504) เป็นภรรยาของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) และเป็นมารดาของท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา

เธอเป็นผู้รจนาตำราอาหารชื่อ หนังสือกับข้าวสอนลูกหลานของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ซึ่งถือเป็นตำราอาหารตำรับชาววังหนึ่งในสี่ตำรับ แต่ตำรับของท่านผู้หญิงกลีบมีลักษณะอันพิเศษ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากอาหารจีนที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในอาหารชาววังตำรับนี้[1]

ประวัติ[แก้]

ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด พ.ศ. 2419 หรือ วันที่ 24 ธันวาคม ที่ตำบลสำราญราษฎร์[2] เป็นธิดาของหมื่นนรารักษ์ (ปิ่น บางยี่ขัน) เจ้าของสวนแถบบางยี่ขัน ฝั่งธนบุรี ส่วนมารดาชื่อหุ่น (สกุลเดิม สนธิรัตน์) [3] มีชื่อเมื่อแรกเกิดว่า กลีบจำปา แต่หลังจากแต่งงาน เจ้าพระยามหิธร ผู้เป็นสามีได้ตัดคำว่า จำปา ออกเหลือแต่กลีบเพราะว่าการมีชื่อยาวเกินกว่าสองพยางค์นั้นเป็นการทำเทียมเจ้านาย ซึ่งท่านผู้หญิงได้กล่าวด้วยตัวเองภายในงานวันเกิดฉลองอายุครบ 60 ปีเมื่อปี 2479[4]

ท่านผู้หญิงเกิดและเติบโตในบ้านของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) ที่ตำบลสำราญราษฎร์ โดยมีเจ้าจอมพุ่ม (สนธิรัตน์) ในรัชกาลที่ 3 เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู ต่อมาเมื่อเจ้าจอมพุ่มถึงแก่อนิจกรรม ท่านผู้หญิงจึงได้รับการอุปการะจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจามรี ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาปุก (สนธิรัตน์) ในรัชกาลที่ 3[2]

แต่หลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าจามรี ท่านผู้หญิงจึงตกอยู่ในการอุปการะของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี แต่ด้วยอัธยาศัยอันดีของท่านผู้หญิง เจ้าจอมมารดาท่านหนึ่งจึงมีดำริที่จะถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของผู้เป็นบิดา บิดาจึงมารับตัวและมอบให้นางคำ บางยี่ขัน ผู้เป็นย่าเลี้ยงดูแทน[2]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ท่านผู้หญิงกลีบเป็นสตรีผู้ที่มีรูปโฉมอันงดงาม ประกอบกิริยามารยาทอันดี แม้จะอาศัยอยู่ในสวนร่วมกับย่า แต่ก็มีความรู้และมีความสุภาพกว่าชาวบ้านทั่วไป[2]

ท่านผู้หญิงกลีบ ได้สมรสกับเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)[5] ทั้งสองมีบุตรด้วยกันถึง 12 คน หนึ่งในนั้นคือ ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา ภรรยาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

ชื่อของบุตรทั้งหมดสามีเป็นผู้ตั้งเอง ชื่อของบุตรห้าคนแรกนำมาจากราชทินนามเดิมของตนคือ จักร ปาณี ศรี ศิล วิสุทธิ์ ส่วนชื่อหลัง ๆ เช่น ดุษฎี มาจากชื่อ เหรียญดุษฎีมาลา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงแรกที่สามีได้รับพระราชทาน[6]

ท่านผู้หญิงกลีบ ได้ถึงแก่อนิจกรรมวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2504 และพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2504[7]

ตำรับอาหาร[แก้]

ท่านผู้หญิงกลีบมีความสามารถในการทำอาหาร และต้องการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้แก่ลูกหลาน จึงได้เขียนตำราอาหารขึ้น มีชื่อว่า หนังสือกับข้าวสอนลูกหลานของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ซึ่งมีวัตถุประสงค์โดยตรงคือเพื่อถ่ายทอดสู่ลูกหลาน โดยตำรับอาหารดังกล่าวถือเป็นมรดกตกทอดของสกุลไกรฤกษ์และสกุลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง[8]

อาหารในตำราของท่านผู้หญิงกลีบเป็นอาหารประเภทข้าวหลายชนิดที่มีกลิ่นอายของอาหารจีนที่ถูกปรับใช้เป็นอาหารไทยมากมายหลายชนิด เช่น ข้าวต้มกุ้ง. ข้าวต้มปลา, ข้าวต้มเนื้อไก่ (เซ่งจี๊ ตับเหล็ก), ข้าวผัดเต้าหู้ยี้ และข้าวผัดลูกหนำเลี๊ยบหรือหนำพ๊วย เป็นต้น[9] ทั้งมีการบันทึกอาหารขึ้นชื่อประจำตระกูลไกรฤกษ์ คือ แกงบวน[9] และนอกจากนี้ยังมีอาหารพิเศษ ที่ผสมผสานความเป็นไทย, จีน และแขกด้วยกัน คือ แกงจีจ๋วน ซึ่งเป็นแกงกะทิใส่ไก่มีเครื่องแกงแดง แต่ใส่โป๊ยกั๊กของจีน, ขมิ้นผงของแขก, ส้มซ่าของไทย และพริกหยวก[9]

อย่างไรก็ตามตำรับอาหารของท่านผู้หญิงกลีบ ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของอาหารจีนในอาหารไทยที่ปรากฏในอาหารทั้งคาวและหวาน แต่อาหารตะวันตกก็มีอิทธิพลในตำราของท่านด้วยเช่นกันแม้จะไม่มากเท่าอิทธิพลของจีนก็ตาม ซึ่งอิทธิพลอาหารจีนถือเป็นอิทธิพลเฉพาะที่มาจากสายตระกูลไกรฤกษ์ที่สืบเชื้อสายมาแต่ประเทศจีน[10]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สุนทรี อาสะไวย์. กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2554 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน, 2552. หน้า 101
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 เรือนไทย - ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
  3. สุนทรี อาสะไวย์. กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2554 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน, 2552. หน้า 98
  4. ประวัติท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
  5. "พิพิธภัณฑ์ศาลไทย - เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-17. สืบค้นเมื่อ 2012-02-28.
  6. เรือนไทย - เรื่องของคน 5 แผ่นดิน ท่านผู้หญิงดุษฏี มาลากุล
  7. ร้านหนังสือเก่าป้าวิมล[ลิงก์เสีย]
  8. สุนทรี อาสะไวย์. กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2554 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน, 2552. หน้า 99
  9. 9.0 9.1 9.2 สุนทรี อาสะไวย์. กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2554 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน, 2552. หน้า 100
  10. สุนทรี อาสะไวย์. กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2554 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน, 2552. หน้า 101
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๑๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๙๘, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๐๒
  12. ราชกิจจานุเบกษา, รายพระนามและนามสมาชิกสมาชิกาเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า พระราชทานในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๕ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๘๙, ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๖๕

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]