กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


"กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" (ละติน: "acta exteriora indicant interiora secreta"; อังกฤษ: "exterior act indicates interior secret" หรือ "intention may be inferred from a person's action") เป็นภาษิตภาษาละตินทางกฎหมาย ซึ่งตรงกับพุทธศาสนสุภาษิตว่า "เจตนาหํ กมฺมํ วทามิ" แปลว่า "เจตนานั่นแหละเป็นกรรม" อันมาจากพุทธพจน์ว่า "เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ, เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจาย มนสา" แปลว่า "ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนานั่นแหละเป็นกรรม เมื่อมีเจตนาแล้ว บุคคลย่อมกระทำกรรมโดยทางกาย วาจา ใจ"[1]

ภาษิตนี้เป็นหลักกฎหมายอาญา ไว้สำหรับพิจารณาพฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยเพื่อกำหนดฐานความผิดของจำเลย โดยพิจารณาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ และยังใช้แยกเจตนาฆ่าออกจากเจตนาทำร้าย เพราะเจตนาฆ่าย่อมมีโทษหนักกว่าเจตนาทำร้าย ทั้งนี้ เนื่องจากเจตนาเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำไม่มีใครหยั่งรู้ได้ ในการวินิจฉัยหรือพิสูจน์ว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่าหรือเพียงแต่มีเจตนาทำร้ายเท่านั้นจึงต้องถือหลักว่า "การกระทำที่แสดงออกมาภายนอกเป็นเครื่องชี้ถึงสภาพจิตใจของผู้กระทำ" หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ "กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" นั่นเอง[2]

ในประเทศไทย ศาลมีการพิจารณาจำแนกเจตนาฆ่าและเจตนาทำร้ายออกจากกันโดยอาศัยพฤติการณ์ต่าง ๆ อาทิ พิจารณาอาวุธที่ผู้กระทำความผิดใช้ อวัยวะที่ผู้กระทำความผิดกระทำต่อ บาดแผลที่เกิดจากการกระทำนั้น เป็นต้น[3]

ฎ. 1344/2498 ว่า ศาลฎีกาปรึกษาคดีนี้แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามคำพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยทั้งสองต่างใช้ปืนแก๊บยิงซึ่งกันและกันฝ่ายละหนึ่งนัดโดยสมัครใจเข้าโรมรันซึ่งกัน กระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 ใช้ยิงไม่ถูกจำเลยที่ 2 โดยพลาดไปถูกฝาใบตองพลวง กระสุนกระจายไปเสียก่อน แต่กระสุนปืนที่จำเลยที่ 2 ใช้ยิงจำเลยที่ 1 ถูกตามร่างกายจำเลยที่ 1 มีบาดเจ็บหลายแห่ง แสดงให้เห็นว่า ความแรงของกระสุนปืนที่จำเลยต่างใช้ยิงกันนี้ หากถูกในที่สำคัญอาจทำให้ผู้ถูกยิงถึงแก่ความตายได้ รูปคดีควรฟังว่า จำเลยต่างมีเจตนาจะฆ่าให้ถึงตาย แต่ที่ไม่ตายเพราะยิงพลาดไม่ถูกหรือถูกในที่ไม่สำคัญ ซึ่งเป็นเหตุอันพ้นวิสัยมาป้องกันขัดขวางเสีย จำเลยทั้งสองต้องมีความผิดฐานพยายามฆ่าคนโดยเจตนา ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดวางบทกำหนดโทษจำเลยมาชอบแล้ว จึงให้ยกฎีกาจำเลย โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

ฎ. 1006/2501 ว่า ศาลฎีกาพิเคราะห์คำพยานโจทก์จำเลยแล้ว กรณีฟังได้ว่าการทำร้ายกันเกิดจากการโต้เถียงกันก่อนจริง และเชื่อว่าคงจะเกิดจากสาเหตุอย่างที่พยานโจทก์กล่าวมากกว่าอย่างจำเลยว่า เพราะไม่น่าจะทวงหนี้สินกันต่อหน้าชุมชนอย่างนั้น และเหตุเท่าที่จำเลยว่าแล้ว นายแดงก็ไม่น่าจะทำร้ายจำเลย ข้อที่จำเลยว่านายแดงได้ฟันจำเลยก่อนก็ไม่น่าเชื่อเพราะบาดแผลที่มือจำเลยเป็นบาดแผล กว้างเพียงหนึ่งเซนติเมตร สี่มิลลิเมตร, ยาวสองเซนติเมตร, ลึกหนึ่งเซนติเมตร ห้ามิลลิเมตร เป็นแผลเล็กน้อยไม่สมที่จะถูกฟันด้วยมีดโดยแรง ทั้งในปัจจุบันนั้นก็ไม่มีใครเห็นบาดแผลของจำเลย แม้นายสุนทรผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้ให้การถึงเลย คดีจึงต้องฟังว่าจำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายก่อนจริง แล้วผู้เสียหายจึงใช้มีดขว้างจำเลย แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายนั้นยังไม่พอฟังว่าจำเลยมี เจตนาฆ่าผู้เสียหายเพราะจำเลยยิงไปถูกที่ขาเหนือตาตุ่ม ขณะนั้นจำเลยกับผู้เสียหายอยู่ห่างกันเพียงวาเศษ ถ้าจำเลยตั้งใจจะฆ่าผู้เสียหายแล้วก็คงยิงถูกร่างกายผู้เสียหายในที่สำคัญ ๆ ได้ศาลฎีกาจึงเห็นว่าจำเลยไม่เจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตาม มาตรา297 ป.อ. จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนดสองปี

ฎ. 777/2505 ว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนโดยเจตนาตาม ม.288 ป.อ. จำเลยให้การต่อสู้ว่ากระทำไปเพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ศาลจังหวัดราชบุรีฟังว่าจำเลยทำไปเพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ พิพากษายกฟ้อง, โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์ โดยให้จำคุกสิบห้าปี, จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ที่จำเลยฎีกาว่าตอนเกิดเหตุจำเลยมิได้สมัครใจวิวาทกับผู้ตายนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะนายนิตย์พยานจำเลยเบิกความรับว่าผู้ตายร้องท้าว่า "หรุ่น (นายหรุ่น สุขชูพร จำเลย) เอาหรือวะ" จำเลยก็โดดลงจากเรือพูดว่า "แน่รึ" แล้วต่างก็เข้าต่อสู้กัน จึงฟังได้ว่าจำเลยสมัครใจเข้าต่อสู้กับผู้ตาย ไม่ใช่เป็นการป้องกันตัว ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า จำเลยใช้มีดดาบยาวหนึ่งแขน กระโดดลงจากเรือไปต่อสู้กับผู้ตาย และฟันผู้ตายถึงสามแห่ง แผลที่สำคัญถูกคอเกือบขาดแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย จึงมีความผิดฐานฆ่าคนโดยเจตนา แต่ได้ความว่าเกิดเหตุแล้วจำเลยเข้ามอบตัวต่อกำนันและเล่าเหตุการณ์ให้ฟังโดยตลอด ประกอบกับผู้ตายได้ท้าทายก่อนมีเหตุบรรเทาโทษ พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตาม ม.288 ป.อ. ให้จำคุกสิบห้าปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ม.78 ป.อ. เหลือจำคุกเจ็ดปี หกเดือน

ฎ. 1085/2510 ว่า ผู้ตายมีขวานและมีดขอเป็นอาวุธ จำเลยมีมีดพกเป็นอาวุธ ได้เข้าโรมรันซึ่งกันและกันโดยต่างไม่มีเวลาที่จะเลือกแทงเลือกฟันแทงในที่สำคัญ ทั้งสองคนมีบาดแผลรวมเจ็ดแห่งด้วยกัน ผู้ตายเสียโลหิตมากจึงถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยมีความผิดฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนา ไม่ใช่ฐานฆ่าคนโดยเจตนา

ฎ. 1439/2510 ว่า ขณะที่ผู้ตายต่อยกับน้องภริยาจำเลยที่ 1, จำเลยที่ 2 ได้ยิงไปก่อนหนึ่งนัดถูกผู้ตาย แล้วต่อมาจำเลยที่ 1 จึงได้ยิงไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวที่จำเลยทั้งสองยิงไปนั้นเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดนั้น โดยต่างคนต่างกระทำลงไปมิได้สมคบร่วมรู้กันมาก่อน จะฟังว่าจำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 ฆ่าผู้ตายไม่ได้ ผู้ตายมีบาดแผลถูกยิงแผลเดียว และฟังได้ว่าแผลที่ถูกยิงนั้นเป็นผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้ตาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปยังผู้ตายกับพวกหลายนัดนั้น ส่อเจตนาให้เห็นว่าจำเลยตั้งใจฆ่า แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกที่ไม่สำคัญ จึงไม่ถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยต้องมีความผิดฐานพยายามฆ่าคน

ฎ. 5664/2534 ว่า ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะห่างเพียง 3 เมตร ถูกที่บริเวณเอวของผู้เสียหายอันเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ซึ่งหากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถือได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายแล้ว ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยยิงขู่เพราะจำเลยอาจเลือกยิงบริเวณอื่นที่สำคัญและยิงแล้วก็มิได้ยิงซ้ำนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะหากเป็นเพียงการยิงขู่ จำเลยก็มีโอกาสที่จะยิงไปยังทิศทางอื่นที่มิใช่ทิศทางที่ผู้เสียหายยืนอยู่ เช่น ยิงขึ้นฟ้า เป็นต้น ข้ออ้างของจำเลยในเรื่องยิงขู่จึงไม่ประกอบด้วยเหตุผลอันจะพึงรับฟัง ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายหรือพวกผู้เสียหายจะเข้าทำร้ายจำเลย อันจะถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำไปโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ประยงค์ สุวรรณบุบผา, 2543 : ออนไลน์.
  2. เกียรติก้อง กิจการเจริญดี, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
  3. เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, 2540 : 109-117.

อ้างอิง[แก้]