ข้ามไปเนื้อหา

กรมมหาดเล็ก 904

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมมหาดเล็ก 904
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง6 กรกฎาคม พ.ศ. 2436
หน่วยงานก่อนหน้า
  • กรมมหาดเล็กหลวง (2436-2478)
  • กองมหาดเล็ก (2478-2560)
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • พลอากาศเอก อำนาจ จีระมณีมัย, อธิบดี
  • มนัส เสือเปลี่ยว, รองอธิบดี
  • พลโท กฤษดา สาริกา, รองอธิบดี
ต้นสังกัดหน่วยงานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

กรมมหาดเล็ก 904 หรือชื่อเดิม กรมมหาดเล็ก หน่วยงานราชการในพระองค์ระดับกรม สังกัด สำนักพระราชวัง มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับใช้ในกิจการส่วนพระองค์ต่าง ๆ ทุกประเภททั้งในพระราชฐานที่ประทับ และทุกที่ที่เสด็จไป ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ร.ศ. 112 ตรงกับ พ.ศ. 2436 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตาม พระราชบัญญัติกรมมหาดเล็ก โดยหมวด 1 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้แบ่งมหาดเล็กออกเป็น 4 ประเภทคือ

  • มหาดเล็กบรรดาศักดิ์
  • มหาดเล็กวิเศษ
  • มหาดเล็กคงกรม
  • มหาดเล็กยาม[1]

ในวันที่ 7 มกราคม 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดลำดับชั้นยศของมหาดเล็กเสียใหม่เพื่อป้องกันความสับสนได้แก่[2]

ยศมหาดเล็ก เทียบยศทหารบก
จางวางเอก นายพลเอก
จางวางโท นายพลโท
จางวางตรี นายพลตรี
หัวหมื่น นายพันเอก
รองหัวหมื่น นายพันโท
จ่า นายพันตรี
หุ้มแพร นายร้อยเอก
รองหุ้มแพร นายร้อยโท
มหาดเล็กวิเศษ นายร้อยตรี
มหาดเล็กสำรอง ทำการนายร้อยตรี (ว่าที่นายร้อยตรีในปัจจุบัน)
พันจ่าเด็กชา จ่านายสิบ
พันเด็กชาเอก นายสิบเอก
พันเด็กชาโท นายสิบโท
พันเด็กชาตรี นายสิบตรี
เด็กชา พลทหาร

จากนั้นในวันที่ 23 ธันวาคม 2463 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศแยกมหาดเล็กเป็นประเภทเพื่อความเป็นระเบียบได้แก่

1. ประเภทประจำการ คือผู้ที่รับราชการฉลองพระเดชพระคุณประจำอยู่ในกรมมหาดเล็ก

2. ประเภทกองหนุน คือผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากประจำการเป็นกองหนุน ประเภทกองหนุนนี้ก็แบ่งออกเป็นอีก 4 ประเภท บรรดาข้าราชการกองหนุนนี้จะได้รับส่วนแบ่งเงินเดือนตามอัตราที่ได้รับพระราชทานขณะที่อยู่ในประเภทประจำการตามประเภทของกองหนุน คือประเภทที่ 1 รับพระราชทานเงินกองหนุนเดือนละ 1 ในสอง ประเภทที่ 2 หนึ่งในสาม ประเภทที่ 3 หนึ่งในสี่ ประเภทที่ 4 ไม่ได้รับพระราชทานเลย

3. ประเภทเบี้ยบำนาญ คือผู้ที่ทรงรักกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากประจำการ และรับพระราชทานเบี้ยบำนาญตามพระราชบัญญัติ

4. ประเภทพิเศษ คือขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเครื่องยศมหาดเล็กเป็นพิเศษ

5. ประเภทนอกกอง คือผู้ที่ย้ายไปรับราชการนอกกรมมหาดเล็กหลวง หรือผู้ที่ต้องพักราชการ ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดและเงินเดือน

นอกจากนี้ในวันถัดมายังได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศว่าด้วยการแต่งเครื่องยศมหาดเล็กเป็น 4 ประเภทได้แก่

1. ประเภทประจำการ แต่งเครื่องยศมาหาเล็กตามพระราชกำหนดเครื่องแต่งกายข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก และประกาศแก้ไขเพิ่มเติมบริบูรณ์ทุกอย่าง

2. ประเภทกองหนุนและเบี้ยบำนาญ คงแต่งเครื่องยศมหาดเล็กได้เช่นเดียวกับประเภทประจำการ พี่กันแต่ประเภทกองหนุนและเบี้ยบำนาญไม่มีเครื่องหมายประจำการเท่านั้น

3. ประเภทพิเศษนั้น ให้อนุโลมตามข้าราชการที่รับราชการฉลองพระเดชพระคุณประจำอยู่ในกรมมหาดเล็ก กล่าวคือถ้าขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์ผู้นั้นรับราชการฉลองพระเดชพระคุณประจำอยู่ในกระทรวงใดก็ตามให้ติดเครื่องหมายประจำการได้ ถ้าผู้นั้นมิได้รับราชการประจำจะติดเครื่องหมายประจำการมิได้เป็นอันขาด

4. ประเภทนอกกอง คือผู้ที่ต้องย้ายจากกรมมหาดเล็กไปรับราชการทางกระทรวงทบวงอื่น หรือลาออกจากราชการ หรือพักราชการ จะแต่งเครื่องยศมหาดเล็กต่อไปอีกไม่ได้เป็นอันขาดนอกจากจะส่งพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นให้เจ้าหน้าที่เรียกเครื่องยศมหาดเล็ก และเครื่องหมายซึ่งเป็นของหลวงที่ได้พระราชทานไปนั้นคืนให้สิ้นเชิง[3]

ต่อมาในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศ จัดการปกครองกรมมหาดเล็กหลวงเสียใหม่[4] โดยให้มีจางวางผู้บัญชาการ 1 นายพร้อมกับให้มีจางวางผู้ควบคุมบังคับบัญชาการงานในกรมอีก 3 นายคือ

  • จางวางผู้บังคับการ เวรศักดิ์ เป็น จางวางกรมมหาดเล็กรับใช้
  • จางวางผู้บังคับการ เวรสิทธิ์ เป็นจางวางกรมชาวที่
  • จางวางผู้บังคับการ เวรฤทธิ์ เป็นจางวางกรมพระราชพาหนะ

จากนั้นในวันที่ 1 เมษายน 2469 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนยศข้าราชการในกรมมหาดเล็กให้เหมือนกับยศของข้าราชการในพระราชสำนักเพื่อความสะดวกดังต่อไปนี้[5]

ยศมหาดเล็ก เปลี่ยนเป็น
จางวางเอก มหาเสวกเอก
จางวางโท มหาเสวกโท
จางวางตรี มหาเสวกตรี
หัวหมื่น เสวกเอก
รองหัวหมื่น เสวกโท
จ่า เสวกตรี
หุ้มแพร รองเสวกเอก
รองหุ้มแพร รองเสวกโท
มหาดเล็กวิเศษ รองเสวกตรี
มหาดเล็กสำรอง ว่าที่รองเสวกตรี

ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมมหาดเล็กหลวงเข้ากับกระทรวงวังเพื่อความสะดวกทางราชการและประหยัดพระราชทรัพย์[6]จากนั้นในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2476 จึงได้มีการจัดวางโครงสร้างกรมมหาดเล็กหลวงเสียใหม่ โดยมีส่วนราชการคือ[7]

  • สำนักงานเลขานุการ แบ่งเป็น 4 แผนกคือ
    • แผนกสารบรรณ
    • แผนกคลัง
    • แผนกเบ็ดเตล็ด
    • แผนกของพระราชทานและเงินท้ายที่นั่ง
  • กองมหาดเล็กรับใช้ แบ่งเป็น 5 แผนกคือ
    • แผนกกลาง
    • แผนกห้องพระบรรทม
    • แผนกรับใช้
    • แผนกคลังวรภาชน์
    • แผนกพระเครื่องต้น

ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๗๘ ได้มีการลดฐานะกระทรวงวังลงเป็น สำนักพระราชวัง[8]พร้อมกับการลดฐานะกรมมหาดเล็กหลวงลงเป็นกองมหาดเล็กตาม พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในสำนักพระราชวังและสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ พุทธศักราช ๒๔๗๘[9]โดยแบ่งออกเป็น 3 แผนกคือ

  • แผนกกลาง
  • แผนกรับใช้
  • แผนกชาวที่

จากนั้นจึงได้มีการฟื้นฟูและยกฐานะกองมหาดเล็กขึ้นเป็นกรมมหาดเล็กอีกครั้งหนึ่งตามมาตรา 7 (4) แห่ง พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 โดยยังคงเป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักพระราชวังตามเดิมและในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมมหาดเล็ก 904[10] ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จึงได้มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ นาวาอากาศตรี อัษฎาวุธ วัฒนางกูร เป็นอธิบดีกรมมหาดเล็ก 904 คนแรกตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561[11]

และในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ พลอากาศเอก อำนาจ จีระมณีมัย ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาดเล็ก 904[12]สืบต่อจากนาวาอากาศตรีอัษฎาวุธ

อธิบดี

[แก้]
รายชื่อ เริ่มดำรงตำแหน่ง สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง
นาวาอากาศตรี อัษฎาวุธ วัฒนางกูร 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560 15 มีนาคม พ.ศ. 2563
พลอากาศเอก อำนาจ จีระมณีมัย 15 มีนาคม พ.ศ. 2563 ปัจจุบัน

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชบัญญัติกรมมหาดเล็ก ร.ศ. 112
  2. "ประกาศ ลำดับชั้นยศในกรมมหาดเล็ก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 10 มกราคม 1914.
  3. "ประกาศกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 26 ธันวาคม 1920.
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศ จัดการปกครองกรมมหาดเล็ก
  5. "ประกาศกรมมหาดเล็กหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 4 เมษายน 1926.
  6. พระบรมราชโองการ ประกาศ เปลี่ยนเสนาบดีกระทรวงวังและรวมกรมมหาดเล็กเข้าในกระทรวงวัง
  7. พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง พุทธศักราช ๒๔๗๖
  8. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๘
  9. พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในสำนักพระราชวังและสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ พุทธศักราช ๒๔๗๘
  10. พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พุทธศักราช ๒๕๖๐
  11. พระราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์
  12. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์และนายทหารราชองครักษ์พิเศษ