กรณีพิพาทกู่เต็งนาโย่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรณีพิพาทกู่เต็งนาโย่ง

อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
วันที่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 เวลา 17.00 น. - 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 เวลา 19.00 น.
สถานที่
ฐานปฏิบัติการปางหนุน ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง และฐานปฏิบัติการกู่เต็งนาโย่ง ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ผล พม่าขอเจรจาหยุดยิง สามารถยึดฐานปฏิบัติการปางหนุนคืนพร้อมกับกำลังทหารพรานทั้ง 19 นาย และผลักดันทหารพม่าออกจากพื้นที่กู่เต็งนาโย่งได้
คู่สงคราม
  • ไทย กองทัพบกไทย
    • กองทัพภาคที่ 3
    • หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 3
    • หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ไทย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.ทบ.
ไทย พลโท วัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ แม่ทัพภาคที่ 3
ไม่ทราบ
กำลัง
  • ทหารพรานจู่โจม 19 นาย

  • ทหารราบประมาณ 500 นาย
    • เข้าตีฐานฯ ปางหนุน ~200 นาย
  • รถถังที-52
  • ปืนใหญ่
  • เครื่องยิงลูกระเบิด
ความสูญเสีย
  • ทหาร
    • บาดเจ็บ 9-11 นาย
  • ประชาชน
    • เสียชีวิต 2 ราย
    • บาดเจ็บ 8 ราย
  • ทหาร
    • เสียชีวิตประมาณ 15-20 นาย
    • บาดเจ็บจำนวนมาก

กรณีพิพาทกู่เต็งนาโย่ง[1] คือปฏิบัติการทางทหารระหว่างกองทัพบกไทยและกองทัพบกพม่า ในพื้นที่ชายแดนไทย–พม่า บริเวณฐานปฏิบัติการปางหนุนต่อเนื่องถึงฐานปฏิบัติการกู่เต็งนาโย่ง ในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวงและอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544[2]

การปะทะดังกล่าวเป็นการใช้อาวุธหนักของกองทัพไทยกับกองทัพพม่าครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งหลังจากเข้าสู่ยุคปัจจุบัน[3]

สาเหตุ[แก้]

การปฏิบัติการของกองทัพพม่านั้นเกิดมาจากการจัดกำลังของกองทัพพม่าจากกองพันทหารราบเบาที่ 331[4] เพื่อเข้าปฏิบัติการกวาดล้างกองกำลังของกองทัพรัฐฉาน (SSA) ที่เป็นชาวไทใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ชายแดนไทย ในพื้นที่ฝั่งพม่าคือดอยก่อวัน ก่อเดือน ก่อคอม ตรงข้ามกับฝั่งไทยคือบ้านปางหัน และบ้านแม่หม้อ ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เนื่องจากความเสียเปรียบด้านภูมิประเทศของทหารพม่าหากจะเข้าตีจากฝั่งประเทศตนเอง ทำให้ทหารพม่าได้นำกำลังประมาณ 200[3] - 500[5] นาย รุกล้ำเขตแดนเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเข้าตียึดฐานปฏิบัติการปางหนุนที่เป็นที่ตั้งของกองร้อยทหารพรานจู่โจมที่ 963 และควบคุมตัวทหารพรานในฐานจำนวน 19 นายไว้ เพื่อใช้เป็นฐานในการโจมตีกองกำลังของไทยใหญ่ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544[2] เวลาประมาณ 17.00 น.[3] ประกอบกับมีกองกำลังทหารพม่าเข้ายึดครองบริเวณยอดเนินพิกัด 47 QNC 908600 ที่เรียกว่ากู่เต็งนาโย่งในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายและดัดแปลงเป็นที่มั่นสำหรับตรวจการณ์ทั้งฝั่งพม่าและฝั่งไทย[4]มาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2543[5]

ยุทธการ[แก้]

กองทัพบกไทย โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้จัดกำลังตอบโต้เพื่อเข้าตีและยึดฐานปฏิบัติการปางหนุนกลับคืนพร้อมทั้งช่วยเหลือกำลังพลทั้ง 19 นายจากกองทัพพม่าโดยใช้กำลังเข้าพลักดันกองกำลังของกองทัพพม่าดังกล่าวออกไป พร้อมทั้งจัดกำลังอีกส่วนเข้าตีทหารพม่าจากฐานปฏิบัติการกู่เต็งนาโย่งเข้าไปยังที่ตั้งของทหารพม่าในด้านของฐานนี้เพื่อสร้างอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าต่อกองทัพพม่า เหตุการณ์ดังกล่าวจึงยุติลงด้วยการเจรจาหยุดยิง ยึดฐานปฏิบัติการปางหนุนคืนและช่วยเหลือกำลังพลทหารพรานทั้ง 19 นายได้[2]

สำหรับกำลังพลในการปฏิบัติการนั้น ส่วนของฐานปฏิบัติการกู่เต็งนาโย่งเป็นกำลังจากกองพลทหารม้าที่ 1 จำนวน 1 กองร้อยเตรียมพร้อม พร้อมกับรถถังเบาแบบ 21 เอฟวี101 สกอร์เปียน กำลังจากหมวดลาดตระเวนระยะไกล กองกำลังผาเมือง ส่วนของฐานปฏิบัติการปางหนุนนั้นเป็นกำลังจากทหารพราน เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 ม.ม. จากกองร้อยเครื่องยิงหนัก[2] หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 3 และการปฏิบัติการพิเศษจากกองพันจู่โจม[4] การปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปตามแผนเผชิญเหตุของกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งนโยบายของ พลเอก วัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ แม่ทัพภาคที่ 3 ในเวลานั้นคือการตอบโต้ด้วยอัตราส่วน หากยิงมา 1 นัดจะต้องตอบโต้กลับไป 3 นัด[2]

ปฏิบัติการทางทหาร[แก้]

ในคืนวันที่ 9 ต่อเนื่องกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 กองทัพบกได้มีคำสั่งการให้กองพันจู่โจม หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จัดกำลังจำนวน 1 กองร้อยจู่โจมเพื่อปฏิบัติการพิเศษยึดฐานปางหนุนคืนจากฝ่ายพม่า[4] โดยเป็นหน่วยปฏิบัติการในแนวหน้า และสนับสนุนการเข้าตีโดยกองกำลังทหารพรานจากองทัพภาคที่ 3 พร้อมทั้งมีการเตรียมพร้อมกำลังขนาดใหญ่ของทหารราบและทหารม้าเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจลุกลาม[3]

จากนั้นเวลา 03.40 น. ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 หน่วรบพิเศษได้เคลื่อนกำลังเข้าไปยังฐานปางหนุนเพื่อช่วยเหลือทหารพรานที่ถูกคุมตัวไว้ทั้ง 19 นาย โดยใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงจึงได้ช่วยเหลือทหารพรานทั้งหมดออกจากฐานดังกล่าวได้[3] และได้ดำเนินการทางการทูตกับประเทศพม่าและมีมติร่วมกันจากการหารือที่ท่าขี้เหล็กของทั้งสองประเทศ ให้พม่าถอนทหารออกจากฐานปางหนุนก่อนเวลา 17.00 น. ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ยังคงมีการคงทหารไว้ในฐานต่อไป[5]

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 เวลา 03.00 น. กองร้อยจู่โจมได้ปฏิบัติการเคลื่อนกำลังเข้าไปยังเป้าหมายและได้ปะทะรวมถึงซุ่มยิงกองกำลังทหารพม่าจากบริเวณพื้นที่ตรงข้ามเป้าหมาาย[4] เวลา 05.45 น. กองกำลังผาเมืองได้ปฏิบัติการเข้าตีทหารพม่า โดยแม่ทัพภาคที่ 3 ได้สั่งการให้ยิงถล่มไปยังฐานปฏิบัติการปางหนุนซึ่งเหลือแค่เพียงทหารพม่าที่ยึดครองอยู่ ทำให้ฝ่ายพม่าเกิดการสูญเสียอย่างหนัก และระดมกำลังเสริมจากเชียงตุง พร้อมด้วยรถถังแบบ ที-52 จากเมืองเชียงตุง และฝ่ายไทยสามารถรับรู้การเคลื่อนกำลังจากข่าวกรองในพื้นที่ จึงได้เสริมกำลังเพื่อตอบโต้ประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด 105 ม.ม. เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 ม.ม. รถถังเบาแบบ 21 เอฟวี101 สกอร์เปียน พร้อมทั้งยิงสนับสนุนไปยังฐานปฏิบัติการปางหนุน โดยเกิดการปะทะกันตลอดแนวชายแดนไทยพม่าประมาณ 30 กิโลเมตร จากฐานปฏิบัติการปางหนุน ไปจนถึงฐานปฏิบัติการกู่เต็งนาโย่งในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการตั้งฐานปฏิบัติการทางทหารของไทยบริเวณนั้น เนื่องจากอยู่ในพื้นที่อ้างสิทธิของทั้งสองประเทศ และระดมยิงไปยังฐานของทหารพม่าในฝั่งประเทศพม่า ทำให้ที่ตั้งของที่บัญชาการทางยุทธวิธี (Tactical Command Post) ของทหารพม่าละลายทั้งฐาน และนายทหารยศพันโทของพม่าเสียชีวิตพร้อมกับผู้ใต้บังคับบัญชาประมาณ 10 นาย

เวลา 12.00-14.00 น. พม่าตอบโต้ด้วยการยิงเครื่องยิงลูกระเบิด (ปืน ค.)[3] และปืนใหญ่[5] เข้าใส่ตลาดแม่สาย[3] วัดถ้ำผาจม วัดเวียงพาน บ้านป่าเหมือด หลังโรงพยาบาลแม่สาย และหลังวัดพระธาตุดอยวาวในฝั่งไทย[5] จนทำให้มีราษฎรชาวไทยเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอีก 8 ราย[3] ทหารไทยบาดเจ็บ 9[5] - 11[4] นาย รถยนต์เสียหาย 1 คัน[5] และเกิดปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของทั้งสองฝ่ายว่าทหารพม่าจะบุกเข้าโจมตีแม่สาย และทหารไทยจะบุกเข้ายึดครองเมืองท่าขี้เหล็กและลึกไปจนถึงเชียงตุง พร้อมทั้งมีการเสริมกำลังในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายและท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า รวมทั้งฝ่ายไทยได้เสริมกำลังทหารปืนใหญ่ซึ่งนำโดย พันโท ศุภฤกษ์ สถาพรผล กองพันทหารม้าที่ 18 ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองพันทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง ไปยังพื้นที่ดอยเวา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จำนวน 4 กองร้อยทหารปืนใหญ่ ซึ่งมีภูมิประเทศที่ได้เปรียบเชิงยุทธวิธีเหนือกว่าพม่า และสังเกตเห็นที่ทำการทางยุทธวิธีของทหารพม่าชัดเจน[3] รวมถึงได้เข้าผลักดันทหารออกจากพื้นที่สำนักสงฆ์กู่เต็งนาโย่ง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งทหารพม่าได้เข้ามายึดครองในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2543[5]

ด้วยอำนาจในการรบที่สูงและรุนแรงกว่าโดยเฉพาะด้านการยิงทำให้เวลา 19.00 น. ทหารพม่าจึงได้ขอเจรจาหยุดยิง และมีทหารพม่าถูกทหารไทยจับกุมได้ 1 นาย[2] ในขณะที่มีทหารไทยถูกทหารพม่าจับกุม 1 นาย[4]เช่นกัน[3]

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1149 บนเทือกเขาแดนลาว มองเข้าไปยังฝั่งท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ซึ่งฐานปฏิบัติการทั้งสองตั้งอยู่บนเทือกเขาแดนลาวดังกล่าว แต่อยู่คนละอำเภอ

ปฏิบัติการทางการทูต[แก้]

ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศได้มีการเปิดเผยบันทึกช่วยจำที่ได้ยื่นต่อเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 โดย หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญอู ลา หม่อง เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยมาเข้าพบ และได้ระบุรายละเอียดส่วนของเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งการเจรจาทางการทูต และปฏิบัติการทางทหารของประเทศพม่า ซึ่งส่วนของทางการทูต ประกอบไปด้วย[5]

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 หลังจากทหารพม่าได้ยึดฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 963 (ฐานฯ ปางหนุน) แล้ว รัฐบาลไทยพยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ผ่านการประสานงานผ่านผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำย่างกุ้ง และผู้ช่วยทูตทหารพม่าประจำประเทศไทย รวมไปถึงได้มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนไทย-พม่าส่วนท้องถิ่น หรือ TBC ในเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า และได้มติว่าทหารพม่าจะถอนกำลังออกจากฐานปฏิบัติการปางหนุนภายในเวลา 17.00 น. ของวันเดียวกัน แต่ทหารพม่าไม่ได้ถอนกำลังออกจากฐานแต่อย่างใด ทำให้ประเทศไทยตัดสินใจเปิดปฏิบัติการทางทหารเพื่อผลักดันทหารพม่าออกจากพื้นที่ประเทศไทยบริเวณฐานปางหนุน และเกิดการยิงปืนใหญ่เข้าใส่พื้นที่พลเรือนในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายจนมีประชาชนเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 8 ราย บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย ไทยถือว่าพม่าได้ละเมิดอธิปไตยของไทยและไม่อาจยอมรับได้ จึงได้มีการยื่นข้อเรียกร้องทางการทูต 3 ข้อ ได้แก่[5]

  • ให้ทางการพม่ายุติการดำเนินการที่ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยดินแดนไทย รวมไปถึงการยั่วยุอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • ชดใช้ค่าเสียหายให้กับประชาชนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมไปถึงค่าเสียหายที่เกิดต่อพลเรือนไทยในกรณีดังกล่าว
  • เรียกร้องให้มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-พม่า (Regional Border Committee: RBC) ครั้งที่ 18 อย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนร่วมกันป้องกันปัญหาในอนาคต

ผลที่ตามมา[แก้]

ทหารไทยและทหารพม่าชาตละ 1 นายที่ถูกจับกุมจากฝ่ายตรงข้ามในปฏิบัติการดังกล่าว ได้รับการปล่อยตัวภายหลังจากการเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศหลังจากถูกคุมขังเป็นระยะเวลาเกือบปี[3]

ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวยังถือเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการตกลงเส้นเขตแดนที่ชัดเจน เนื่องจากการถือแผนที่คนละฉบับและอัตราส่วนต่างกัน ทำให้มีการถือแนวสันปันน้ำตามข้อตกลงคนละส่วนกัน จึงมีการวางกำลังทหารของทั้งสองประเทศเผชิญหน้ากันอยู่ในส่วนของทางทหาร แต่ความสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ ในพื้นที่ยังอยู่ในระดับดี[2]

วาสนา นาน่วม นักหนังสือพิมพ์และนักข่าวสายทหารของไทย ได้ออกมาระบุในคลิปวีดีโอบนยูทูบของตนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2566 ว่าการปะทะและปฏิบัติการดังกล่าวถือว่าเป็นการปฏิบัติการครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของกองทัพไทยและเป็น "สงครามที่กอบกู้ศักดิ์ศรีของทหารไทย เนื่องจากทหารพม่าได้บุกเข้ามายึดฐานปางหนุนของฝ่ายไทยก่อน"[3]

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งปฏิบัติการที่ไม่ถูกพูดถึงอย่างเป็นทางการในช่วงแรกหลังเหตุการณ์ เนื่องจากยังถือว่าเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ทำให้มีกระแสข่าวลือในเหตุการณ์ดังกล่าวในรูปแบบที่หลากหลาย[3] จนกระทั่งปัจจุบันกองทัพบกจึงได้มีการเปิดเผยเรื่องราวการปะทะในปฏิบัติการดังกล่าวต่อสี่อมวลชนในการบรรยายสรุปที่ฐานปฏิบัติการกู่เต็งนาโย่ง[2] ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 หลังจากผ่านไปกว่า 22 ปี[3]

การเข้าใจผิด[แก้]

เนื่องจากการปะทะดังกล่าวถูกเก็บเป็นความลับและไม่มีการให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 หลังจากปฏิบัติการ ทำให้มีผู้พยายามรวบรวมข้อมูลและนำมาสรุปเพื่อเผยแพร่ ทำให้มีข้อมูลหลายส่วนที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และข้อมูลหลายส่วนไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ

ข้อมูลที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยจนเป็นหัวข้อในเว็บบอร์ดพันทิป.คอมคือเรื่องชื่อเรียกของเนิน เนื่องจากมีการเรียกเนินตามความสูงที่ผิดจากความเป็นจริง คือการเรียกฐานปฏิบัติการปางหนุนว่าเป็นเนิน 9631 ซึ่งเป็นคำเรียกระดับความสูงจากน้ำทะเลของการทหาร แต่ในความเป็นจริงแล้วฐานปฏิบัติการดังกล่าวอยู่ในระดับความสูงเพียง 1,430 เมตร ซึ่งคาดว่าผิดเพี้ยนมาจากหมายเลขของหน่วยทหารพรานที่ประจำการอยู่ที่ฐานดังกล่าวคือกองร้อยทหารพรานที่ 963[5] และ 1 คาดว่ามาจากจำนวนทหารที่ประจำการอยู่คือ 1 หมวด[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. เกียรติยศจักรดาว 2562 (PDF). โรงเรียนเตรียมทหาร. p. 75.[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 ร้อยเอก อิสรพล ศรีชมชื่น, การบรรยายสรุปของกำลังพลที่ฐานปฏิบัติการกู่เต็งนาโย่ง ถึงเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2544, กองทัพบก, ไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 สัมภาษณ์, เปิดลับ! 22ปีไทย รบพม่า เบื้องหลังปฏิบัติการ กู้แผ่นดิน ฐานปางหนุน-กู่เต็งนาโย่ง กู้ศักดิ์ศรีทหารไทย. วาสนา นาน่วม
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 กาลานุกรม หน่วยรบพิเศษ กองทัพบกไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน. หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ. p. 108.
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 "กระทรวงการต่างประเทศเชิญเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยเข้าพบเพื่อยื่นบันทึกช่วยจำ". ryt9.com. กระทรวงการต่างประเทศ.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "เนิน 9631 ไม่มีนะครับ...ฐานปฏิบัติการปางหนุน เนินสูง 1,430 ม." Pantip.