กฎหมายลิขสิทธิ์ไทย
บทความนี้ต้องการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โปรดเพิ่มพารามิเตอร์ reason หรือ talk ลงในแม่แบบนี้เพื่ออธิบายปัญหาของบทความ |
![]() | เนื้อหาในบทความนี้ไม่ถูกต้องแม่นยำ โปรดช่วยกันตรวจสอบ และปรับปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพิ่มแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ด้วย |
![]() | บทความนี้เคลือบคลุมหรืออ่านแล้วไม่อาจเข้าใจได้ โปรดปรับปรุงบทความ และอาจมีผู้เสนอแนะเอาไว้ที่หน้าพูดคุยแล้ว |
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
กฎหมายลิขสิทธิ์ ควบคุมสิทธิตามกฎหมายของผลงานสร้างสรรค์และศิลปะภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ลิขสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติเป็นเวลา 50 ปีหลังจากการเสียชีวิตของผู้ประพันธ์ที่ทราบชื่อ หรือ 50 ปีหลังจากการตีพิมพ์ในกรณีที่ผู้ประพันธ์ไม่ระบุชื่อ ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน แต่สามารถยื่นต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ ข้อพิพาทจะถูกพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ[1][2]
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 บังคับใช้ในประเทศไทย[3]
ระยะเวลาลิขสิทธิ์
[แก้]ระยะเวลาลิขสิทธิ์คืออายุของผู้ประพันธ์บวก 50 ปี[4] เมื่อผู้ประพันธ์เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลที่ไม่ระบุชื่อ ระยะเวลาลิขสิทธิ์จะเท่ากับ 50 ปีนับจากวันที่เผยแพร่ ผลงานศิลปะประยุกต์ (หมายถึง ผลงานที่เกิดจากการผสมผสานผลงานต่างๆ เช่น รูปวาด ภาพเขียน ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพร่าง หรือแบบจำลอง สำหรับการใช้งานหรือเพื่อประโยชน์ใช้สอย) มีลิขสิทธิ์เป็นเวลา 25 ปีนับจากการเผยแพร่[5]
สิทธิ์ของลูกจ้าง
[แก้]ตามหลักกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นผู้สร้างสรรค์งานจะเป็นเจ้าของชิ้นงานทันทีที่สร้างมัน บางกรณีอาจมีข้อสงสัยว่า ถ้าเจ้านายสั่งให้พนักงานสร้างงานขึ้น เช่น บรรณาธิการให้ลูกน้องเขียนบทความใส่หนังสือของตนเอง ใครจะเป็นเจ้าของงานเขียนชิ้นนั้น เป็นต้น กฎหมายกำหนดไว้ว่า งานที่สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธิ์นำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์ของการจ้างแรงงาน ดังนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้แตกต่างจากกฎหมายและต้องทำเป็นหนังสือชัดเจน ลูกจ้างซึ่งเขียนบทความย่อมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่บรรณาธิการมีสิทธิ์นำงานเขียนนั้นไปใช้ในกิจการของตนซึ่งผู้เขียนเป็นลูกจ้างอยู่ได้ ด้วยหลักกฎหมายลิขสิทธิ์ด้านความเป็นเจ้าของชิ้นงานของลูกจ้าง จึงทำให้นายจ้างบางคนทำข้อตกลงระหว่างตนกับลูกจ้างไว้ว่า ถ้าผลิตชิ้นงานในขณะเป็นลูกจ้าง นายจ้างจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มิใช่แค่มีสิทธิ์นำงานออกเผยแพร่เท่านั้น ผู้สร้างสรรค์งานจึงต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิ์ตามกฎหมายกับข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างว่า สิ่งใดมีประโยชน์สูงสุดต่อตนหรือต่อสังคม
งานไม่มีลิขสิทธิ์
[แก้]กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดงานที่ถือว่าไม่มีลิขสิทธิ์ไว้ด้วย หมายความว่า ทุกคนสามารถนำชิ้นงานทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือส่วนรวมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือจ่ายค่าตอบแทนก่อน อันได้แก่
- ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- รัฐธรรมนูญ และ กฎหมาย
- ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆตาม ข้อ 1 ถึง 4 ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
การละเมิดลิขสิทธิ์
[แก้]กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดพฤติกรรมใดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่นไว้ชัดเจน ได้แก่ การทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่งานต่อสาธารณชน ซึ่งงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต ส่วนงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นได้เพิ่มการกระทำละเมิดอีกอย่างหนึ่งไว้ คือ การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน หากผู้ใดกระทำการดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องรับโทษอาญาและจ่ายค่าเสียหายแก่เจ้าของงานด้วย หากผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำการต่อไปนี้แก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย ได้แก่
- ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ
- เผยแพร่ต่อสาธารณชน
- แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
- นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
การละเมิดนำงานลิขสิทธิ์ไปหากำไรโดยรู้หรือมีเหตุควรรู้ได้ จะใช้ลงโทษ เจ้าของร้านค้า ผู้จัดการ ลูกจ้างที่รู้ชัดหรือมีเหตุควรรู้ว่า กำลังขาย เผยแพร่ นำเข้า งานอันมีลิขสิทธิ์ ดังนั้น ร้านค้าใดขายแผ่นซีดีเพลงหรือภาพยนตร์ หนังสือ ซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ที่ต้องรับโทษในคดีประเภทนี้ คือ เจ้าของร้าน ผู้จัดการ ลูกจ้างขายของ ซึ่งต้องรู้หรือควรรู้ว่ากำลังจำหน่ายงานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย พวกเขาจึงรับโทษอาญาหรือจ่ายค่าเสียหายแก่เจ้าของงาน กรณีสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือที่ละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่น นอกจากนักเขียนที่ลอกหรือดัดแปลงงานนั้นต้องรับโทษอาญาแล้ว หากสำนักพิมพ์ทราบว่าผลิตงานโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของงานก่อน แล้วยังออกจำหน่ายอีก จะต้องรับโทษร่วมกับนักลอกด้วยซึ่งการทำเพื่อเห็นแก่การค้าหากำไร ผู้กระทำจะรับโทษจำคุกสูงขึ้นและปรับมากขึ้นเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น การผลิตงานเผยแพร่จึงต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อมีการแจ้งเตือนให้พิจารณาว่าละเมิดงานลิขสิทธิ์ ต้องรีบตรวจสอบทันทีและงดเผยแพร่งานเพื่อมิให้ต้องรับโทษอาญาร่วมกับนักคัดลอกด้วย แต่สำนักพิมพ์มิได้เสียสิทธิในการเรียกค่าเสียหายจากนักคัดลอกที่สร้างความเสียหายแก่องค์กรของตน หากมีการเรียกร้องค่าเสียหายจากนักคัดลอกเหล่านั้นจะเป็นการปรามนักคัดลอกรุ่นต่อไปมิให้ยึดเป็นเยี่ยงอย่างด้วยและลดความเสียหายของตนลงได้
โทษการละเมิดลิขสิทธิ์
[แก้]กฎหมายคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ แล้วกำหนดโทษหนักแก่ผู้ทำละเมิดไว้ชัดเจน การละเมิดต่องานของผู้สร้างสรรค์ทั้งทำซ้ำ ดัดแปลงงาน เผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับความยินยอมตามกฎหมาย ต้องมีโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หากพฤติกรรมทำละเมิดดังกล่าวเพื่อการค้า ผู้กระทำจะมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตัวอย่างเช่น นักลอกนำนิยายของนักเขียนอื่นมาดัดแปลงแล้วอ้างเป็นงานของตนเพื่อจัดพิมพ์เป็นเล่มขายในท้องตลาด จักเห็นว่านักลอกจงใจทำละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อเจตนาทางการค้า คือ พิมพ์งานเป็นเล่มออกขายในตลาด เป็นต้น หากสำนักพิมพ์นำงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ถูกละเมิดโดยนักลอกดังกล่าวไปจำหน่ายทั้งที่รู้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น จักต้องรับโทษจำคุกสามเดือนถึงสองปี หรือโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับด้วย ผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ต้องรับโทษอาญาแล้ว ผู้นำงานอันละเมิดดังกล่าวไปหาประโยชน์ทางการค้าจักรับโทษอาญาในส่วนความผิดของตนอีกด้วย ถ้าเคยโดนลงโทษฐานความผิดละเมิดลิขสิทธิ์มาแล้ว ยังกระทำความผิดเดียวกันนี้อีกภายในห้าปี เขาจะถูกลงโทษหนักเป็นสองเท่าของโทษที่พิจารณาคดีในเวลานั้นฐานไม่เข็ดหลาบอีกด้วย การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องต้องห้ามและควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง เพราะต้องรับโทษอาญา รับความอับอายต่อสาธารณชนในการประจานตัวเอง ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนสูงซึ่งอาจมากกว่ารายได้ซึ่งเคยรับเงินไว้ก็ได้ นักลอกและสำนักพิมพ์ต้องเสียชื่อเสียงซึ่งมิอาจประเมินค่าเป็นเงิน โดยเฉพาะขาดความเชื่อถือต่ออนาคตของการทำงานหรือสถานะทางสังคมไป ดังนั้น การสร้างสรรค์งานใหม่ด้วยฝีมือของตัวเอง นอกจากเป็นความภูมิใจส่วนตัวแล้ว ยังสร้างรายได้ เกียรติภูมิ ให้ตนเองและครอบครัว มากกว่าการเป็นนักคัดลอกดัดแปลงแอบอ้างอย่างแน่นอน ้
เวลาคุ้มครองงาน
[แก้]ทางนี้กฎหมายคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์งานโดยมีบทลงโทษเข้มงวดแล้ว ยังกำหนดระยะเวลาไว้ด้วย โดยให้คุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย ซึ่งทายาทของผู้สร้างสรรค์จักหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์นี้ได้ในช่วงนั้น เมื่อพ้นห้าสิบปีแล้ว งานชิ้นนี้จะตกเป็นสมบัติของแผ่นดินซึ่งรัฐจะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งดูแลมิให้เกิดการดัดแปลงงานดังกล่าวไปเกินขอบเขตอันควรหรือเป็นการทำลายงานชิ้นนั้น คนไทยสามารถนำไปตีพิมพ์ เผยแพร่งานต่อสาธารณชนได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์แก่ทายาทผู้สร้างสรรค์อีกต่อไปอันถือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ตัวอย่างเช่น นายนพเขียนนิยายเรื่องหนึ่ง กฎหมายจะคุ้มครองนายนพในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์นิยายเรื่องดังกล่าวตลอดอายุของเขา ห้ามผู้ใดทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายนพก่อน หลังจากนายนพตายแล้ว ทายาทของเขาเป็นผู้รับมรดกนิยายเรื่องนี้ต่อไปอีกห้าสิบปีในการหาประโยชน์หรือดูแลมิให้เกิดการละเมิดงานชิ้นนี้ หากพ้นห้าสิบปีไปแล้วงานชิ้นนี้จะไปอยู่ในความดูแลของรัฐในฐานะสมบัติของแผ่นดินซึ่งคนไทยสามารถนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หรือจ่ายด้วยอัตราน้อยซึ่งแล้วแต่กติกาของรัฐ ณ เวลานั้น เป็นต้น
บริษัทที่เรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง
[แก้]คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ประกาศ ณ วันที่ 14 มีนาคม 2556 ว่ามีบริษัทที่สามารถจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงได้ดังนี้
- บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
- บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด
- บริษัท อาร์เอ็มเอส พับลิชชิ่ง จำกัด
- บริษัทเอ็มพีซี มิวสิค จำกัด
- บริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ เอส พี ซี จำกัด
- บริษัท พาร์ทเนอร์ สมาย จำกัด
- บริษัท ซี เอ็ม ซี เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด
- บริษัท วีพีพี เซ็นเตอร์ มิวสิค จำกัด
- บริษัท บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา จำกัด
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด จัดเก็บลิขสิทธิ์สุรพล
ถ้าบริษัทอื่นนอกจากนี้ไปเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้รีบแจ้ง กรมการค้าภายใน(คน.) และกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยโทษของผู้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไปเรียกเก็บลิขสิทธิ์ คือการแจ้งความเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการควบคุมตัว จะมีโทษฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการเรียกเก็บเงิน จะมีโทษกรรโชกทรัพย์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "IP System of Thailand". Department of Intellectual Property. 2009-01-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 28, 2008. สืบค้นเมื่อ 2009-01-03.
- ↑ "Law of the Land" (PDF). Thailand Law Reform Commission. June–July 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-06. สืบค้นเมื่อ 2009-01-03.
- ↑ "Government Gazette, (1994). Copyright Act B.E. 2537(1994). Department of Intellectual Thailand".
- ↑ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗. Copyright Act of B.E. 2537 (1994), from Wikisource, in Thai. Section 4 governs copyright expiration terms
- ↑ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗. Copyright Act of B.E. 2537 (1994), from Wikisource, in Thai. Section 4, Article 22 states the copyright term for applied art works